ชีวิตที่พอเพียง : 153. คิดทำงาน CSR


CSR ของแท้ ต้องมุ่งผลประโยชน์สังคมเป็นใหญ่ ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเป็นรอง หรือเป็นผลพลอยได้

ชีวิตที่พอเพียง  : 153. คิดทำงาน CSR

        ผมได้รับเชิญไปเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเขาอยากให้เข้าไปช่วยงาน CSR     แต่ผมเป็นคนโลภมาก ไม่อยากทำงาน CSR เพื่อธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น     เพราะผมมองว่าวงมันแคบไป     ผมอยากทำงาน CSR ให้แก่ประเทศไทย สังคมไทย      ไม่ทราบว่าผมเป็นโรคจิต megalomania หรือเปล่า

        ตอนนี้องค์กรธุรกิจหันมาเอาใจใส่ CSR (Corporate Social Responsibility) กันยกใหญ่     ผมมองว่า (ไม่ทราบว่ามองผิดหรือเปล่า) เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของทุนนิยม วัตถุนิยม เพื่อลดจุดอ่อนหรือด้านลบของทุนนิยม วัตถุนิยม

        จุดอ่อนหรือด้านลบของทุนนิยม วัตถุนิยม ก็คือเมื่อมันไปสุดโต่ง ก็ไปสะดุดความโลภ ความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น เอาเปรียบสังคม ทำร้ายสังคมทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว      ทำให้องค์กรเพื่อผลกำไร กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม     องค์กรธุรกิจจึงต้องหาเครื่องมือมาลบภาพผู้ร้ายนี้     และเครื่องมืออย่างหนึ่งคือ CSR

        ดังนั้น CSR จึงมีทั้ง CSR ของแท้    และ CSR ปลอม     สองสิ่งนี้แยกกันด้วยเจตนา     CSR ปลอมมีเจตนาเพียงเพื่อลบภาพผู้ร้ายของตนเอง     และสร้างภาพด้านดีของตน     อาจเรียกว่า CSR สร้างภาพก็น่าจะได้

        CSR ของแท้ ต้องมุ่งผลประโยชน์สังคมเป็นใหญ่      ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเป็นรอง หรือเป็นผลพลอยได้     ต้องใช้เป็น "สติ" เตือนคนในองค์กร ว่า การดำรงอยู่ และอยู่ดีในระยะยาวขององค์กร และของพนักงานขององค์กร ขึ้นอยู่กับความมั่นคงยั่งยืนของสังคม      คือมององค์กร - สังคม แบบ holistic เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว     ไม่มองแบบแยกส่วน ตัวกูของกู   ตัวมึงของมึง   

       ที่จริงไม่ว่าอะไร  ไม่ว่าจะเป็นองค์กร  หรือบุคคล ต่างก็มีส่วนก่อผลดี และผลร้ายต่อสังคมกันทั้งสิ้น      คือทุกองค์กร (และทุกคน) เมื่อมองมุมหนึ่งก็จัดได้ว่าทำดี     มองอีกมุมหนึ่งก็ถือได้ว่าทำไม่ดี ก่อผลร้าย   พูดแรงๆ ว่าทำชั่ว ต่อสังคม

        องค์กรที่มุ่งผลกำไร คือองค์กรธุรกิจ มีส่วนขับเคลื่อนความเจริญเติบโตแก่สังคมอย่างแน่นอน     แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจไปทำลายธุรกิจขนาดเล็ก หรือทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่รู้ตัว      หรืออาจไปเร่งกิเลส การบริโภคมากเกินของคนในสังคม     ยิ่งถ้ามุ่งกำไรแบบสุดโต่ง  มีความโลภเข้าครอบงำ  ก็จะทำอันตรายสังคมได้มาก     จึงต้องมีเครื่องมือมาควบคุม สร้างดุลยภาพ     เครื่องมือหนึ่งคือ CSR

        CSR มีการกระทำหลายอย่าง หลายระดับ     แก่บุคคลหลายกลุ่ม     ทั้งที่อยู่ภายในองค์กร และภายนอกองค์กร      มองในมุมหนึ่ง CSR ก็คือเครื่องมือในการอยู่ร่วมกัน ระหว่าง corporate กับสังคมวงกว้าง

         Corporate ที่เข้มแข็ง มั่นคง มีผลกำไรดี     ต้องคืนกำไรส่วนหนึ่งให้แก่สังคม     ยิ่งกำไรมาก ยิ่งต้องคืนมาก     ต้องมองว่า สังคมเข้มแข็งคือทุนสังคม หรือโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงของ corporate     องค์กรที่เกิดขึ้น และเติบโตในสังคม แล้วทำตัวเป็นกวางที่กินใบไม้ของพุ่มไม้ที่ใช้กำบังตัวจนโล่ง ก็จะล่มสลาย เหมือนกวางถูกนายพรานยิงตาย ในนิทานอีสป  

        ดังนั้น ผมจึงมองว่ากิจกรรม CSR ส่วนหนึ่งต้องเป็นกิจกรรมที่สนับสนุน หรือส่งเสริม ให้ชุมชน/สังคม รวมตัวกันพัฒนาตนเอง เพื่อความยั่งยืนของกลุ่ม ชุมชน หรือสังคม    ให้เกิดดุลยภาพในสังคม

        ผมมองว่า CSR ที่ดี ต้องหนุนกิจกรรมที่ตนเป็นผู้ร้าย     เช่นธุรกิจที่กระตุ้นการบริโภคต้องหนุนกิจกรรม CSR ที่หนุนชีวิต / เศรษฐกิจ พอเพียง     ธนาคารต้องหนุนกิจกรรม CSR ด้านการเงินชุมชน     อุตสาหกรรมที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไป ต้องหนุนกิจกรรม CSR ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ     ผมอาจจะคิดแบบไร้เดียงสา      คือเห็นว่าไม่ควรตะแบงหรือหลบเลี่ยงความจริง     เราควรเผชิญความจริง และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงใจ

วิจารณ์ พานิช
๑๒ พย. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #csr
หมายเลขบันทึก: 58808เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2006 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท