เรามาเป็นครูฝึก”วิถีคิด”ให้ศิษย์และลูกของเรากันเถอะ


"เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของพวกข้าพเจ้า ชั่วกาลนาน"​

สังคมทุกวันนี้ดูจะมีปัญหาไปเสียทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นมุมทำมาหากิน มุมความสงบ มุมเด็ก มุมผู้ใหญ่ แต่ทุกมุมดูจะเกี่ยวพันกันหมด แต่มุมที่จะชวนผู้อ่านพิจารณา จะเน้นมุมเด็ก เป็นมุมเด็กที่สร้างความวิตกกังวลต่างๆ นานาให้แก่ผู้ปกครองและครูหลากหลายแบบ

โดยทั่วไปความสนใจ ห่วงกังวลของผู้ปกครองและครูมักเป็นเรื่องการเรียน กิจกรรมในชีวิตประจำวันของนักเรียนในขณะปัจจุบันที่อยู่ในโรงเรียนและที่บ้าน ส่วนมากครูและผู้ปกครองจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเช่น

  • ลูกถูกเพื่อนรังแกที่โรงเรียน สอนลูกแก้ปัญหาหลายวิธี ไม่ได้ผล จำต้องไปบอกโรงเรียนให้ย้ายเจ้าเด็กเกเรให้ออกห่าง
  • ลูกต้องเรียนพิเศษนอกโรงเรียนในเวลาเรียน เพื่อโอกาสของการสอบแข่งขันระดับชาติ เพื่อความภาคภูมิใจของ...
  • ลูกต้องมาสายเป็นประจำเพราะติดเรียนพิเศษตอนเช้า / ผู้ปกครองไม่สามารถมาส่งลูกทันเวลา
  • ลูกควรได้รับการจัดกลุ่มเรียนที่สูงกว่าที่ครูจัดให้ น่าจะอยู่ในกลุ่มดีเด่น
  • ลูกมีพฤติกรรมติดเกม ติดทีวี หรือ ... ที่ผู้ปกครองต้องการให้ครูช่วย
  • นักเรียนใช้โทรศัพท์มือ / พกเงิน เกินที่โรงเรียนกำหนด
  • นักเรียนไม่ทำการบ้าน ครูต้องการความร่วมมือจากทางบ้าน
  • นักเรียนมีปัญหาสุขภาพ/ สุขนิสัยที่บ้านและโรงเรียนต้องช่วยกันปรับพฤติกรรม เป็นต้น
  • นักเรียนมีผลการเรียนต่ำ / นักเรียนควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยความบกพร่องบางประการ
  • นักเรียนไม่ได้ทำการบ้านด้วยตนเอง / นักเรียนลอกการบ้านเพื่อน

ตัวอย่างปัญหาเหล่านี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่อยู่ในวิสัยของโรงเรียนที่ครูและผู้ปกครองจะร่วมมือแก้ไขด้วยการสื่อสารที่เข้าใจกัน ง่ายบ้าง ยากบ้าง ตามแต่กรณี

แต่มีปัญหากลุ่มใหญ่ๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่มาพร้อมกับความก้าวกระโดดของโลกวัตถุนิยมโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่รุกเร้าให้คนตื่นตามกระแส มักมากับการโฆษณาและเทศกาลต่างๆ บางครั้งพบว่าผู้ใหญ่เองเป็นฝ่ายสอนลูกให้ติดความทันสมัย ความรู้สึกดูดีดูเด่น ขณะเดียวกันก็มีผู้ปกครองมาเล่าถึงการถูกลูกรบเร้าให้ซื้อเพื่อไม่ให้น้อยหน้าเพื่อน เพราะเพื่อนๆที่โรงเรียนมีกันทุกคน บางกรณีจะพบการคล้อยตามเพื่อนให้ทำในสิ่งที่ผิด บางโรงเรียนพบจากข่าวสังคม เป็นการทำผิดกฏหมายและเสียหายจนถึงชีวิตก็มี โดยเฉพาะเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นที่ไม่รู้วิธีแก้ปัญหา หรือไม่มีทางออกที่จะสื่อสารกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ ตัวอย่างจริงที่พบในสังคมปัจจุบันผู้ใหญ่ต้องรู้ทันและช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ โรงเรียนทำได้ พ่อแม่ทำด้วย ความเข้มแข็งก็จะเกิดกับเด็กพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตนเองได้

นี่คือภาระสำคัญของผู้ใกญ่วันนี้ ต้องไม่เพิกเฉย โรงเรียนและบ้านต้องมีบทบาทเล่นอย่างมืออาชีพทั้งคู่ ถึงแม้เราจะพบว่า มหาวิทยาลัยผลิตครูปริญญาให้โรงเรียน แต่เราไม่พบหลักสูตรวิชาสอนครูมีวิธีคิดและฝึกการรับมือที่มาตามกระแสสังคม เช่นเดียวกัน พ่อแม่ทุกคู่ที่พาลูกมาโรงเรียน ผ่านก็ไม่ได้ผ่านหลักสูตรการสอนลูก การแตรียมการรับมือมือเพื่อปกป้องลูกท่าน สิ่งที่พ่อแม่ส่วนมากเรียนรู้คือการหาข้อมูลโรงเรียนดีที่ท่านจะวางใจสอนลูกเราให้เก่งโดยเฉพาะทางวิชาการ แล้วติดตามผลการเรียน ได้A ไหม? มีใครเก่งกว่าลูกเราบ้าง (พอใจ ชื่นชม/ ไม่ขอบใจ อิจฉา !!!) ต้องหากวดวิชาเพิ่ม ส่วนหนึ่งเป็นความสนใจด้านความเก่งทาวิชาการ ส่วนด้านชีวิต ก็มีความหลากหลายตามลักษณะผู้ปกครอง

ในด้านการศึกษาถึงแม้รัฐจะแสวงให้เป็นที่รับรู้กันว่า "รัฐต้องจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาเยาวชนไทยทุกคนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก เพื่อเป็นรากฐานที่พอเพียงสำหรับการใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเพื่อการพัฒนาหน้าที่การงานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนตนและครอบครัว และเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต"...แต่บทบาทและการจัดการของโรงเรียนก็มีความแตกต่างตามอุดมการณ์ และความามารถในการบริหาร จัดการของแต่ละแห่ง และปัจจัยอ่นๆ อีกมากมาย เช่นความร่วมมือของผู้ปกครอง สำหรับปัจจัยความสามารถของโรงเรียนและความร่วมมือของผู้ปกครองของโรงเรียนไผทอุดมศึกษา น่าจะเป็นแบบอย่างของความสถาบันสำคัญของชาติที่จะสร้างความหวังเพื่อสังคมที่มีความสงบสุขในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ตัวอย่างที่เป็น รูปแบบภาพนิ่ง แต่เป็นรูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 2 ปัจจัย ที่ศิษย์ และลูกของเราจะได้มีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาตของชีวิตจริงในสังคมที่มีการเคลื่อนไหว เราอาจจะเรียกกระบวนเรียนรู้นี้ว่า เฝ้าเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (ผู้เขียนติดตามรายการวิถีคิดของคุณโสภณ สุภาพงษ์ ที่ http://www.homeradio1.com/programs/view/560) "วิถีคิด พาไปสู่ วิธีคิด วิธีคิด พาไปสู่ พฤติกรรมและวิถีชีวิต "

ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนไผทอุดมศึกษาน่าสนใจมาก เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยความสนุกและเกิดทักษะชีวิตที่จำเป็นหลายประการ โรงเรียนได้รับรางวัลระดับประเทศ เป็นโรงเรียนต้นแบบ คือ นวัตกรรมการเรียนรู้ : Patai's Digital Education แต่ละปีการศึกษา นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยความสนุกและเกิดทักษะชีวิตที่จำเป็นหลายประการ เช่น

  • "หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยเท้าพ่อของแผ่นดิน พออยู่ พอกิน และพอเพียง"
  • "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว (Once upon a Time)"
  • "ปัญญาในสระบัว"
  • "Rock 'n Roll ตำนานหินกลิ้ง"
  • "วันทอง..." เป็นต้น

นักเรียนได้รับการฝึกทักษะทีจำเป็นหลายประการ ได้แก่ ทักษะการคิด ทักษะค้นคว้า หาข้อมูล ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะแก้ไขปัญหา ทักษะการนำเสนอด้วยหลากหลายเทคนิค ทั้งที่เป็นผลงานไอที การแสดงละคร และการใช้การร้องลำตัด และโต้วาที เป็นต้น

จากการสะท้อนความรู้สึกของนักเรียนและผู้ปกครอง พบลักษณะพฤติกรรมที่น่าพอใจ หลายประการ เช่น การใช้เวลาเพื่อใฝ่หาความรู้ ความอดทน ความมุ่งมั่น และ ความรู้สึกภาคภูมิใจในความร่วมมือซึ่งกันและกัน รายละเอียด ผู้สนใจติดตามได้จากเว็ปไซด์ของโรงเรียน

สำหรับตัวอย่างการสร้างความพร้อมในด้านผู้ปกครอง โรงเรียนและบ้านมีการจัดประชุมสัมมนาและพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเสมอๆ ตัวอย่างที่ผู้ปกครองแลกเปลี่ยนกันเองที่น่าสนใจ และตรงกับคำแนะนำของผู้รู้ เช่น จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก และนักวิชาการหลายท่าน และจากตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน

  • §ให้เวลาลูก คุยสร้างปัญญาที่ใช้เหตุผลแทนการต่อรองผลประโยชน์
  • §ใช้ตัวอย่างสถานการณ์ในครอบครั้ว ในสังคมเป็นกรณีศึกษา
  • §เน้นเหตุผล "เป็นประโยชน์ เป็นความสุขของปวงข้าพเจ้า (ไม่ใช่เฉพาะคน หรือพวกพ้อง) ชั่วกาลนาน (เป็นเงือนไขที่บอกถึงการพัฒนา ไม่ใช่ชั่วขณะที่ได้)"
  • §พฤติกรรมของพ่อ แม่สะท้อนความคิดต่อปัญหาของลูกด้วยความรักอย่างมีเหตุผล (ตามวัย)

สรุป ตามหัวเรื่องที่ชวน " เรามาเป็นครูฝึก"วิถีคิด"ให้ศิษย์และลูกของเรากันเถอะ" ดูจะเป็นเรื่องที่เราต้องฝึกก่อน ต้องเรียนรู้พร้อมเป็นครูฝึก"วิถีคิด" "ให้แบบอย่างการคิด" ให้เด็กได้ซึมซับการคิดที่มีเหตุผลมีการแสดงออกถึงการตัดสินใจที่อิสระให้เขามี วิธีคิด พาไปสู่ พฤติกรรมและวิถีชีวิตที่มีความสุขในอนาคต

บันทึกนี้ได้ตีพิมพ์ใน "วารสารไผทฯ" ฉบับล่าสุด

บันทึกครั้งต่อไป จะเสนอ"ครูเรียนรู้การสอนวิถีคิดแบบครูนักวิจัย" ผู้อ่านมีข้อแนะนำโปรดเสนอด้วย ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้


หมายเลขบันทึก: 587762เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2015 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2015 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการปูพื้นฐานที่สำคัญให้ลูกก่อนเด็กๆไปโรงเรียน อยากเห็นลูกมีคุณลักษณะอย่างไรต้องทำเป็นตัวอย่าง รอให้เข้าโรงเรียนไม่ทันการณ์

พ่อแม่มักคิดว่าแค่ให้อาหารกับความรักก็เพียงพอ ไม่เข้าใจว่าเวลาคุณภาพนั้นสำคัญกับลูกมาก

ครูต่อยอดจากบ้านค่ะ รอจนเข้าโรงเรียนก็สาย

น่าสนใจมาก

กำลังทำเรื่องแบบนี้อยู่ครับ

อาจารย์หายไปนานมากๆ

คิดถึงๆครับ

ขณะนี้เห็นผู้ปกครองและรร. ทั้งผู้บริหารและครูจำนวนมากให้ความสนใจกับคะแนนสอบเกือบทุกปรเภท โดยเฉพาะ O-NET กับคะแนนสอบแข่งขันอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มากจนลืมไปว่า มันเป็นผลจากการเรียนรู้ฝึกฝนที่ต้องใช้เวลาและพื้นฐานการคิด ไม่ใช่การติวหรือการเก็งข้อสอบแล้วให้จำอย่างรีบร้อน

ความคิดเช่นนี้เป็นอันตรายต่อการสร้างฐานการคิดของเด็ก มันเพี้ยนไปกับผู้ใหญ่ที่ต้องการภาพสะใจช่ั่วขณะเพื่อการอวด แข่ง หรือฉวยโอกาสกับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขเท่านั้น

เด็กๆ จะเกิดการวิถึคิดคล้อยตาม ได้ความคิดที่อยากได้สิ่งที่ผู้ใหญ่หวังอย่างผิวเผิน หรือ รีบร้อน

ที่น่าเป็นห่วง ผู้ใหญ่แบบนี้มีทุกประเภทและมีจำนวนมากขึ้นๆ แม้แต่ผู้ที่ควรจะเข้าใจหลักการพัฒนาเด็กอย่างมืออาชีพ เหลือไว้แต่"อาชีพที่ต้องได้ผลประโยชน์เฉพาะหน้า"ที่ใกล้ตัวผู้ใหญ่ แต่ความจริงที่ไม่คิดกันว่า ..เด็กต้องมีชีวิตอยู่ในสังคมที่กำลังถูกผูกปมที่ซับซ้อนมากขึ้น

“วิถีคิด” ถือว่า มีความสำคัญต่องการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก เนื่องจากการติดต่อสื่อสารในยุคดิจิทัล โยงใยเครือข่ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปทั่วทุกมุมโลก วิถีคิดหนึ่งที่ควรจะต้องเริ่มคือ การสื่อสาร มีความจำเป็นที่จะต้องหมั่นฝึกให้ลูก เด็กๆ นักเรียน ลูกคิด ได้ฝึกคิดไตร่ตรองคำพูดออกไปให้ถ้วนถี่ก่อน ทั้งในลักษณะของความครบถ้วนสมบูรณ์ของความหมาย สาระสำคัญของเนื้อหาที่จะสื่อออกไป รวมถึง ระดับการใช้ภาษาที่เหมาะสม ซึ่งมักพบจากแหล่งสื่อสารข้อมูลออนไลน์มากมาย เช่น Line , Facebook, Instagram เป็นต้น ที่เด็กๆ ใช้ถ้อยคำที่สื่อสารไม่ครบถ้อยความ สื่อสารออกไปแล้วผู้รับสารไม่เข้าใจ หรือแม้กระทั่งสื่อสารออกไปแล้วทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ขุ่นข้องหมองใจกัน ทั้งนี้ เนื่องจาก การสื่อสารด้วยอักขระเป็นการสื่อสารที่ไร้น้ำเสียง ผู้รับสารมิอาจทราบระดับน้ำเสียงซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้สื่อสารได้ทั้งหมด มีหลายเหตุการณ์ที่เห็นจากข่าวว่า มีการโพสต์ด่าทอ ต่อว่า ประชดประชันกัน ผ่านแหล่งสื่อสารข้อมูลออนไลน์ดังกล่าว เหตุผลหนึ่งคือ ความอ่อนแอทางการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ซ้ำร้าย ยังเห็นการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง เช่น “ไหม” เป็น “มั้ย” “ครับ” เป็น “คร๊าฟ” “ค่ะ” เป็น “คร่ะ” หรือ “ค่” จากสภาพเหตุการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการผุกร่อนหลักการภาษาไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กๆ จะซึมซับการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาสู่ในห้องเรียนหรือการเขียนข้อความเชิงวิชาการในการเรียน ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ออกว่า การสื่อสารภาษาไทยที่ถูกต้องจะต้องพูด ต้องเขียนอย่างไรให้ผู้รับสารเข้าใจ ดังนั้น “วิถีคิดทางการใช้ภาษาไทย” จึงสมควรที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ ร่วมแรงร่วมใจกันจากผู้ใหญ่ ครู ผู้ปกครอง ช่วยกันให้เหตุผลทางภาษา สอดแทรกการเสนอคำที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยอันเป็นภาษาประจำชาติไทย ความสำคัญของการสื่อสารให้ผู้รับสารเข้าใจ มิใช่ว่า จะพูดอะไรออกไปก็พูดทันทีโดยที่ยังไม่ได้เรียบเรียบ ไตร่ตรอง ทบทวนคำที่จะพูดหรือเขียนให้ถ้วนถี่เสียก่อน ผู้เขียนมองเห็นว่า การใช้คำพูด ข้อความ ถ้อยคำที่ผ่านการคัดกรอง ขัดเกลามาเป็นอย่างดีแล้ว นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ สื่อสารให้ได้สาระสำคัญเข้าใจชัดเจนระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารแล้ว ยังช่วยให้เป็นคนที่ไม่ด่วนพูด ไม่ด่วนเขียนจนเกินไป สมองจะได้รับการกลั่นกรองภาษามาเป็นอย่างดีก่อนที่จะพูดหรือเขียน เด็กๆจะค่อยๆใจเย็นลง มีความน่ารักมากขึ้น มีสัมมาคารวะทางการสื่อสารมากขึ้นได้หากผู้ใหญ่ทุกคนช่วยกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอยกเรื่อง “วิถีคิด” ในลักษณะของการคิดเพื่อนำไปสู่การสื่อสาร ดังกล่าวข้างต้น นั่นเอง

ครูคนแรกของลูกคือพ่อแม่ ครูคนที่ 2 คือครูที่ รร. เด็กเปรียบเสมือนน้ำที่จะเปลี่ยนแปลงตามภาชนะที่ใส่ ถ้าต้นแบบหรือภาชนะเป็นแบบไหน เด็กๆก็จะเปลี่ยนตัวเองเป็นแบบนั้น ดังนั้น พฤติกรรม การกระทำ ต่างๆของลูกก็มาจากพฤติกรรมของพ่อกับเเม่ และสิ่งแวดล้อมรอบๆข้าง ต้นแบบและสิ่งเเวดล้อมที่ดีคือสิ่ที่สำคัญที่สุดในการทำคนให้เป็นคน คนเราไม่จำเป็นต้อเก่งทุกอย่าง แต่ทำอย่างไหร่ให้เป็นคนที่ดีและอยู่ในสังคมได้มีความสุขที่สุดนั้นคือสิ่งสำคัญ

ในชีวิตประจำวันคนเรามีเรื่องต่างๆให้คิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน ฯลฯ ดังนั้นจึงถือได้ว่า วิถีการคิด จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราประสบผลสำเร็จ ต้องเริ่มการคิดให้เป็นระบบ ในการจะฝึกเด็กคิดให้เป็นระบบนั้น พ่อแม่ควรส่งเสริมและฝึกให้ลูกคิด วิเคราะห์ แยกแยะ บูรณาการคิดให้เป็นระบบ ซึ่งสมัยปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กไม่ได้ใช้การคิดอย่างเป็นระบบ ทุกสิ่งทุกอย่างแทบจะอำนวยความสะดวกให้กับเด็กทั้งหมด จนกลายเป็นว่าเด็กไม่ได้ใช้ความคิดที่จะวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ อีกทั้งผู้ปกครองควรใส่ใจและดูแลเด็กให้มากขึ้น ไม่บังคับเด็กจนเกินไป จนทำให้เด็กไม่กล้าที่จะคิดหรือทำอะไร สิ่งแรกที่จะต้องเริ่มคือเริ่มที่จากตัวเรา ต้องเปลี่ยนวิถีคิดเสียใหม่ การเปลี่ยนความคิดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำกันไม่ได้ หลายครั้งคนเราชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น ผู้ปกครองก็เช่นกัน ชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น แต่ความคิดเรื่องเปรียบเทียบมันก็เกิดขึ้นได้เสมอ จนทำให้เกิดความอยากได้ อยากมีเหมือนเขา อยากเป็นเหมือนเขาขึ้นมา เพราะฉะนั้น ความคิดจึงเป็นตัวกำหนดการใช้ชีวิตของคนเราเหมือนคำกล่าวที่ว่า “ทำอย่างไรมักได้อย่างนั้น คิดแบบไหนก็ได้แบบนั้น” คนเราจะต้องมีสติในการคิด หรือทำอะไรก็ตาม ต้องอาศัยเวลาทบทวน คิด วิเคราะห์ เรื่องราวต่างๆ แยะแยะผิดชอบชั่วดีให้ได้ นอกจากการฝึกวิถีคิดแล้ว ทักษะชีวิตก็ควรต้องฝึกไปพร้อมๆ เด็กสมัยนี้บางคนเก่งแต่ไม่มีทักษะชีวิต บางคนไม่เก่งแต่มีทักษะชีวิตสามารถเอาตัวรอดอยู่ในสังคมได้ ทักษะชีวิตไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนพร้อมเผชิญกับปัญหา และการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะจัดการกับชีวิตของตนเอง เป็นต้นไม้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและสมบูรณ์นั่นเอง

ในปัจจุบันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การศึกษาและการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จนเรียกได้ว่า เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ดังความตอนหนึ่งใน มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า “กระบวนการเรียนรู้ เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”

ครู ผู้ปกครองหลายท่านต่างล้วนมีความคาดหวังในตัวศิษย์ บุตรของตัวเองทั้งสิ้นทั้งสิ้น แต่กระนั้น ควรที่จะต้องคำนึงถึงความสามารถและศักยภาพของแต่ละบุคคลด้วย ถ้ายิ่งมีความกดดันหรือเกิดจากสภวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถคิด วิเคราะห์หรือเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ แตกต่างกันออกไปย่อมมีผลกระทบในหลายๆ ด้าน อาจกล่าวได้ว่า “คนที่อุ่น อุ่นจนร้อน คนที่หนาว หนาวจนเหน็บ” การจะสร้างกระบวนการคิดหรือการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้นั้น ต้องเริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ ใกล้ตัว ยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ตอนนี้มีอิทธิพลมากต่อทุกคนในสังคม จึงต้องใช้อย่างมีวิจารณญาณ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเอาใจใส่ ให้คำแนะต่อศิษย์ บุตร ให้ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ด้วยเหตุและผลทั้งด้านบวกและด้านลบ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท