แบบทดสอบ


3. แบบทดสอบ

ความหมาย

แบบทดสอบ คือ ชุดของคำถามที่สร้างขึ้น เพื่อให้ผู้ถูกทดสอบแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้ผู้สอบสังเกตได้และวัดได้ แบบทดสอบ เป็นเครื่องมือวัดพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย ซึ่งถือว่าเป็นสติปัญญาของมนุษย์ว่ามีความรู้หรือไม่เพียงใดที่ซ่อนแฝงอยู่ในตัวบุคคลทั้งในด้านพฤติกรรมความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ และอื่น ๆ แบบทดสอบถ้าใช้เกณฑ์การแบ่งตามลักษณะการตอบ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. แบบทดสอบแบบอัตนัยหรือแบบความเรียง (Subjective or Essay Type) แบบทดสอบแบบอัตนัยหรือแบบความเรียง มีลักษณะเด่นที่ให้อิสระแก่ผู้สอบ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) แบบจำกัดคำตอบ (Restricted Response Question) เป็นแบบคำถามที่จำกัดให้ตอบในเนื้อหา ปกติจะจำกัดให้แคบและสั้นลงด้วยการกำหนดขอบเขตและประเด็นคำตอบ
2) แบบไม่จำกัดคำตอบ(Extended Response Question) เป็นแบบทดสอบที่ผู้ตอบมีสิทธิในการตอบอย่างเสรี

2. แบบทดสอบแบบปรนัย (Objective Type) แบบทดสอบแบบปรนัย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1) แบบถูกผิด (True - False) คำถามชนิดนี้ถามถึงความจริง หลักการ กฎต่างๆ และการตีความ เช่น ให้เขียนเครื่องหมายลงในหน้าข้อที่ท่านเห็นว่าถูก ( P) หรือผิด ( X ) เป็นต้น
2) แบบจับคู่ (Matching) ลักษณะของข้อสอบจะมี 2 คอลัมน์ คอลัมน์หนึ่งจะเป็นชุดของคำถาม อีกคอลัมน์หนึ่งจะเป็นชุดของคำตอบ ซึ่งผู้ตอบจะเลือกคำตอบที่ถูกต้องเพื่อให้สอดคล้องกับคำถาม

3) แบบเลือกตอบ (Multiple - Choice) ข้อสอบแบบนี้แต่ละข้อกระทง (Item) จะประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกของโจทย์ (Stem) อีกส่วนหนึ่งเป็นตัวเลือก (Alternative) มีตั้งแต่ 3 ตัวเลือกถึง 5 ตัวเลือก ซึ่งมีทั้งตัวเลือกที่เป็นคำตอบที่ถูกและตัวเลือกที่เป็นคำตอบที่ผิดเรียกว่าตัวลวง แบบทดสอบแบบนี้จะวัดความสามารถของสมองได้ตั้งแต่ขั้นต่ำถึงขั้นสูงๆ โดยคำตอบในตัวเลือกนั้นจะมีข้อถูกอยู่เพียงข้อเดียวส่วนข้ออื่น ๆ เป็นตัวลวง (Distracters)

4) แบบเติมคำ (Completion) เป็นข้อสอบที่ประกอบด้วยประโยคหรือข้อความที่ยังไม่สมบูรณ์แล้วให้ผู้ตอบเติมคำหรือประโยคให้มีความสมบูรณ์

วิธีการสร้าง

หลักทั่วไปในการเขียนข้อสอบ
1.ถามให้ครอบคลุม ครบตามหลักสูตร
2. ถามเฉพาะสิ่งที่สำคัญ
3. ถามให้ลึก ครบทุกพฤติกรรม
4. ถามในสิ่งที่เป็นแบบอย่างดที่ดี
5. ถามให้เฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ

หลักการสร้างข้อสอบแบบอัตนัย
1.กำหนดพฤติกรรมที่ต้องการวัดให้ชัดเจน
2.เขียนคำถามให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ตอบ ทำอย่างไร เช่น อธิบาย วิเคราะห์ ฯลฯ
3.ควรวัดพฤติกรรมตั้งแต่ระดับความเข้าใจ ขึ้นไป
4.เขียนคำถามโดยใช้สถานการณ์ใหม่ให้ต่าง จากที่เคยเรียนหรือที่อยู่ในตำรา
5.ถามเฉพาะสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง
6.กำหนดความซับซ้อนและความยากให้ เหมาะกับวัยของผู้ตอบ
7.ควรเฉลยคำตอบไปพร้อมๆกับการเขียน ข้อสอบ
8.ไม่ควรให้มีการเลือกตอบบางข้อ
2. หลักการสร้างข้อสอบแบบปรนัย

หลักการเขียนข้อสอบแบบถูกผิด
1.ข้อความมีความหมายชัดเจนไม่กำกวมและไม่ควรใช้คำที่แสดงคุณภาพ
2. ข้อความที่กำหนดให้ต้องตัดสินได้ว่า ถูกหรือผิดจริงและเป็นสากล
3. แต่ละข้อควรถามจุดสำคัญเพียง เรื่องเดียว
4. ไม่ควรสร้างข้อคำถามเชิงปฏิเสธ
5.หลีกเลี่ยงการคัดลอกข้อความจากหนังสือ
6. หลีกเลี่ยงการใช้คำชี้แนะคำตอบ เช่น เท่านั้น เสมอ บางครั้ง โดยทั่วไป อาจจะ
7. ความยาวของข้อความควรใกล้เคียงกัน
8. ไม่ควรวางข้อถูกและข้อผิดอย่างเป็น ระบบ
9. ควรให้มีจำนวนข้อถูกและข้อผิดพอๆกัน

หลักการสร้างข้อสอบแบบจับคู่
1.เขียนคำชี้แจงให้ชัดเจน
2. เนื้อหาวิชาควรถามในเรื่องเดียวกัน
3. ควรกำหนดให้คำตอบมีมากกว่าคำถาม
4. จำนวนข้อคำถามไม่ควรมากเกินไป (สำหรับชั้นประถมศึกษาไม่ควรเกิน 5-6 ข้อ)
5. ควรให้คำชี้แจง คำถาม คำตอบ อยู่หน้าเดียวกัน
6. หลีกเลี่ยงคำถามที่แนะคำตอบ

หลักการเขียนข้อสอบแบบเลือกตอบ
1. เน้นเรื่องที่จะถามให้ชัดเจน และตรงจุด
2. แต่ละข้อควรถามอย่างเดียว
3. ใช้ภาษาเหมาะสมกับวัยของผู้ตอบ ใช้ประโยค สั้นๆ ง่าย และกะทัดรัด
4. ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย
5. ไม่ควรใช้คำถามปฏิเสธ หรือปฏิเสธซ้อนถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรขีดเส้นใต้
6. แต่ละข้อต้องมีคำตอบเดียว
7. ต้องเขียนตัวถูกหรือตัวผิดตามหลักวิชา
8. ตัวเลือกแต่ละตัวต้องเป็นอิสระต่อกัน
9. จำนวนตัวเลือกเหมาะสมกับระดับชั้นของเด็ก
10. มีความเป็นเอกพันธ์ ตัวเลือกสอดคล้องกัน มีทิศทางเดียวกัน และเป็นชนิดหรือประเภทเดียวกัน
11. ระวังการแนะคำตอบ

หลักการเขียนข้อสอบแบบเติมคำ
1.เขียนคำถามให้เฉพาะเจาะจง
2. เขียนคำถามให้ตอบได้สั้นที่สุด
3. ควรให้เติมส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
4. ควรเว้นช่องว่างให้เติมท้ายประโยค
5. ควรเว้นช่องว่างที่จะให้เติมเท่ากัน ทุกช่อง
6.คำตอบที่เป็นตัวเลข ถ้ามีหน่วยควรระบุหน่วยที่ ต้องการให้ตอบ
7. ไม่ควรลอกข้อความจากตำราแล้วตัด ข้อความบางตอนออก
8. ไม่ควรเว้นช่องว่างให้เติมหลายแห่งในแต่ละข้อ
9. ไม่ควรให้มีคำหรือข้อความแนะคำตอบ
10. หลีกเลี่ยงการใช้คำที่จะให้คำตอบไม่แน่นอน เช่น ประมาณ ราวๆ ได้แก่ ฯลฯ

การนำไปใช้

การใช้แบบทดสอบเพื่อการวัดผลการศึกษานั้นควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์และข้อจำกัดบางประการดังนี้
1. เลือกใช้ข้อสอบที่วัดคุณลักษณะที่ต้องการนั้นอย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
2. การใช้แบบทดสอบต้องให้เหมาะสมกับระดับกลุ่มของเด็ก
3. การใช้แบบทดสอบต้องให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุดทั้งในด้านของข้อคำถามที่ใช้ และวิธีดำเนินการสอบ
4. ควรสอบวัดหลายๆด้าน และใช้ข้อสอบหลายๆอย่างประกอบกัน
5. แบบทดสอบที่ใช้ได้ผลตามเป้าหมายจะต้องเป็นแบบทดสอบที่มีคุณภาพดี
6. คะแนนจากการสอบเป็นเพียงตัวเลขในมาตราจัดอันดับ (Ordinal Scale) จึงควรคำนึงถึงในการแปลคะแนนที่ได้จากการสอบ
7. การใช้แบบทดสอบควรพยายามใช้ผลการสอบที่ได้ให้กว้างขวางหลายๆด้าน
8. คะแนนที่ได้จากการสอบในแต่ละครั้ง ต้องถือว่าเป็นคะแนนที่เกิดจากความสามารถของแต่ละบุคคล ดังนั้นถ้ามีสิ่งใดที่จะทำให้การสอบได้ผลไม่ตรงกับความคิดข้างต้น ควรจะได้รับการแก้ไข
9. พึงระวังการสอบที่ทำให้เด็กได้เปรียบ เช่น การใช้แบบทดสอบชุดเดิม
10. การสอบแต่ละครั้งควรจะมีการตรวจให้คะแนนผลการสอบอย่างเป็นปรนัย

ข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีและข้อเสียของข้อสอบอัตนัย

ข้อดี

ข้อเสีย

1. วัดพฤติกรรมด้านความคิดด้านสังเคราะห์และการประเมินค่าได้ดี
2. วัดความคิดริเริ่มและความคิดเห็นได้ดี
3. สร้างได้ง่าย รวดเร็ว ประหยัด
4. เดายาก
5. ส่งเสริมพัฒนาทักษะการเขียนและนิสัยการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

1. วัดเนื้อหาได้ไม่ครอบคลุมเพราะข้อสอบถามได้น้อยข้อ
2. ตรวจให้คะแนนยาก เสียเวลามาก
3. คะแนนไม่แน่นอน มีความเที่ยงน้อย
4. วินิจฉัยข้อบกพร่องของผู้เรียนไม่ได้
5. ทักษะด้านภาษามีอิทธิพลต่อการตรวจ

ข้อดีและข้อเสียของข้อสอบปรนัย

1. ข้อสอบแบบถูกผิด

ข้อดี

ข้อเสีย

1. เหมาะกับการวัดพฤติกรรมความรู้-ความจำ
2. สร้างง่าย ตรวจง่ายและมีความเป็นปรนัยในการตรวจสูง
3. ใช้ทดสอบได้กับทุกวิชา
4. ผู้ตอบใช้เวลาทำน้อย

1. โอกาสที่เดาถูกมีมาก
2. วัดพฤติกรรมระดับสูงไม่ได้
3. ไม่สามารถวินิจฉัยสภาพการเรียนได้
4. มีค่าอำนาจจำแนกต่ำ

2. ข้อสอบแบบจับคู่

ข้อดี

ข้อเสีย

1. เหมาะสำหรับความรู้-ความจำที่มีเนื้อหาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน การประเมินค่าไม่ได้
2. สามารถวัดพฤติกรรมระดับความเข้าใจและการนำไปใช้ได้
3. ประหยัดเวลาในการอ่านข้อสอบทำให้สามารถออกข้อสอบได้หลายข้อ

1. ใช้วัดพฤติกรรมระดับการสังเคราะห์และการประเมินค่าไม่ได้
2. ยากที่จะหาเนื้อหาที่เป็นเรื่องเดียวกัน
3. โอกาสในการเดาจะถูกเพิ่มขึ้นเรื่อย

3. ข้อสอบแบบเลือกตอบ

ข้อดี

ข้อเสีย

1. วัดได้ครอบคลุมทุกเนื้อหาและพฤติกรรม
2. การตรวจให้คะแนนง่ายและรวดเร็ว มีความเที่ยง และเป็นปรนัยสูง
3. วินิจฉัยข้อบกพร่องในการเรียนได้
4. ผลการสอบ มีความเที่ยงสูงกว่าแบบอื่น ๆ
5. พลิกแพลงคำถามได้หลายลักษณะทำมีประสิทธิภาพการวัดสูง
6. วิเคราะห์ปรับปรุงคุณภาพของข้อสอบได้

1. สร้างยากกว่าข้อสอบแบบอื่น ๆเพราะ ต้องมคุณภาพดีทั้งตัวคำถามและตัวเลือก
2. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
3. ใช้เวลาในการตอบนานกว่าแบบปรนัยชนิดอื่น ๆ

4. ข้อสอบแบบเติมคำ

ข้อดี

ข้อเสีย

1. เหมาะกับพฤติกรรมความรู้-ความจำ
2. เหมาะกับวิชาคณิตสาสตร์และวิชาทักษะการคำนวณ
3. เดาคำตอบได้ยาก

1. ไม่เหมาะกับการวัดพฤติกรรมระกับสูงๆ
2. ยากในการเขียนเพื่อให้ได้คำตอบเดียว
3. ถ้าใช้บ่อยๆผู้เรียนจะมุ่งแต่ท่องจำ

พีระพงษ์ เครื่องสนุก

11/03/58

หมายเลขบันทึก: 587302เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2015 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2015 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท