บทคัดย่อ


การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติ

A comparisons of the Learning Achievement and Mathematical creative thinking for Prathomsuksa 5 Students who learn by 4 MAT approach and the ordinary learning management.

หยาดอรุณ ชาติสมบูรณ์


บทนำ

การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีสติปัญญาที่รอบรู้ และมีจิตใจที่สำนึกในคุณธรรม จริยธรรม มีความเพียร มีโอกาสและสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ควบคู่กับการใช้ภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับสู่การผลิตและการให้บริการบนฐานความรู้ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในสังคมและสถาบันทางสังคมให้เข้มแข็งและเอื้อต่อการพัฒนาคน(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , 2554) ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 มาตรา 22 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่านักเรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่านักเรียนสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้นักเรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และมาตรา 24 กล่าวว่า การจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของนักเรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดได้ แก้ปัญหาได้ รักการอ่านและเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2547)

การพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมองได้แก่ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับเสียงได้แก่ทักษะการสื่อสาร และทักษะเกี่ยวข้องกับใจได้แก่ทักษะการพัฒนาลักษณะนิสัย ทักษะการเป็นผู้นำและทักษะการยอมรับพันธะเพื่อความดีที่ยิ่งใหญ่ขึ้น( บัณฑิตศึกษาในศตวรรษที่ 21:การปรับปรุงหลักสูตรและการสอน )สอดคล้องกับโรงเรียนมาตรฐานสากลซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพเป็นพลโลกโดยมุ่งหวังที่จะให้โรงเรียนได้พัฒนาต่อยอดคุณลักษณะของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาผู้เรียนมุ่งให้มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม มีจิตสาธารณะ มีสมรรถนะ ทักษะและความรู้ พื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต การพัฒนาเยาวชนของชาติเข้าสู่โลกยุคศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งส่งเสริมผู้เรียนมีคุณธรรม รักความเป็นไทย ให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ มีทักษะด้านเทคโนโลยี สามารถทางานร่วมกับผู้อื่น และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโลกได้อย่างสันติอันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน

คณิตศาสตร์ถือเป็นวิชาหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคนเพราะเป็นวิชาที่ส่งเสริมให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล มีระบบ ระเบียบแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ ทำให้สามารถคาดการณ์ วางแผนตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความสมดุลทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดถือว่าเป็นวิชาที่สร้างสรรค์มนุษย์เกี่ยวกับความคิดอย่างมีระบบและมีเหตุผล เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอบรมให้ผู้มีความละเอียด รอบคอบช่างสังเกต มีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ตลอดจนมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล (วรรณี โสมประยูร, 2534) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์เปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคน ได้เรียนรู้คณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิตตามศักยภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์อย่างเพียงพอ สามารถนำความรู้ ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อ(กระทรวงศึกษาธิการ , 2551) จึงเป็นความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่จะต้องจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับนักเรียนให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเอง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน

การสอนความคิดสร้างสรรค์และการฝึกฝนให้นักเรียนสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพในตนของเด็กให้เด็กมีชีวิตอย่างมั่นใจในตนเองและมีคุณภาพมากขึ้น (สร้างสรรค์นักคิด,สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2545) นอกจากนี้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์พบว่าความคิดสร้างสรรค์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก โดยที่นักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงตามไปด้วย (วิเชียร กลิ่นมาลัย, 2543) ในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ คือการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ศึกษาค้นคว้าจากสื่อ และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยอิสระผู้สอนมีส่วนช่วยในการจัดเนื้อหาสาระกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้กำหนดจุดมุ่งหมายเน้นทักษะกระบวนการในการคิดการแก้ปัญหาของชีวิตประจำวัน ผู้สอนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและชี้แนะในข้อบกพร่องของผู้เรียน รูปแบบของการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีหลายรูปแบบ ผู้สอนสามารถนำไปจัดให้เหมาะสมกับเนื้อหาและเวลาเรียนของผู้เรียน(กรมวิชาการ, 2545)

ในปัจจุบันการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ยังคงเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีปัญหาอย่างมากในการจัดการเรียนรู้ จากการวัดผลประเมินผลในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ปี 2552 – 2554 ผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชาติค่าเฉลี่ย ดังนี้ 43.76, 35.88 และ 34.85 ตามลำดับซึ่งเห็นได้ว่าลดต่ำลงและยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำคือร้อยละ 50 และการประเมินคุณภาพภายนอก ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ที่ได้ประเมินสถานศึกษาระดับต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในปี 2548 มีข้อสรุปที่น่าสนใจคือระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมศ.ได้ประเมินสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 17,562 แห่ง ผลการประเมินด้านมาตรฐานผู้เรียน มาตรฐานที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50% ซึ่งหมายถึงควรปรับปรุงคือมาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์คิดมีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ได้คะแนนเพียงร้อยละ 11.1(วิทยากร เชียงกูล, 2550) ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองของโรงเรียนบ้านท่าเรือมิตรภาพที่ 30 โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ด้านมาตรฐานผู้เรียน มาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์คิดมีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง คิดแบบองค์รวมทั้งระบบ และมีวิสัยทัศน์ อยู่ในระดับพอใช้

การสอนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงนั้นครูจะต้องคำนึงถึงการรับรู้ทางสมอง ความแตกต่างระหว่างบุคคล และจะต้องวิเคราะห์สภาพนักเรียนเพื่อให้รู้วิธีการเรียนซึ่งจะช่วยให้ครู รู้วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมของนักเรียนแต่ละคน เด็ก ๆ มีธรรมชาติ 3 ประการ คือ ความกระหายใคร่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ และ ความสามารถเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน ธรรมชาติทั้งสามนี้มีในตัวเด็กมากน้อยไม่เท่ากัน(ฉวีวรรณ กีรติกร, 2540)สอดคล้องกับ วรรณี โสมประยูร(2541) กล่าวว่าการสอนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงนั้นครูจะต้องคำนึงถึงการรับรู้ทางสมอง และสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่เน้นพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ยึดประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพัฒนาการทางสมอง(กระทรวงศึกษาธิการ, 2553 )

เบอร์นิส แมคคาร์ธีได้นำแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของเดวิด คอล์ปกับบทบาทของสมองในการเรียนรู้ โดยนำวงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ของเดวิด คอล์ป (David Kolb) ที่กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลที่มี 4 แบบคือ แบบถนัดจินตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และถนัดปฏิบัติเผชิญสถานการณ์ และเทคนิคการพัฒนาสมองซีกซ้ายและซีกขวามาพัฒนาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) ประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอนโดยนำแต่ละขั้นตอนมาแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนย่อย ซึ่งขั้นย่อยประกอบด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานของสมองซีกซ้ายและขั้นตอนที่ใช้สมองซีกขวา ทำให้การจัดการเรียนรู้แบบนี้มีทั้งหมด 8 ขั้นตอน การจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) เป็นการจัดการเรียนรู้ทุกคนที่ผ่านประสบการณ์ทุกอย่างครบทุกขั้นตอนจะได้เรียนในลักษณะที่ก้าวตามธรรมชาติ นักเรียนได้ใช้สามัญสำนึกและความรู้สึก ได้รับประสบการณ์ได้เฝ้าจ้องมอง ตอบสนองกลับ และได้รับความรู้ไปพัฒนาความคิดสร้างสรรค์(ทิศนา แขมมณี, 2551 ) สอดคล้องกับกาญจนา คุณารักษ์(2545) กล่าวว่าการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่คำนึงถึงลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เรียนรู้ตามลักษณะความสนใจ ความถนัดความชอบ และความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างเหมาะสม กิจกรรมการเรียนรู้ในบางช่วงบางขณะจะต้องสนองให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและท้าทายความสามารถศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นจริงหรือได้รับการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมสู่การเชื่อมโยงความรู้เก่ากับความรู้ใหม่เพื่อให้เกิดความคิดรวบยอด โดยสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่และสามารถนำเสนอชิ้นงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและนำแนวทางไปพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาคือเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีลักษณะเป็น คนดี คนเก่ง และมีความสุขดังผลการวิจัยของ ศศิธร เถื่อนสว่าง(2548)และกัลยา พันปี(2551) พบว่า นักเรียนที่สอนด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT มีผลการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 รุจิรา อินยอด(2551) พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์หลังจากได้รับการสอนโดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้4 MAT นักเรียนแต่ละแบบการเรียนรู้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์หลังจากได้รับการสอนสูงกว่าก่อนได้รับการสอน สมใจ สุรินทร์ (2550 ) พบว่า นักเรียนที่ไดรับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบ 4 MAT มีคะแนนเฉลี่ยความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาหลังการสอนสูงกว่าก่อนทดสอบ ทั้งในด้านความคิดคล่อง ความคิดยืดหยุ่น และความคิดริเริ่มและวราภรณ์ สุวรรณรังสี(2550) สุพิดา แย้มนิ่มนวล(2550)และรินดา ปะนะสุนา (2548 )พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ ที่ได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนตามวัฏจักรการเรียนรู้4 MAT สูงกว่าที่ได้รับการสอนตรมคู่มือครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และนิ่มน้อย แพงปัสสา (2551) พบว่า นักเรียนกลุ่มที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 4MAT และกลุ่มที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 4MAT มีความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่ากลุ่มที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจจะเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์และความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจิตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และแบบถนัดการปฏิบัติเผชิญสถานการณ์ ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT)แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ตลอดจนศึกษากิริยาร่วมระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กับแบบการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผลการวิจัยจะได้เป็นแนวทางและเป็นประโยชน์สำหรับครูผู้สอนที่จัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และพัฒนากิจการการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติ

2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจิตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และแบบถนัดในการปรับเปลี่ยน ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT)

3. เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กับแบบการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์

วิธีดำเนินการวิจัย

1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนาครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีทั้งหมด 4 โรงเรียน

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนบ้านท่าเรือมิตรภาพที่ 30 สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้วิจัยสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลากเป็นกลุ่มทดลองในการวิจัยครั้งนี้ห้องเรียนที่จับฉลากได้หมายเลข 1 เป็นกลุ่มทดลองที่จัดการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) จำนวน 30 คน และห้องเรียนที่จับได้หมายเลข 2 เป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดจัดการเรียนรู้แบบปกติ จำนวน 30 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

1. แผนการจัดการเรียนรู้ คือ แผนการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT และแผนการจัดการเรียนรู้ตามปกติ

2. แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตสาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วยการเรียนรู้ที่ 12 รูปสามเหลี่ยม

3. แบบวัดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ แบบอัตนัยจำนวน 6 ฉบับ

สรุปผลการวิจัย

1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งสอดคล้องกับสมติฐานที่ตั้งไว้ โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) สูงกว่าการจัดการเรียนรู้ตามปกติ

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจินตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึกและแบบถนัดในการปรับเปลี่ยน ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ไม่แตกต่างกัน

3. ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กับแบบการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 นั่นคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจินตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึกและแบบถนัดในการปรับเปลี่ยน ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนแต่ละแบบไม่แตกต่างกันตามการจัดการเรียนรู้

อภิปรายผลการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้พบว่ามีประเด็นที่นำมาอภิปรายได้ดังนี้

1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติแตกต่างกับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ผู้วิจัยได้นำค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้ทั้งสองวิธีดังปรากฏตามตารางที่ 8 พบว่าค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) สูงกว่าการจัดการเรียนรู้ตามปกติ และตารางที่ 5 พบว่าความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) สูงกว่าการจัดการเรียนรู้ตามปกติ สรุปได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) สูงกว่าการจัดการเรียนรู้ตามปกติ สอดคล้องกับของผลการวิจัยรุจิรา อินยอด (2551) พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์หลังจากได้รับการสอนสูงกว่าก่อนได้รับการสอน สอดคล้องกับผลการวิจัยของวราภรณ์ สุวรรณรังสี(2550) พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่อง การหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนตามวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) สูงกว่าที่ได้รับการสอนตรมคู่มือครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) เป็นการจัดกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์ด้วยตนเองทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าสิ่งที่จะเรียนนั้นมีความหมายโดยตรงกับตัวเขาเอง โดยการให้ผู้เรียนได้สัมผัสได้เกิดมโนภาพ ตลอดจนทักษะในการร่วมกิจกรรมกลุ่ม ผู้เรียนต้องหาเหตุผลเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับในขั้นแรกด้วยการวิเคราะห์ผู้เรียนจะช่วยกันอภิปรายและอธิบายให้เหตุผลตามความคิดเห็นของนักเรียนแต่ละคนปรับประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอด มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และไตร่ตรองความรู้ที่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลที่ครูได้ค้นคว้า ให้ข้อมูลรายละเอียดทฤษฏีหลักการให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น จนสร้างความคิดรวบยอดเรื่องที่เรียนได้ ผู้เรียนจะทำตามใบงานหรือคู่มือหรือแบบฝึกหัดหรือทำตามขั้นตอนที่กำหนด หรือสรุปไว้ สร้างชิ้นงานตามความถนัด ความสนใจ ผู้เรียนได้ชื่นชมกับผลงานของตนเองหรือผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ ผู้เรียนนำผลงานของตนเองเสนอในกลุ่มย่อย ๆ ให้เพื่อน ๆ ติชม แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการค้นคว้าหรือลงมือกระทำกับคนอื่น ๆ ในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นการเชื่อมโยงของสิ่งที่ได้เรียนรู้กับเรื่องอื่น ๆ ที่อาจพบในสถานการณ์ใหม่ ได้แก่ จัดแสดงนิทรรศการ ทักษะที่ใช้คือ การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและแลกเปลี่ยนความคิดความรู้ซึ่งกันและกัน มองอนาคต ตลอดจนการชื่นชมตนเอง

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจินตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และแบบถนัดในการปรับเปลี่ยน ที่ได้รับหลังการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ไม่แตกต่างกัน ปรากฏดังตารางที่ 7 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจิตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และแบบถนัดในการปรับเปลี่ยน ได้รับหลังการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT)ไม่แตกต่างกัน และตารางที่ 10 ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจิตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และแบบถนัดการปฏิบัติเผชิญสถานการณ์หลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT)ไม่แตกต่างกัน สรุปว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจิตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และแบบถนัดในการปรับเปลี่ยน หลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT)ไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมติฐานที่ตั้งไว้ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่สามารถทำให้ผู้เรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างกันได้เรียนรู้ตามรูปแบบหรือวิธีการเรียนรู้ที่ตนเองถนัด และเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนต่อเนื่องเป็นระบบ มีกิจกรรมแต่ละขั้นตอนที่สนองตอบต่อลักษณะการเรียนรู้แบบต่างๆ รวมทั้งนักเรียนจะได้รับการพัฒนาความสามารถด้านต่างๆอย่างครอบคลุม ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นให้ใช้สมองทั้ง 2 ซีก ประสานกันอย่างเป็นขั้นตอน จึงส่งผลให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดังนั้น นักเรียนได้ผ่านขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 8 ขั้น อย่างมีระบบ จะทำให้นักเรียนพัฒนาในทุกด้าน และครบทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ ส่งผลให้มีผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้นดังที่ แม็คคาร์ธี (Mc Carthy 1997, อ้างถึงในศศิธร เถื่อนสว่าง,2548) กล่าวว่า นักเรียนทุกคนที่ได้ผ่านประสบการณ์ทุกอย่างครบทุกขั้นตอน เป็นการเรียนที่ก้าวตามธรรมชาติ เด็กได้ใช้สามัญสำนึกและความรู้สึก ได้รับประสบการณ์ ได้เฝ้าจ้องมองดู ได้รับการกระตุ้นและตอบสนองกลับนำความรู้ไปพัฒนาความคิด

นอกจากนั้นการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่คำนึงถึงลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนกับการพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล จึงทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามลักษณะความสนใจ ความถนัด ความชอบ และความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างเหมาะสม กิจกรรมการเรียนรู้ในบางช่วงจัดให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันได้เรียนรู้อย่างมีความสุข และท้าทายความสามารถของผู้เรียน ซึ่งแม็คคาร์ธี (Mc Carthy.1990 , อ้างถึงใน พัชราภรณ์ พิมละมาศ , 2544 ) กล่าวว่า ลักษณะการเรียนรู้ 4 ลักษณะมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ผู้เรียน 4 ลักษณะจำเป็นต้องได้รับการสอนใน 4 รูปแบบ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จและรู้สึกผ่อนคลายในช่วงเวลาที่เรียนกับรูปแบบอื่น ๆ ผู้เรียนทั้ง 4 ลักษณะจะฉายแววในช่วงเวลาที่แตกต่างกันตามลักษณะการเรียนรู้ของตน ซึ่งจะเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การจัดกิจกรรมการเรียนตามแนวคิด 4 MAT จะแบ่งช่วงของการเรียนรู้ โดยการสอนจะประกอบด้วยผู้เรียนทั้ง 4 ลักษณะ ในแต่ละช่วงของ 4 MAT เป็นไปตามธรรมชาติของการเรียนรู้ ในแต่ละลักษณะของผู้เรียนทั้ง 4 ลักษณะจำเป็นต้องได้รับการสอนที่พัฒนาสมองส่วนซีกซ้ายและซีกขวา ผู้เรียนที่ถนัดใช้สมองซีกขวาจะรู้สึกมีความสุขในช่วงที่ได้ใช้ด้านที่ตนถนัดและก็จะได้พัฒนาสมองอีกด้านหนึ่งด้วยในอีกช่วงของเวลา การพัฒนาที่รวมเอาลักษณะการเรียนรู้และการสอนด้วยเทคนิคการใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวา ทำให้ผู้เรียนจะยอมรับในคุณค่าของตนเองและพัฒนาการยอมรับลักษณะเด่นของผู้อื่น สอดคล้องกับแนวคิดของ วิชัย วงษ์ใหญ่ (2542 : 5) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ 4 MAT ครูผู้สอนได้จัดกิจกรรมกลุ่มให้เป็นส่วนมาก จึงทำให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเรียนรู้ร่วมกัน ฝึกปฏิบัติกิจกรรมตามที่ตนถนัดไปพร้อมกัน ซึ่งสอดคล้องกับกับทิศนา แขมมณี(2551)กล่าวว่าผู้เรียนมีโอกาสได้พัฒนาตนเองจากการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT คลอบคลุมวิธีการเรียนรู้หรือแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้ง 4 แบบโดยผู้เรียนมีโอกาสใช้วิธีการเรียนรู้ที่ตนถนัดประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และส่งเสริมวิธีการเรียนรู้แบบอื่น ๆ อีก 75 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่จำเป็นต้องจำแนกผู้เรียน

3. ไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กับแบบการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปรากฏดังตารางที่ 7 ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กับแบบการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่าไม่มีกิริยาร่วมระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กันแบบการเรียนรู้ และตารางที่ 10 ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนของความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กับแบบการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า ไม่มีกิริยาร่วมระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กันแบบการเรียนรู้ สรุปได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT) กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติ โดยนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบถนัดจินตนาการ ถนัดคิดวิเคราะห์ ถนัดใช้สามัญสำนึก และแบบถนัดในการปรับเปลี่ยน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนแต่ละแบบไม่แตกต่างกันตามการจัดการเรียนรู้

ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

1.1 ผลการวิจัยในครั้งนี้พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) กับการจัดการเรียนรู้ตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) สูงกว่าการจัดการเรียนรู้ตามปกติ ดังนั้นครูผู้สอนควรนำการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT)ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์อย่างจริงจังเพราะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ได้อย่างดี

1.2 สำหรับครูผู้สอนที่จะนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ไม่จำเป็นต้องแยกนักเรียนทั้ง 4 แบบเพราะการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT)เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อผู้เรียนทั้ง 4 แบบ อยู่แล้ว ดังนั้นครูควรศึกษาทำความเข้าใจในรูปแบบให้ชัดเจนเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้

1.3 ในระหว่างการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ครูจะต้องมีส่วนร่วมในการกระตุ้นและคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักถึงบทบาท และแสดงศักยภาพของตนให้มากที่สุด

1.4 ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ กองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรนำแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ไปร่วมใช้ในการบูรณาการ พิจารณากำหนดนโยบายและวางแผนงานวิชาการ เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ของครูผู้สอนในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนต่อไป

2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

2.1 ควรมีการศึกษาวิจัยการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ที่ส่งผลต่อตัวแปรตามอื่นๆ เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ ความสามารถในการคิดแบบอื่นๆ เป็นต้น

2.2 ควรมีการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT)ไปใช้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น

2.3 ควรมีการศึกษาวิจัยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) เปรียบเทียบกับการจัดการเรียนรู้แบบอื่นๆ เช่น การจัดการเรียนรู้แบบจิกซอร์ การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นต้น


หมายเลขบันทึก: 587209เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2015 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2015 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท