รศ. ไพโรจน์ คีรีรัตน์ : การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน


วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ผมได้รับชวนจากคำเชิญของมูลนิธิรากแก้วซึ่งแนะนำมาต่อหนึ่งจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้ไปร่วมงาน "สัมมนารากแก้ว อุดมศึกษากับการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เมื่อไปถึง ผมพบว่า รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บินมาจาก จ.สงขลา มาบรรยายเรื่อง "การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" แม้ว่าท่านจะมีเวลาเพียง ๕๐ นาทีในการบรรยายเนื่องจากมีวิทยากรหลายท่าน แต่หลังจากผมมาฟังเทปบันทึกเสียงการบรรยายของท่านซ้ำไปมา พบว่า มีองค์ความรู้ที่ตกผลึกจากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของท่าน ที่จำเป็นต้องแบ่งปันให้ทุกคนที่กำลังขับเคลื่อนฯ ปศพพ. ต้องเข้าใจ จักได้ประโยชน์ใหญ่ในเวลาสั้นๆ ดังนี้

เนื่องจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) นั้นเป็นทั้งหลักคิดและหลักปฏิบัติ ดังนั้นการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ จึงต้องพิจารณาจาก ๒ ฐาน คือ ฐานคิด หรือ ฐานปฏิบัติ ท่านบอกว่าโดยมาก ๘๐% ของคนไทย ทำความเข้าใจหลัก ปศพพ. จากฐานการลงมือปฏิบัติ (คือทำตามคนอื่น) แต่สิ่งที่น่าคิดน่าสนใจคือ ทำไมจึงไม่เป็น "ปราชญ์" กันหมด ทำไมจึงมีปราชญ์จำนวนน้อย คำตอบคือ ปฏิบัติตามอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องคิดวิเคราะห์ พิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล จึงจะทำให้คนเข้าใจอย่างถ่องแท้และพัฒนาเข้าถึงระดับที่ลึกซึ้งขึ้นไปได้... สรุปคือ ถ้าจะขับเคลื่อน ปศพพ. ให้นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่นได้นั้น จำเป็นต้องใช้ฐานคิดด้วย...

เมื่อวางใจว่าต้องเน้น "ฐานคิด" สิ่งที่ต้องเน้นคือ "ห่วงเหตุผล" ได้แก่การพัฒนาการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยพิจารณาใน ๒ แบบสำคัญคือ อะไรเป็น "เหตุ" ที่ทำให้เกิดผลที่ "สมดุล" และอะไรเป็น "เหตุ" ที่ทำให้เกิดผลที่ "เปลี่ยนแปลง" (ผมตีความว่า "สมดุล" ในทีนี้ก็คือห่วงความพอประมาณ ส่วนห่วงภูมิคุ้มกัน ท่านคงเชื่อมโยงกับการต้านหรือรองรับการ "เปลี่ยนแปลง" นั่นเอง) ท่านบอกว่าปรัชญา ปศพพ. นั้น เป็นหลักคิดที่ยิ่งใหญ่ระดับสากลด้วยการใช้เหตุและผลบนหลักวิชาการ และที่เกินไปไกลกว่าสากลของคนตะวันตกก็คือ การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลบนหลักคุณธรรม เอื้อเฟื้อ และแบ่งปัน นั่นเอง...

ในบทความเรื่อง "การสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน" ของท่าน ที่เผยแพร่เป็นเอกสารประกอบการบรรยายครั้งนี้ และมีให้ดาวน์โหลด ที่นี่ เขียนตัวอย่างวิธีการสอนเชิงเหตุผล (Cause - Effect thinking) ไว้ด้วย ดังรูปครับ (ไม่อธิบายนะครับ เชิญท่านใชิวิจารณญาณอ่านจากรูปครับ)


และตัวอย่างที่สอง ให้เด็กฟังเพลงกบ ที่นี่ แล้วให้ถอดบทเรียนก่อนจะตั้งคำถามว่า อะไรไม่สมเหตุสมผล... น่าสนใจมากครับ




ผมรู้จัก รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ผ่านเวทีขับเคลื่อน ปศพพ. ของมูลนิธิสยามกัมมาจล มานานกว่า ๒ ปีแล้ว สิ่งที่ผมชื่นชมและพยายามเรียนรู้จากท่านให้ได้มากที่สุดคือ "การตั้งคำถาม" ท่านกล่าวอย่างฟันธง ณ หลากที่หลายวาระว่า วิธีที่จะทำให้ครูหรือนักเรียนเข้าใจหลักปรัชญาฯ ได้ คือ ต้องใช้คำถามที่คมและลึกเพียงพอ ที่จะฉุดให้...อ้อ...ได้ด้วยตนเอง (ถอดความเป็นสำนวนของผมเอง) ท่านยกตัวอย่างตอนหนึ่งในการบรรยายครั้งนี้ว่า ในการดำเนินโครงการส่งเสริมให้นักศึกษาไปทำโครงงานเพื่อขับเคลื่อน ปศพพ. ในโรงเรียน มีนักศึกษามาถามท่านว่า "อาจารย์ครับ พวกผมจะไปพานักเรียนที่โรงเรียนต่อสายไฟ อาจารย์ว่าจะได้ไหมครับ..." ท่านไม่ตอบ แต่ถามกลับไปว่า "แล้วเธอคิดว่า การทำแบบนั้น ทำให้นักเรียนเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นไหมล่ะ" นักศึกษาตอบว่า "ไม่ครับ" ... แล้วก็ต่อด้วยคำว่า "...เข้าใจแล้วครับ" ในบทความการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ท่านเขียนเรื่องการตั้งคำถามไว้ ผมตีความว่าเป็น "ปัญญาปฏิบัติ" ที่ครูหรือผู้ขับเคลื่อน ปศพพ. ต้องอ่าน ... ผมอ่านแล้วประทับใจขอถอดความมาไว้อีกครั้ง ดังนี้

  • การถาม-ตอบ เป็นเครื่องมือ "ฝึกคิด" ที่มีประสิทธิภาพมาก มีมาตั้งแต่โบราณและโด่งดังในสมัยโสเกรติส นักปราชญ์ชาวกรีก และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
  • การตั้งคำถาม มีความสำคัญมากกว่าการได้คำตอบ เพราะคำถามไม่เคยล้าสมัย แต่คำตอบนั้นอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ..... อันนี้คมมากครับ....
  • คำถามต้องสดและสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงจะมีแรงกระตุ้นให้เด็กอยากคิดและอยากตอบคำถาม
  • ต้องเป็นคำถามที่ให้เด็กตอบจากการคิด ไม่ใช่ตอบจากความจำ เช่น ถ้าเด็กนำสมุนไพรมาทำยาดม อาจถามว่า "พืชที่เธอใช้เรียกว่าสมุนไพร ทำไมพืชอื่นไม่เรียกว่าสมุนไพร เช่น หญ้าคา"
  • วิธีการถามเชื่อมโยงกับหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ เช่น
    • ทำไมจึงเลือกทำสิ่งนี้ (ถามหาเหตุผล)
    • ทำสิ่งนี้เพื่ออะไร มีประโยชน์อะไร (ถามเพื่อความเข้าใจ)
    • ทำอย่างไรจึงจะทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ ความเหมาะสมกับศักยภาพ เวลา และการใช้ทรัพยากรเป็นอย่างไร (ถามหาความพอดีหรือความเหมาะสมของการกระทำ)
    • มีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ต้องพึงระวัง และจะเตรียมการรองรับสถานการณ์เช่นนั้นอย่างไร (ถามหาความเสี่ยงและผลกระทบ)
  • ตั้งคำถามที่ลึกขึ้น เช่น เธอรู้ได้อย่างไรว่าความรู้ที่นำมาเสนอนั้นถูกต้อง ในการเก็บข้อมูลมีทั้งที่เธอชอบและไม่ชอบ ทั้งที่เธอรู้และไม่รู้ เธอได้จัดการกับปัญหานี้อย่างไร
  • เธอจิตนาการผลกระทบจากการเรียนรู้ครั้งนี้อย่างไรบ้าง
  • ท่านเน้นย้ำตอนท้ายว่า ระวังจะตกหลุมพรางของการถาม คือ การถามหาความรู้ มากกว่าการถามหา "หลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ"

รศ.ไพโรจน์ ใช้ขับเคลื่อน ปศพพ. เป็นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยประยุกต์กับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics: STEM) เข้ามาเสริมกระบวนการคิด และบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาวิศวะให้ไปเรียนรู้หลัก ปศพพ. โดยการให้บริการในลักษณะการไปทำโครงงานที่โรงเรียนใกล้ๆ เขตพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งท่านบอกว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ ขยายจำนวนนักศึกษา ท่านคาดว่า สงขลาจะเป็นจังหวัด "พอเพียง" ได้ไม่ยากเลย....






ก่อนจบการบรรยาย ท่านแนะนำหนังสือ "โรงเรียนหลังใหญ่โลกใบเดียวกัน" ของ Salman Khan ผู้ก่อตั้งแหล่งเรียนรู้ฟรีที่โด่งดังในตอนนี้ ... ผมอ่านไปเกือบครึ่งเล่มแล้ว...ดีจริงอย่างที่ท่านการันตีจริงๆ ... จะมาว่าให้ฟังวันหลังครับ ...

หมายเลขบันทึก: 587176เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2015 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2015 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Slow and stead progress is (not) what most students need. Like most Thais we have come to love 'instant' (noodles in) packages. So, we spend more time and money on lotteries, gambling, corruption/fraud/cheat/..., instead of working things out 'honestly'.

ได้รู้อะไรลึกมากครับ และสะท้อนแนวคิดในหลวงที่คิดไว้หลายปี แต่เราเพิ่งถอดรหัสได้ อนาถ!

อาจารย์เขียนไว้หลายปี เพิ่งจะให้ดอกไม้กันวันนี้เอง

ขอบพระคุณท่านอาจารย์พีรวัสครับ ... ธุรกิจพอเพียง ได้บรรจุไว้ในรายวิชาแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกที่ทุกกลุ่มการเรียนจะต้องนำเสนอแลกเปลี่ยนกันแบบมหกรรมเลยครับ 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท