บทสรุปงานดูแลผู้สูงอายุแบบ "เพื่อนช่วยเพื่อน" (1)


นอกจากนโยบายหลักที่รัฐบาลต้องสนับสนุนและวางแผนสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว อีกทางหนึ่งภาคสังคมกำลังเดินหน้าแนวทางการให้ชุมชนจัดกิจกรรมโดยมีผู้สูงอายุเป็นแกนกลางอย่างต่อเนื่อง อย่างที่รู้จักกันดีในพื้นที่แห่งนี้ คือ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุเพื่อสุขภาวะ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ที่มีแนวทางการทำงานคือการให้ผู้สูงอายุรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นชมรมเพื่อให้มีกิจกรรมตอบสนองความต้องการระหว่างกัน เช่น การสร้างกิจกรรมการเยี่ยมเยียนสมาชิกผู้สูงอายุตามบ้าน การจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพ ควบคุมอาหาร การออกกำลังกายร่วมกัน การพูดคุยติดตามผลหลังจากการพบแพทย์ รวมถึงการใช้เวลาว่างประกอบอาชีพเสริม

เรียกกันอย่างติดปากว่าโครงการ "เพื่อนช่วยเพื่อน" นั่นเพราะหัวใจหลักคือการให้ผู้สูงอายุเป็นแกนกลางทำงานร่วมกัน บนสมมติฐานว่าไม่มีใครที่จะรู้ความตั้งใจของผู้สูงอายุได้เท่ากับผู้สูงอายุวัยเดียวกันนั่นเอง ผลที่ได้นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2550 จนถึงสิ้นสุดโครงการเมื่อปี 2557 คือการสนับสนุนให้เกิดการตั้งชมรมผู้สูงอายุในชุมชนทั่วประเทศมากกว่า 650 ชมรม พร้อมกับที่สนับสนุนให้องค์ประกอบต่างๆ ในชุมชนเข้าร่วมด้วย เกิดอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครเยาว์วัยใส่ใจผู้สูงอายุ (อผส.น้อย) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้ามาร่วมงานดูแล

นางธิดา ศรีไพพรรณ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ผู้อำนวยการแผนงานผู้สูงอายุ สสส. กล่าวสรุปผลว่า แนวทางดังกล่าวนี้ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการสนับสนุนให้ชุมชน และกลุ่มผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ซับซ้อนแต่ได้ผล เช่น การเยี่ยมเยียนสมาชิกผู้สูงอายุตามบ้านเพื่อทำกิจกรรมตามที่กล่าวข้างต้น

"เมื่อคนในชุมชนเห็นด้วย ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น474 แห่ง ก็รับช่วงให้การสนับสนุนต่อ โดยนำไปบรรจุเป็นแผนงานนโยบาย ขณะที่ชุมชนเองก็มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว จึงคิดจะใช้ต้นทุนในส่วนนี้มาร่วมด้วย เมื่อลงพื้นที่จริงก็พบเช่นนั้น เช่น เมื่อผู้สูงอายุเห็นลูกหลานเห็นเด็กๆ ที่เป็นอาสาสมัครมาเยี่ยม มานวดให้ ก็ดีใจ หรือบางกรณีมีผู้สูงอายุอยู่รายหนึ่ง เมื่อไปเยี่ยมแรกๆ แกไม่พูดจาจนทุกคนที่ไปเข้าใจว่าแกเป็นใบ้ แต่หลังจากไปอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ผ่านไป 3 เดือนผ่านไปท่านเริ่มพูดเริ่มสื่อสารกับเด็กๆ ที่ไปเยี่ยม" ผู้อำนวยการแผนงานผู้สูงอายุกล่าว

นอกจากนี้เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการฯได้ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน ณ พื้นที่บ้านป่ายาง ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา และบ้านท่านางหอม ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ติดตามผลจากแนวทางการให้ผู้สูงอายุรวมตัวทำกิจกรรมร่วมรวมกัน และตลอดเวลาที่ลงพื้นที่นอกจากจะมีกระแสตอบรับที่ดีจากคนในชุมชนแล้ว ในมุมของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนต่างให้ข้อเสนอที่น่าสนใจและเป็นแรงขับเคลื่อนให้แนวทางเช่นนี้ได้ถูกสานต่อ

ตัวอย่างจาก นางฉลวง บูลวิบูลรณ์ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันอายุ 60 ปี เล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบให้มีเด็กๆ อาสาสมัครมาเยี่ยมนั่นเพราะการมาของอาสาสมัครแต่ละครั้ง จะมาเช็ดตัว อาบน้ำ และนวดให้ มีการพูดคุยกันและช่วยตอบสนองในเรื่องของจิตใจแก่ผู้สูงอายุได้ดี "ดีใจที่มีเด็กและเพื่อนผู้สูงอายุมาเยี่ยม มีเพื่อนคุยไม่เหงา อยากให้มาเยี่ยมบ่อยๆ" คุณยายฉลวงเล่า

หรืออย่างในมุมของ นางรัตติยา ลายรักษ์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านป่ายาง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ที่กล่าวอย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมางานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจช่วยผู้สูงอายุได้ในเรื่องของสุขภาพกาย แต่การเปิดโอกาสให้ชุมชนซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุด้วยกันเองสามารถช่วยในเรื่องจิตใจเกิดความสัมพันธ์กันในหมู่บ้าน สามารถช่วยงานเจ้าหน้าที่ที่มีบุคลากรจำกัดได้ "เรามีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 4-5 คน เท่านั้น คงลงไปเยี่ยมทุกบ้านไม่ได้ แต่พอเรามีเครือข่ายมีอาสาสมัครจากคนในชุมชน ทีมเราก็มากขึ้น งานที่ทำก็ง่ายขึ้นด้วย เห็นเลยว่าผู้สูงอายุอยากมีส่วนร่วม ลดการซึมเศร้าได้ดี"เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบลสะท้อนความรู้สึกที่เกิดจากการทำงานในโครงการ

เป็นหนึ่งในภาพรวมของแนวทางการดูแลผู้สูงอายุที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมจะสานต่ออีกทางหนึ่ง

ติดตามเรื่องราว สุข สุข ได้ที่ https://www.facebook.com/krajaisukteam

หมายเลขบันทึก: 586473เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2015 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2015 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท