เมื่อความคิดถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบ


การสร้างคน และปลูกฝังคน ให้มีความคิดออกมาเป็นรูปแบบเดียวกันหมด มันง่ายแต่การปกครอง ง่ายต่อการควบคุม แต่ยากต่อการสร้างนวัตกรรมและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพราะการสร้างนวัตกรรมหรือคิดสิ่งใหม่ๆ ได้นั้น ต้องเกิดจากการคิดนอกกรอบ และเกิดจากการใช้จินตนาการบนฐานขององค์ความรู้ ที่สามารถสานต่อให้เป็นความจริง หรือเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้ ซึ่งจินตนาการของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้เมื่อความคิดถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบ

การกำหนดกรอบ สร้างกรอบ มาเพื่อครอบความคิดคนในสังคม หล่อหลอมความคิด และออกมาเป็นพฤติกรรมที่คล้ายๆ กัน คิดคล้ายๆ กัน โดยอาจจะกำหนดกรอบในรูปของการศึกษา ความเป็นอยู่ ให้คนในสังคมรู้่สึกคล้ายๆ เหมือนๆ กัน ที่สำคัญก็คือ การที่ทำให้คนที่อยู่ในกรอบ รู้สึกว่าเป็นอิสระในการเลือกให้มากที่สุด ไม่รู้สึกว่าถูกบีบ ไม่รู้สึกว่าอยู่ในกรอบ หรือถูกครอบความคิด เพราะทุกคนอยู่ในกรอบเหมือนกัน เลยไม่รู้สึกผิดปกติ และไม่เคยคิดที่จะออกนอกกรอบ แต่คนทีคิดนอกกรอบกลับถูกมองว่า แปลกแยก และจะถูกผลักออกจากสังคม เพราะถ้าเราดูให้ดี สังคมทุกสังคม จะวางกรอบเป็นรูปแบบที่ชัดเจนไว้แล้ว และจะเลี้ยงคน ดูแลคนให้การศึกษาคนในสังคมตามรูปแบบนั้น ความคิดคนก็เลยเป็นไปในแนวเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการปกครอง และง่ายต่อควบคุม

แต่กรอบที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ การล้อมกรอบด้วยกระแสสังคม ล้อมกรอบด้วยการยอมรับของมนุษย์ ล้อมกรอบด้วยพฤติกรรมที่เหมือนกันของคนในสังคม ซึ่งทำให้คนในสังคมรู้สึกว่า หากใครก็ตามที่มีพฤติกรรมหรือการกระทำเหมือนกันในสังคมเป็นปกติ ยกตัวอย่างกรอบกระแสที่มีอิทธิพลการความคิดของคน เช่น การมีกิ๊ก หรือการมีแฟนหลายคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม แต่เมื่อทำกันทั้งสังคม ทำให้คนในสังคมมองพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งปกติ และเป็นเรื่องธรรมดา

หากเราไม่ฝึกคิด ไม่พยายามที่จะศึกษาวิธีคิด ไม่พยายามที่จะคิดให้เป็น ไม่พยายามที่จะรู้ทันกระแสสังคม เราก็จะถูกจำกัดกรอบความคิดโดยไม่รู้ตัว และจะไม่เฉลียวใจเลยว่า เรากำลังถูกล้อมกรอบความคิดทางสังคม จนทำให้เราไม่คิดที่จะเดินออกจากกรอบนั้นได้เลย

ถ้าคนในสังคมถูกหล่อหลอมให้เป็นอย่างนี้แล้ว จะให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างไร จะเกิดการพัฒนาได้อย่างไร เกิดการสร้างงานด้วยตัวเองได้อย่างไร และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่สามารถเกิดได้หากความคิดถูกขีดกรอบ



หมายเลขบันทึก: 586280เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2015 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2015 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท