ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 1


ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 1

ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 1

"ประเด็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง และมีเลขประจำตัว 13 หลักจากการถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลข 0) สามารถแจ้งเกิด(ขอสูติบัตร)ได้หรือไม่ ?" [1]

ข้อมูลบุคคลและข้อเท็จจริง

ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล

เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 ปัจจุบันอายุ 14 ปี

เกิดที่แม่ตาวคลินิก เลขที่ 865 หมู่ที่ 1 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จังหวัดตาก (แม่ตาวคลินิก ถือว่าเป็นการเกิดนอกสถานพยาบาล)

มีหนังสือรับรองการเกิดจากแม่ตาวคลินิก เลขที่ 14015/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 (ออกย้อนหลัง) โดยมีหลักฐานหลักฐานว่ามารดาของ ด.ญ.ธิชาพรมาฝากครรภ์ที่แม่ตาวคลินิก ทั้งนี้ได้มีการแจ้งความไว้ ที่ สภ.แม่สอดแล้ว เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557

มารดาชื่อนางโซโซ เป็นบุคคลต่างด้าวไม่ปรากฏสถานะทางกฎหมาย เมื่อคลอดลูกยังไม่ทันให้นมลูก นางโซโซ มารดาก็หลบหนีออกจากแม่ตาวคลินิก คุณหมอซินเทีย ค่า แม่ตาวคลินิก จึงได้รับอุปการะ ด.ญ. ธิชาพรไว้จนถึงปัจจุบัน

บิดาไม่ปรากฏ

คุณหมอซินเทีย กับเจ้าหน้าที่แม่ตาวคลินิก สามารถเป็นพยานบุคคลยืนยันได้ว่า ด.ญ.ธิชาพรเกิดที่แม่ตาวคลินิก ยืนยันการคลอด และยืนยันการถูกทอดทิ้งได้

ด.ญ.ธิชาพรได้เข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ ที่โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว และได้รับการสำรวจแบบ 89 และถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ 0-6398-89005-68-3 ออกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551

ปัจจุบัน ด.ญ. ธิชาพร ไปเรียนต่อที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 คุณซินเทีย ค่า ได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดตาก (พมจ.ตาก) เพื่อขอให้ พมจ.ตากดำเนินการทางทะเบียน โดยการออกสูติบัตรให้ ด.ญ.ธิชาพรและขอเป็นผู้คุ้มครองสวัสดิภาพของ ด.ญ.ธิชาพร ทาง พมจ.ตาก ก็ได้ประสานงานกับเทศบาลเมืองตาก เพื่อขอให้ดำเนินการให้ และทาง เทศบาลเมืองตากจึงได้มีหนังสือชี้แจงตามสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองตากที่ ตก 52001/159 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 เรื่อง การแจ้งเกิดเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งราย ด.ญ.ธิชาพร –

ทางเทศบาลเมืองตากไม่ได้ขอให้มีพยานบุคคล แต่แจ้งว่า ด.ญ.ธิชาพรไม่เข้าเงื่อนไขที่จะแจ้งเกิดเพราะ ด.ญ.ธิชาพรมีเลขบุคคล 13 หลักแล้ว และ มีคำแนะนำตอนท้ายหนังสือให้ไปยื่นขอ ท.ร. 20/1 ได้

บทวิเคราะห์ตอนที่ 1

ในความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนมีข้อสังเกตมีบทวิเคราะห์รวม 2 ตอน ในกรณีบุคคลขอแจ้งเกิดที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขบุคคลอยู่แล้ว (ในที่นี้คือเลข "0") ซึ่งผู้เขียนได้ให้ความเห็นไปแล้วในในเฟซบุ๊ค ทั้งสองตอน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558, เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นจากประสบการณ์ จึงขอนำมาลงซ้ำอีกครั้ง

ประเด็นที่ 1 "การแจ้งการเกิด ต้องออกหลักฐานสูติบัตรทุกรายไว้เป็นหลักฐานหรือไม่"

การแจ้งการเกิดสามารถแยกได้เป็น 2 กรณี คือ

(1.1) มีการแจ้งเกิด โดยปกติการแจ้งการเกิดไม่ว่า ท.ร.1 ท.ร.2 หรือ ท.ร.3 ท.ร.03 ท.ร.031 ก็จะมีเลขบุคคล 13 หลัก ตามมาตรา 18 [2] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

(1.2) ไม่มีการแจ้งเกิด แต่มีเลขประจำตัว 13 หลักคือบุคคลเลข "5" (ไทย) เลข "6,7" (ไม่ได้สัญชาติไทย) เลข "0" (ไม่มีสถานะทางทะเบียน) "00" (แรงงานต่างด้าว3สัญชาติ) ตามมาตรา 38 วรรคสอง [3] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

ประเด็นที่ 2 มีข้อพิจารณาในดำเนินการอย่างไร

(2.1) ในทางปฏิบัติ กรณีบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขบุคคลแล้ว การจะเปลี่ยนเลขบุคคลเดิมไปเป็นเลขอื่น ต้องทำการยกเลิกเพิกถอนเลขเดิมเสียก่อน ดำเนินการโดยศูนย์ภาค (หรือศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากสำนักทะเบียนกลาง) หรือหากเป็นกรณีขอลงรายการสัญชาติไทยจากเลข "7" (ท.ร.3) ไปเป็น "สัญชาติไทย" เลข "8" ก็ไม่ต้องแจ้งการเกิดใหม่ และไม่ต้องยกเลิกสูติบัตรเดิม (ท.ร.3) แต่ให้หมายเหตุไว้ตอนท้าย สูติบัตร ท.ร.3 ว่าได้เลขประจำตัวประชาชนใหม่ (เป็นไทยเลข "8")

(2.2) ในกรณีนี้น่าจะหมายรวมถึง ท.ร.03 ท.ร.031 ด้วย หากมีการได้รับสัญชาติไทย ก็ไม่ต้องมีการแจ้งการเกิดใหม่แต่อย่างใด เพราะมี "สูติบัตร" เดิมอยู่แล้ว เพียงแต่หมายเหตุเลขบุคคล "ใหม่" ไว้ในสูติบัตรเช่นเดียวกับในกรณีของ ท.ร.3

(2.3) สำหรับกรณีบุคคลเลข "0" หากเป็นกรณีพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคล "มีสัญชาติไทย ตามบทบัญญัติของกฎหมาย" น่าจะสามารถดำเนินการได้แจ้งเกิดใหม่ได้ แต่ต้องยกเลิก เลขบุคคลเดิม คือ เลข "0" เสียก่อน แล้วแจ้งเกิด ท.ร.2 หรือขอเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย เลข "5" ต่อไป

(2.4) สำหรับกรณีบุคคลเลข "6" หรือ เลข "7" หากมีการลงรายการกำหนดเลขบุคคลเลข "6" หรือ เลข "7" ผิดพลาด เพราะเป็นบุคคล "สัญชาติไทย" ก็สามารถขอยกเลิกเลขเดิม "เลข 6" หรือ "เลข 7" แล้วก็ขอใช้สิทธิ "แจ้งเกิดของบุคคลสัญชาติไทย" ตาม ท.ร.2 (ไม่ว่าอายุจะเกินกว่า 7 ปีหรือไม่เกิน 7 ปี) [4] หากเจ้าตัวมีความประสงค์มี "สูติบัตร"

ประเด็นที่ 3 ข้อสรุปจากการวิเคราะห์เบื้องต้น

(3.1) ฉะนั้น การพิจารณาว่าจะต้องออกสูติบัตร (ท.ร.1 ท.ร.2 หรือ ท.ร.3 ท.ร.03 ท.ร.031) หรือ ท.ร. 20/1 (หนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20/1 แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534) [5] ในทางปฏิบัติจึงไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแต่อย่างใด เพียงแต่หากจะขอแจ้งการเกิดใหม่ ต้องยกเลิกเลขบุคคลเดิม และต้องมีเหตุผลในการขอยกเลิกเลขเดิม (ยกเว้นบุคคลเลข "7" เลข "0" ที่มีสูติบัตรเดิมอยู่แล้ว เพียงหมายเหตุเลขบุคคลใหม่ไว้ใน ท.ร.3 ท.ร.03 หรือ ท.ร.031 นั้น) เช่น ลงเลขบุคคล "ผิด" เป็นต้น โดยมีพยานหลักฐานยืนยันแก้ไข เช่น สอบสวนพยานบุคคลอนุมัติเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย หรือมีหลักฐานทางวิทยาศาตร์ (DNA) เป็นต้น

(3.2) ตามมาตรา 19/1 [6] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ในกรณีของเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนฯ ซึ่งยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ... เห็นว่าเป็นกรณีที่หน่วยงานองค์กรฯ จะแจ้งเกิด แต่ปรากฏว่ามีเลขบุคคลแล้ว (เลข 0) หากผู้ยื่นคำร้องไม่ต้องการหลักฐาน "สูติบัตร"ก็ไม่จำเป็นต้องขอแจ้งเกิดใหม่ เพราะการแจ้งการเกิดใหม่ก็ต้องได้เลขบุคคล 13 หลักใหม่ การมีเลขบุคคล 13 หลักอยู่แล้วก็ใช้ได้แต่หากปรากฏว่า "เด็ก" เป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย (พิสูจน์ได้ว่าเป็นบุตรคนไทย) ก็ต้องยกเลิกเลข "0" แล้วก็สามารถแจ้งการเกิดใหม่ (เลข "2") ได้เพราะเด็กเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่จำเป็นต้องขอเพิ่มชื่อเป็นบุคคล เลข "5" เสมอไป

(3.3) สรุปประเด็นเรื่อง "การเสียสิทธิ" เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (ตามมาตรา 20/1) หรือไม่ เห็นว่า เด็กที่มีเลขบุคคล 13 หลักอยู่แล้วไม่น่าเสียสิทธิใด ๆ เพียงแต่เป็นเลขบุคคลที่กฎหมายไทยยังไม่ยอมรับว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติ "ไทย" เท่านั้น แต่สิทธิในความเป็นประชาชนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หรือเรียกวา "ราษฎรไทย" [7] หรือ "พลเมืองไทย" หรือ "ความเปนไทย" ก็ยังคงมีอยู่ ฉะนั้นสิทธิต่าง ๆ ย่อมต้อง "บกพร่อง" ไม่เหมือนคนไทย เช่น ในเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่ สิทธิการทำงานของคนไทย สิทธิการศึกษาสำหรับคนไทย หรือสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลในบางกรณี จึงเป็นการเสียสิทธิ "Health for All" ไปโดยปริยาย เป็นต้น

++++++++++++++++++++


[1] ข้อเท็จจริงกรณี ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล, 13 มกราคม 2558, โดย นางสาวคอรีเยาะ มานุแช(Koreeyor Manuchae), นักกฎหมายองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี้, https://www.facebook.com/koreeyor.manuchae?fref=ts

[2] มาตรา 18 เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิด ดังต่อไปนี้

(1) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด

(2) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด

การแจ้งตาม (1) และ (2) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

(มาตรา 18 วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[3] มาตรา 38 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 38 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[4] หนังสือเวียนกรมการปกครอง ที่ มท.0322/ว.36 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2535 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน โดยสาระสำคัญกล่าวไว้โดยสรุปได้ว่า "ผู้ขอเพิ่มชื่อโดยใช้วิธีการแจ้งเกิดเกินกำหนด หากอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ และมีผลการสอบสวนน่าเชื่อได้ว่าเกิดในประเทศไทย แต่ไม่อาจหาพยานบุคคลหรือพยานเอกสารมายืนยันได้ ก็ให้ดำเนินการเพิ่มชื่อแต่ไม่ออกสูติบัตรให้"

และ หนังสือเวียนกรมการปกครอง ที่ มท.0309/ว.9 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 เรื่อง การแจ้งเกิดการเกิดและการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน โดยสาระสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในการขอจดทะเบียนการเกิด คือมีการระบุในคำสั่งว่า "กรณีผู้ขอมีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นผู้ที่เกิดในเขตพื้นที่ของสำนักทะเบียนที่ยื่นคำร้อง ไม่ว่าจะมีหลักฐานหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) หรือไม่ก็ตาม ให้ใช้วิธีการแจ้งการเกิดหรือแจ้งการเกิดเกินกำหนดสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุเกินกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ให้ใช้วิธีการเพิ่มชื่อโดยไม่ออกสูติบัตร เว้นแต่ผู้นั้นจะมีความจำเป็นต้องใช้สูติบัตร ก็ให้นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดได้ แต่ทั้งนี้ไม่ควรเป็นผู้ที่อยู่ในวัยที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายแล้ว"

ตาม ข้อ 97 วรรคสอง แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

การเพิ่มชื่อตามวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านมีอายุตํ่ากว่า 7 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุอันควรสงสัยเรื่องสัญชาติของบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อ ให้นายทะเบียนรวบรวมหลักฐานเสนอขอความเห็นชอบจากนายอำเภอท้องที่ก่อนพิจารณาอนุญาต

(แก้ไขตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545)

[5] มาตรา 20/1 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 20/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[6] มาตรา 19/1 เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 19/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[7] บงกช นภาอัมพร,เอกสารประกอบข้อเสนอเพื่อการยกรางรัฐธรรมนูญในประเด็น "ขอบเขตความคุมครองบุคคลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม", ผูชวยทางวิชาการและผูชวยดําเนินงานในสภาปฏิรูปแหงชาติของ รศ.ดร.พันธุทิพย กาญจนะจิตรา สายสุนทร ภายใต การทํางานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผูสูงอายุ ผูพิการ และผูดอยโอกาส, 27 มกราคม 2558, https://drive.google.com/file/d/0B9wioibr8vP1dG5uYW1vRlAzUVE/view

หมายเลขบันทึก: 584739เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2015 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2015 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท