ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือเชื้อไฟในไฟใต้


สิ่งแวดล้อม

วิธีลดปัญหาความรุนแรงทางหนึ่งคือ ลดความกดดันเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรโดยการให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากร โดยกอส.เสนอให้ออกกฎหมายให้ชุมชนมีสิทธิจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนา โดยวิธีให้ปฎิรูประบบการจัดการและระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ท้องน้ำ ทะเลชายฝั่ง ป่าพรุ ตลอดจนป่าชุมชน ให้ชุมชนมีสิทธิมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ (คณะกรรมการอิสระ เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2549) เนื่องจากสิ่งพบในขณะนี้คือ หมู่บ้านที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรง มักจะมีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประชาชนกับภาครัฐและประชาชนกับนายทุน โดยเฉพาะหหมู่บ้านริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่มีอาชีพประมง ก็ถูกแย่งชิงทรัพยากรปลาโดยนายทุนที่ทำประมงแบบใช้อวนรุนอวนลากในการหาปลา ซึ่งทำให้รายได้ของเขาลดน้อยลงจากในอดีต รัฐจึงควรให้ความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการเหล่านั้น ผลคือไม่ใช่เพียงแค่ลดความรุนแรงในพื้นที่ แต่สามารถลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังที่ในปัจจุบันแทบจะทุกวันมักจะมีข่าวตามสื่อต่างๆเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆหรือไม่ก็เป็นการประกาศเตือนให้ระมัดระวังภัย ที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เช่น การเกิดน้ำท่วมดินโคลนถล่ม ซึ่งเมื่อไม่นานนี้เองประเทศไทยก็ได้ประสบภัยจากน้ำป่าไหลหลาก ตามด้วยดินโคลนถล่มบ้านเรือนพังเสียหาย ที่สำคัญได้คร่าชีวิตประชาชนหลายร้อยคน นี่ยังไม่ได้คิดภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมาในห้วง 10 ปีที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่าได้ทำลายทรัพย์สินหรือชีวิตมากกว่าการทำสงครามเสียอีก เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่มีขอบเขตหรือกินพื้นที่ไปหลายประเทศ เช่น สึนามิ จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่มีพรมแดน และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนลดลง ดังนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ของคนกลุ่มเดียวที่จะแก้ปัญหา คนทุกคนมีหน้าที่ปกป้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพที่สมบูรณ์และคงความสมดุลในระบบนิเวศวิทยา ทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทุเลาลง

ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาความเข้าใจของอิสลามในประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะมุสลิมจะยอมรับวิธีการทีอิสลามระบุไว้ โดยอิสลามระบุว่า ทรัพยากรธรรมชาตินั้น อัลลอฮทรงประทานมาเพื่อมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง ทุกคนมีหน้าที่ดูแลและใช้ประโยชน์จากมันให้นานที่สุด เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ใช้เหมือนกับเรา ดังในหนังสืออิสลามกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขียนโดย Akhtaruddin Ahmad และคณะได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า มีสามสิ่งที่ชัดเจนมากซึ่งวางรากฐานอยู่บนคัมภีร์อัลกุรอานและแบบอย่างคำสอนของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.) และบรรดาผู้สืบทอดอำนาจที่ถูกต้องในหนทางที่ถูกต้อง เกี่ยวกับอิสลามปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม คือ

1. จักรวาลทั้งหมดเป็นสิ่งที่อัลลอฮ.ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกับระบบและความสมดุลระหว่างสรรพสิ่งทั้งมวล ดังนั้นเราจะต้องรักษาสิ่งดังกล่าวโดยหลักความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวและโดยการเคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น อัลลอฮ.ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานมีความว่า “จงสดุดีพระนามของพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงสูงส่ง และผู้ทรงนำทาง และผู้ทรงทำให้สมบูรณ์ ผู้ทรงกำหนดกฎระเบียบและผู้ทรงนำทาง และผู้ทรงทำให้ทุ่งหญ้างอกเงยออกมาแล้วทำให้มันแห้งเป็นซังสีคล้ำ” (อัลกุรอาน 87:1-5 และดูอัลกุรอาน 55:3-9 ด้วย)

2. ถ้าหากมนุษย์ปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทน (เคาะลีฟะฮ.) ของอัลลอฮ.บนหน้าแผ่นดิน โดยที่เขาเป็นผู้ดูแลมนุษย์และสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา เขาจะต้องรับผิดชอบต่ออัลลอฮ.สำหรับความไว้วางใจที่ถูกมอบหมายให้ (อามานะฮ.) ดังที่อัลลอฮ.ได้ทรงตรัสว่า “ดังนั้น เราได้ทำให้เขาเป็นผู้สืบทอด (คุลาฟะห์) ในแผ่นดิน หลังจากพวกเขาเพื่อดูว่าสูเจ้าปฎิบัติอย่างไร” (อัลกุรอาน 10:14 และดูอัลกุรอาน 6:165 ด้วย)

3. มนุษย์เองที่ต้องดำเนินชีวิตไปตามแนวทางที่อัลลอฮ.ได้ประทานลงมาเพื่อหลีกเลี่ยงความหายนะในโลกนี้และโลกหน้า (ซึ่งรวมถึงหายนะที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม) แนวทางนี้มิได้จำกัดอยู่แค่แต่เพียงพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่างเท่านั้น แต่มันเป็นแนวทางแห่งการทำดีที่จะต้องปฏิบัติในชีวิตของมนุษย์ซึ่งได้ถูกวางไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานและแบบอย่างของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล.) ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งเรื่องเล็กน้อยและเรื่องใหญ่ๆ ด้วยการปฏิบัติตัวทางสังคมอย่างดีที่สุด มันไม่ใช่แค่เพียงการมาร่วมนมาซวันศุกร์ แต่มันเป็นการปฏิบัติตามแนวทางแห่งชีวิตประจำวันด้วยความรับผิดชอบและต้องตอบต่ออัลลอฮ.ผู้ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย จงเคารพภักดีและเชื่อฟังพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ผู้ทรงบังเกิดสูเจ้าและบรรดาผู้มาก่อนสูเจ้าเถิด เพื่อที่ว่าสูเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัลกุรอาน 2:21 และดูอัลกุรอาน 51:56 ด้วย) การประทานวจนะมายังบรรดาศาสดาก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีการอ้างถึงปัญหาทั้งหมดที่มนุษย์จะต้องเผชิญบนโลกนี้ แต่อัลลอฮ.ทรงกล่าวไว้ว่า “เราได้ให้คำอุปมาทุกอย่างในอัลกุรอานที่จะทำให้คนเข้าใจในสาส์นของมัน แต่โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ชอบที่จะโต้เถียงกันในเรื่องต่างๆมากมาย” (อัลกุรอาน 18:54) อีกสิ่งนึ่งที่ได้ถูกห้ามอย่างรุนแรงในอิสลามก็คือการสร้างความเสียหาย (ฟะซาต) คำนี้ใช้กับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

ดังนั้นการสิ้นเปลืองหรือการสร้างความเสียหายให้แก่อาหาร น้ำ ป่าไม้ แผ่นดินหรืออากาศและชีวิตใดๆของอัลลอฮ.จึงได้ถูกห้ามอย่างเข้มงวดครั้งแล้วครั้งเล่าในคัมภีร์อัลกรุอาน เช่น “ความเสียหายได้ปรากฏขึ้นในบนแผ่นดินและในน่านน้ำอันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์เอง ซึ่งพระองค์จะทรงทำให้พวกเขาได้ลิ้มรสบางอย่างที่พวกเขาทำไว้ เพื่อที่พวกเขาจะได้หันกลับมาปรับปรุงตนเอง” (อัลกุรอาน 30:41) จะเห็นได้ว่าอิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นคนมุสลิมทุกคนจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทุกคนที่ยำเกรงต่ออัลลอฮ. ซุบฮานะฮูวาตาอาลา ต้องทำหน้าที่ในการรักษาความสมดุลของธรรมชาติที่อัลลอฮ.ประทานลงมาให้ และต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเป็นผู้ก่อมลพิษ โดยทุกคนสามารถที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมถ้าหากมันเกิดขึ้นมา โดยที่ต้องดูว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน ตรวจสอบในแต่ละส่วนประกอบของสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์ปัญหาว่ามีแนวทางไหนบ้างที่สามารถนำมาแก้ปัญหาได้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมในปี 2535 ที่รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือนำมาปฏิบัติได้จริง ในปี 2548 นายกทักษิณเห็นชอบให้ประกาศใช้ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นแนวทางในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบและง่ายในการนำมาปฏิบัติ ซึ่งก็ยังไม่เป็นผลในการนำมาปฏิบัติย่างชัดเจนเพียงพอ

จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีพี่น้องมุสลิมเป็นจำนวนมาก มากพอที่สามารถทำอันตรายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าหากไม่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็จะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ เช่น มลภาวะของน้ำ อากาศ ดิน เสียง และสารพิษ ทำให้กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ในสังคมสามจังหวัดชายแดนใต้ การจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับมุสลิมนั้น ต้องใช้หลักการของอิสลามมาใช้ เพราะเขาจะยอมรับได้ง่ายที่สุด ส่วนในการแก้ปัญหาภาคใต้ในประเด็นอื่นๆ ควรมองปัญหาอย่างเป็นระบบ ควรมีการจัดการความรู้เกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อนำมาลำดับว่าควรแก้ตรงจุดใหนก่อน และต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในอาชีพต่างๆ และต้องเข้าใจมุสลิมอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #สิ่งแวดล้อม
หมายเลขบันทึก: 58459เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท