งานสัมมนาทางวิชาการ From Green University to Sustainable University Campus: Experiences from the University of Hong Kong


เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 สถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง From Green University to Sustainable University Campus: Experiences from the University of Hong Kong โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาการทำงานของเครือข่าย International Sustainable Campus Network (ISCN) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของวิทยากรไทยและต่างประเทศจาก University of Hong Kong รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ยั่งยืน รูปแบบของการจัดการมีการผสมผสานทั้งการบรรยายจากวิทยากรรับเชิญทั้งภาคภาษาอังกฤษ และเวทีบรรยายโดยวิทยากรรับเชิญจากภาคสถาบันอุดมศึกษาไทย ในช่วงเช้าภายหลังจากการกล่าวต้อนรับ และแนะนำเครือข่าย ISCN รวมถึงกิจกรรมในช่วงปีที่ผ่านมา โดยท่านศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวัติ บุญหลง ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติแล้ว เป็นการบรรยายภาคภาษาอังกกฤษโดยวิทยากรรับเชิญ Ms. Ann Kildahl, Sustainability Manager จาก University of Hong Kong ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ "Sustainable Campus: global trends and good practice, ISCN" "Sustainable Campus Initiatives: a case of University of Hong Kong" และ "Sustainable Campus: guideline for measuring outcomes" เนื้อหาโดยสรุปในช่วงของหัวข้อแรกวิทยากรได้กล่าวถึงความเป็นมา วัตถุประสงค์ รวมถึแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ซึ่งการสร้างความยั่งยืนให้กับมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นกับ 4 มิติองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ (Economic) มิติสิ่งแวดล้อม (Environment) มิติสังคม (Social) และมิติการกำกับดูแล (Governance) นอกจากนี้ยังได้นำเสนอกิจกรรมที่ผ่านมาของเครือข่าย ISCN โดยเฉพาะกิจกรรมงาน ISCN 2014 Conference ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และกิจกรรมงาน ISCN 2015 Conference ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนปีนี้ที่ University of Hong Kong ในหัวข้อที่สองวิทยากรได้นำเสนอนโยบาย แนวทาง รวมถึงประสบการณ์การพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนของ University of Hong Kong ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตได้ถึงแนวทางการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่เพียงเฉพาะผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย แต่ยังมีความพยายามที่จะสร้างแรงจูงใจเพื่อการปลูกฝังแนวคิดของความยั่งยืนสู่นักศึกษา และชุมชนโดยรอบ ผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่หลากหลาย อาทิเช่น การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการปลูกต้นไม้ภายในอาคาร เป็นต้น ช่วงสุดท้ายของการนำเสนอในภาคเช้าวิทยากรรับเชิญได้แลกเปลี่ยนแนวทางการชี้วัดผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ซึ่งทาง University of Hong Kong ใช้แนวทางการชี้วัดตามหลักการรายงานผลความยั่งยืน เวอร์ชั่น G4 (Sustainability Reporting Guideline: G4) ของ Global Reporting Initiative ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่งในการเป็นตัวอย่างและขยายผลสู่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอผลที่ได้จากไปร่วมกิจกรรมงาน ISCN 2014 Conference รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัยไทย โดยวิทยากรรับเชิญจำนวน 5 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี อิสรไกรศีล อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอความประทับ และสิ่งที่ได้จากงาน ISCN 2014 Conference ในการนำมาเป็นส่วนช่วยเสริมต่อนโยบาย และกิจกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลสู่ Eco-University ภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ นำเสนอนโยบาย และกิจกรรมความสำเร็จของการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ด้วยการผสมผสานอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเรื่องของสังคมลงไปในนโยบาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย ตันรัตนวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอกิจกรรมการดำเนินงานเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ซึ่งได้ให้แง่มุมของการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในแง่ของกฏหมาย และการสร้างความร่วมมือกับชุมชนโดยรอบไว้อย่างน่าสนใจ รองศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีด้านบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอแนวทางการพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนตามแนวทางของ ISCN รวมถึงผลสำเร็จของกิจกรรมการดำเนินงานสู่ความยั่งยืนที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยไว้ได้อย่างน่าสนใจ ช่วงท้ายสุดเป็นเวทีของการถาม ตอบ จากผู้เข้าร่วมงานและวิทยากรรับเชิญ ซึ่งได้ทิ้งแง่มุมความคิดเชิงโครงสร้างของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีสำนักงานความยั่งยืน (Sustainability Office) ภายในองค์กร เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย ตรวจสอบ และรายงานผลตามรายกิจกรรมต่างๆของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงการริเริ่มรวมตัวของมหาวิทยาลัยภายในประเทศไทยในการสร้างเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน

สิ่งที่ได้จากการสัมมนาทางวิชาการตลอดทั้งวัน ทั้งกรณีศึกษาของวิทยากรต่างประเทศ และวิทยากรภายในประเทศ สามารถสรุปได้ว่าสิ่งสำคัญของการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนยังคงต้องเน้นการบูรณาการของ 2 ส่วนสำคัญที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วในอดีต ได้แก่ 1) ส่วนของ Software ในด้านการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่แต่เฉพาะภายในมหาวิทยาลัย การสร้างความตระหนัก และแรงกระตุ้นโดยเฉพาะนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวออกไปมีบทบาทสำคัญต่อสังคมในอนาคต และการลงทุนที่จำเป็นต้องปรับแนวคิดของผู้บริหารหากต้องการความสำเร็จและความยั่งยืนในระยะยาว 2) ส่วนของ Hardware ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค ซึ่งต้องการแนวคิดของความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงความเหมาะสมต่อบริบท โครงสร้างพื้นฐานในแต่ละมหาวิทยาลัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่เน้นความคิดเชิงสร้างสรรค์ด้วยการสร้างความมีส่วนร่วมจากนักศึกษา และเครื่องมือเพื่อการจัดการที่เหมาะในแต่ละบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย ทั้งนี้นโยบาย และแนวทางการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน อาจมีความคล้ายกันได้บ้างแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์และบริบทที่แตกต่างของแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ สุดท้ายต้องขอขอบคุณสถาบันคลังสมองของชาติที่เป็นตัวกลางในการจัดเวทีดังกล่าว ด้วยหวังว่าสถาบันการศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับสังคมจะเริ่มหันมาพัฒนาองค์กรตนเองสู่ความยั่งยืนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อองค์กรอื่นๆภายในสังคมต่อไปครับ

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต

รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล

25 มกราคม พ.ศ. 2558

คำสำคัญ (Tags): #Sustainable Campus#university
หมายเลขบันทึก: 584483เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2015 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2015 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากเลยครับ

แถมละเอียดมากด้วย

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท