BP_ครูเพ็ญศรี


BP_ครูเพ็ญศรี ใจกล้า

เมื่อประมาณปี 2550 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายจาก ดร.ทิศนา แขมมณี ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ80พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ช่วงหนึ่งว่า "การเรียนรู้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายด้วยตนเอง โดยมีครูผู้สอนทำหน้าที่ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ช่วยชี้แนะ อำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เรียนให้ดำเนินการเรียนรู้ไปสู่จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ ครูต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยการสอน นะคะ" เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ฟังและทำความเข้าใจกับคำว่านักเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นศูนย์กลาง การสร้างองค์ความรู้ การเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เป็นศัพท์ใหม่สำหรับครูเก่าๆอย่างข้าพเจ้า และเป็นคำถามที่ท้าทายว่าทำอย่างไรให้ผู้เรียนเกิดทักษะศตวรรษที่21 ซึ่งต่อมาถูกกำหนดเป็นเป้าหมายจนกลายเป็นกระแสของวงการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ว่าเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะศตวรรษที่21ผู้เรียนต้องสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีมากมายหลายวิธีแต่ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะศตวรรษที่21 ได้มากที่สุดน่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน(PBL)

เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะศตวรรษที่21 ข้าพเจ้าและคณะครูในระดับได้มีมติร่วมกันในการสร้างหน่วยการเรียนรู้ใหม่โดยที่ไม่บังเบียดเวลาของครูและเมื่อสิ้นสุดหน่วยการเรียน ผู้เรียนต้องผ่านตัวชี้วัดตามที่หลักสูตรกำหนด เป็นหน่วยบูรณาการแบบสหวิชา ในช่วงระยะแรกของการขับเคลื่อน พวกเราให้วิชาที่เป็นแกนในการขับเคลื่อนใช้เทคนิคการสอนแบบโครงงาน ทุกรายวิชาเอาผลการเรียนรู้ที่คาดหวังมาบูรณาการด้วยกัน และร่วมประเมินผลงานด้วยกัน ในครั้งนั้นพวกเราใช้วิชาสังคมในสาระเศรษฐศาสตร์ เรื่องการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป้าหมายของสาระคือ ให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองบนฐานตนเอง ชุมชน ท้องถิ่น ประเทศได้อย่างมีความสุข เป็นหน่วยพอเพียงและพวกเราใช้โมเดลนี้ว่า 3PBL_CYP_Model แต่เมื่อในปีพ.ศ.2556 โรงเรียนได้เปิดสอนในรายวิชาการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study : IS) เป็นตัวร้อยเชื่อมของทุกรายวิชา ในโมเดลเดิมคือ 3PBL_CYP_Model

วัตถุประสงค์ของ 3PBL_CYP_Model คือ การทำให้Young คนรุ่นใหม่ ต้องมี4เก่งคือ เก่งสื่อสาร เก่งคิด เก่งคน และเก่งชีวิต

1. เก่งสื่อสารคือจัดการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนใช้ทักษะการอ่านและการฟังเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และใช้ทักษะการพูดและการเขียน เป็นเครื่องมือในการนําเสนอความรู้และนวัตกรรมที่สร้างขึ้น

2. เก่งคิดคือ เชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่กับความรู้เดิม มุ่งสร้าง พัฒนาหรือปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ รวมทั้งเน้นกิจกรรมการแก้ปัญหา การใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ การตัดสินใจและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่นอกกรอบและเป็นอิสระ

3. เก่งคน คือ ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในโรงเรียน สังคมและชุมชน เน้นการบริการและบูรณะสังคมที่ตนเองดํารงอยู่ ตลอดจนนําเทคนิคต่างๆ ในการสื่อสารมาใช้เพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข เช่น เทคนิคการสนทนา เทคนิคการฟัง เทคนิคการเจรจาหรือเพื่อลดความขัดแย้ง เป็นต้น

4. เก่งชีวิตคือมุ่งให้ผู้เรียนเป็นผู้กําหนดเป้าหมาย สร้างทางเลือก ตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนและควบคุมกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รู้ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่มีความหมายต่อตนเองและมีปัญญาพิจารณาได้ด้วยว่าจะแก้ไขปัญหานั้นได้หลักเหตุผลและปัญญาอย่างไร

3PBL_CYP_Model : เชียงยืนพิทยาคม เป็นโมเดลกระบวนการเรียนรู้ 3PBL ได้แก่

Pattern-based Learning (การพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบ) เน้นการพัฒนาทักษะการคิด โดยใช้สื่อและแบบฟอร์มต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยในการ ถอดบทเรียน (สะท้อน ทบทวน แลกเปลี่ยน ระดมสมอง)

Project-based Learning (การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม/โครงการ) เน้นการ "ถอดบทเรียน" จากโครงการหรือกิจกรรม ที่ทําร่วมกัน โดยอาจเป็นกิจกรรมที่ครูเป็นผู้ออกแบบ กิจกรรมที่ทางโรงเรียนดําเนินการเป็นประจําทุกปี หรือกิจกรรมใดๆ ที่นักเรียนทําภายในโรงเรียน เช่น กิจกรรมลูกเสือ กิจกรรมชุมนุม ชมรม เป็นต้น รวมทั้ง กิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ ที่ครูเป็นผู้นําพา ทุกกิจกรรมจะต้องมีการ สร้างโอกาสให้นักเรียนได้ "ถอดบทเรียน" (ทํา BAR, DAR, AAR) ก่อนทํา ระหว่างทํา และหลังทํา.... นักเรียนจะได้ฝึกทักษะการคิดและทักษะการทํางานตามวงจรคุณภาพ (PDCA, Plan, Do, Check, Act)

Problem-based Learning (การพัฒนาการเรียนรู้บนฐานปัญหา) เน้น "การเรียนรู้ด้วยตนเอง" ของนักเรียน นักเรียนจะเป็นผู้ คิด ทํา และนําเสนอ ครูเป็นเพียงผู้อํานวย และช่วยเหลือแนะนําเพื่อเสริมแรงบันดาลใจเป็นหลัก PBL ที่ถูกต้องจะทําให้นักเรียนเกิด ทักษะในศตวรรษที่ 21 และพวกเขาจะเรียนอย่างมีความสุขสนุกที่ได้เรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ

กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะศตวรรษที่21

1.สร้างแรงบันดาลใจ คุณค่าของตนเองและของชุมชน

1.1นักเรียนนั่งเป็นวงกลมโดยครูเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม ทุกคนบอกความหมายและที่มาของชื่อตนเอง

1.2สมมุติว่านักเรียนมาจากดาวอังคารลองแนะนำตัวเองด้วยท่าทางที่ไม่เคยมีในโลก

1.3แนะนำเพื่อนที่ชื่นชอบพร้อมบอกความดีของเพื่อน

1.4แนะนำของดีที่มีในหมู่บ้านตนเอง

1.5นักเรียนเข้ากลุ่มกลุ่มละ5-6 ตามความสมัครใจ มีกติกา

- หมู่บ้านเดียวกันหรือใกล้เคียงกันควรอยู่กลุ่มเดียวกัน

- สมาชิกในกลุ่มห้ามหญิงล้วนหรือชายล้วน

- ตั้งชื่อกลุ่มพร้อมแสดงท่าประกอบ

- แบ่งหน้าที่รับผิดชอบในกลุ่ม

หมายเหตุ : ปกติจะแบ่งเด็กคละความสามารถ เก่ง: อ่อน : ปานกลาง แต่เนื่องกรณีนี้โรงเรียนคัดเกรด จึงให้เด็กเข้ากลุ่มตามความสมัครใจ

2 ฝึกคิดเบื้องต้น

2.1ฉายคลิปฆาตกรเงียบ (หมู่บ้านอินเดียที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตร)ฝึกคิด ฝึกจับประเด็น อย่างเป็นรูปแบบ

2.2 นักเรียนเข้ากลุ่มตามชั่วโมงที่แล้ว ระดมความคิด ด้วยชุดคำถาม

- นักเรียนเห็นอะไร รู้อะไร

- เกิดอะไรขึ้นที่หมู่บ้าน (ทำไมเกิด เพราะอะไร)

- ถ้าเป็นเราจะจะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างไร

3.วิเคราะห์ปัญหาชุมชนของตนเองใช้เครื่องมือแผนภาพต้นไม้

3.1 การเขียนแผนที่ชุมชน ด้วยชุดคำถาม

© ปัญหาชุมชน คืออะไร

© ทำไมจึงเกิดปัญหา เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไหร่

© เราได้รับผลกระทบอะไร

© เราเคยทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหา

© ถ้าเป็นเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

© ถ้าเราไม่แก้ปัญหาจะเกิดอะไรขึ้น

3.2 ถ้าต่อยอดจากงานรุ่นพี่ด้วยชุดคำถาม

© เห็นอะไรจากงานพี่เขา

© พี่เขาเสนอแนะไว้อย่างไร

© นักเรียนเห็นอะไรแตกต่างจากพี่เขา

© นักเรียนรู้อะไรจากงานพี่เขาบ้าง และอยากรู้อะไรเพิ่ม

4.เขียนเค้าโครงงาน : จากการวิเคราะห์ชุมชน (นักเรียนนั่งสมาธิทบทวนตนเองและชุมชน)ด้วยการระดมระดมความคิดโดยใช้แผนภาพต้นไม้

4.1 หลักการและเหตุผล

ในย่อหน้าแรก ด้วยคำถาม อะไรคือต้นทุนที่เราเคยทำมาแล้ว / สภาพทั่วไปของพื้นที่

ในย่อหน้าที่สอง ด้วยคำถาม ปัญหาคืออะไร สาเหตุปัญหาคืออะไร ผลกระทบเกิดขึ้นคืออะไร

ในย่อหน้าสาม ด้วยคำถาม ทำไมต้องแก้ปัญหา และภาพฝันที่ต้องการให้เกิด

4.2 เป้าหมาย : อะไรคือภาพความสำเร็จที่นักเรียนอยากเห็น

4.3 วัตถุประสงค์ : นักเรียนจะทำอะไร/เพื่ออะไร ให้บรรลุภาพความสำเร็จ

4.4 ผลที่คาดว่าจะได้รับ : เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อทำงานสำเร็จ

4.5กิจกรรมและขั้นตอนการดำเนินงาน ด้วยชุดคำถาม

- กิจกรรมอะไรที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์

- ขั้นตอนการดำเนินงาน ทำอย่างไร

- กลุ่มเป้าหมายคือใคร

- อะไรคือตัวบ่งชี้ว่างานเราสำเร็จ

5. ลงมือทำโครงงาน(ตลอดภาคเรียน)

5.1รวบรวมความรู้ หาข้อมูล(ด้วยชุดคำถาม)

© ทำไมถึงคิดจะทำ /ทำทำไม © คิดว่าตัวเองทำได้ไหม © รู้อะไร © อะไรที่ไม่รู้ © ทำอย่างไรจึงจะรู้

5.2 ลงมือทำ (ด้วยชุดคำถาม) © ทำอย่างไร © เกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ © แก้ปัญหาอย่างไร

5.3นำเสนอความก้าวหน้า : ปรับปรุง อะไร อย่างไร

6.เปิดโลกโครงงาน :

© ลงทะเบียนเลือกวิธีนำเสนองานด้วย วีดีโอ / นิทรรศการpower point

© ตั้งคณะกรรมการงานเปิดโลกโครงงาน

7. AAR (ถอดองค์ความรู้)นักเรียนแต่ละกลุ่มนั่งคุยกัน สรุปเขียนเป็นเรื่องเล่า ด้วยชุดคำถาม

- ได้เรียนรู้อะไร/ประโยชน์อะไร/ทักษะอะไร- เป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่- รู้สึกอย่างไร- ประทับใจอะไร

- ถ้ามีโอกาสจะพัฒนางานอย่างไร- จะนำความรู้ไปขยายผลหรือไม่ อย่างไร

- คิดว่าตนเองได้ใช้หลัก ปศพพ.ในการทำโครงงานครั้งนี้ หรือไม่ อย่างไร ตรงไหน

เทคนิคการสร้างโครงร่างโครงงานด้วยการจับ 5 ภาพละคร

หลังจากไปเรียนรู้กระบวนการละครกระบวนการ(กลุ่มมะขามป้อม) เราปรับขั้นตอน การวิเคราะห์ปัญหาและการเขียนเค้าโครงงานให้ง่ายขึ้นโดยใช้เครื่องมือ ๕ ภาพละคร หลังจากวิเคราะห์ ปัญหาด้วยเครื่องมือแผนภาพต้นไม้แล้ว ต่อด้วยการใช้จินตนาการในการภาพจับภาพ ๕ ภาพ มาทดลองใช้พบว่า ขั้นตอนหรือคําถามที่ยุ่งยากกลับวิธีการคือ จัดลําดับการระดมสมองออกเป็น ๕ ส่วน เรียกว่า ๕ ภาพ ซึ่งแต่ละภาพอาจนําเสนอด้วยการแสดงละคร จึงเรียกว่า ๕ ภาพละคร แต่ก่อนจะไปสร้างละครตามขั้นตอนต่างๆ ในแต่ละภาพ จะช่วยพัฒนาการคิดของนักเรียนอย่างเป็นระบบตามชุดเทคนิคการเจาะประเด็นปัญหาด้วยการตั้งคําถาม หรือ "ชุดภาพละคร" ที่เหมาะสม เช่น

ชุดที่1

ชุดที่2

ชุดที่ 3

เทคนิคการสรางภาพจะใช้ 3 ภาพแรกก่อนจะเชื่อมโยงไปยังการออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ "ภาพฝัน" ที่กำหนดไว้ เช่น

๑. เจาะประเด็นปัญหา (ภาพ๒) ก่อน หรือไม่ก็เริ่มต้นที่จุดขัดแย้งหรือทําอะไร แต่จากการทดลองใช้..การชุดที่๑ เด็กเข้าใจง่ายที่สุด

๒. ร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุ

๓. ผลกระทบที่เกิดขึ้น (ข้อ ๑, ๒, ๓ นําไปเขียนหลักการและเหตุผล)(โมเดลต้นไม้)

๔. จากนั้นเชื่อมโยงไปภาพที่ ๕ ภาพฝันที่ต้องการ(เป้าหมาย,วัตถุประสงค์,ผลที่คาดว่าจะได้รับ)

๕. จบลงที่จะทําอย่างไรให้ถึงภาพที่ ๕ ได้

ข้าพเจ้าได้ทดลองนําเครื่องมือ ๕ ภาพละคร มาทดลองใหผู้เรียนนําประเด็นวิชาการหรืองานทดลองที่ตนสงสัยได้ดีเหมือนกัน เช่น กรณีที่ผู้สอน สอนในรายวิชาประวัติศาสตร์ในตําราเพียงบอกว่าเกิดการรัฐประหารในปี๒๔๙๐ ขึ้น ผู้เรียนสงสัยการรัฐประหาร ๒๔๙๐ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าได้ทดลองให้นักเรียนเอา "๕ ภาพละคร" มา "จับ" พบว่านอกจากนักเรียนเข้าใจสาเหตุผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนโดยครูไม่ต้องนั่งบอกสาระเนื้อหาแล้วเขายังสามารถคิดต่อไปได้อีกว่า ถ้าเหตุการณ์นี้ไม่เกิด จะเป็นอย่างไร เป็นต้น

กระบวนการวิเคราะห์ปัญหาด้วย "๕ ภาพละคร" นี้สามารถนําไปใช้จับประเด็นปัญหาชีวิตจริง ผู้เรียนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและชุมชนได้ดีที่สุด เช่น กรณีที่ข้าพเจ้าให้นักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่เข้าเรียนหรือติดเกม สะท้อนตัวเองด้วย "๕ ภาพละคร" พบว่าสามารถลดพฤติกรรมที่ไมพึ่งประสงค์ของตนเองได้

ปัจจัยความสำเร็จไหม

หากถามว่า การขับเคลื่อนทักษะศตวรรษที่ ๒๑ มาแล้ว ๔ ปีพบความสําเร็จไหม ในส่วนตัวคิดว่าสำเร็จ แต่ความสำเร็จนี้มาจาก ที่นี่

1.ความใส่ใจของครู ความมีใจของครูในการขับเคลื่อนเป้าหมายเดียวกัน ความมีใจไม่เต็มร้อยก็ได้ขอแค่มีใจ เช่นบูรณาการตัวชี้วัดด้วยกัน ร่วมกิจกรรมเป็นบางครั้ง ที่สำคัญคือร่วมประเมินผลด้วยกันที่สำคัญอีกปัจจัยสำคัญคือครูทำโดยไม่หวังในขั้นความก้าวหน้าของตนเอง แต่อาจเป็นอานิสงค์ตามมา

2.ความพร้อม ความมีใจของผู้เรียน ผู้เรียนที่มีความพร้อมในด้านจิตใจจะขับเคลื่อนได้ง่ายความเก่งอ่อนทางสติปัญญาไม่สำคัญ แต่เมื่อเขาได้พัฒนาด้วยกระบวนการนี้ ความพร้อมทางสุขปัญญาจะค่อยๆเกิดขึ้น

3.ความเอื้ออำนวยของผู้บริหาร เป็นจุดที่สำคัญมากจุดหนึ่ง ทั้งในด้านทุนในการสนับสนุน เวลาในการจัดการ เราโชคดีที่ผู้บริหารให้โอกาส

4.วินัยเชิงบวก จำเป็นอย่างยิ่ง

5.เปิดใจคุยกันทันที เมื่อประสบปัญหาการทำงานหรือแม้แต่ส่วนตัว

6.การBARและ AAR มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เทคนิคที่นิยมใช้ ให้ผู้เรียนวาดรูปตัวเองซีกหนึ่งให้เขียนส่วนที่ตัวเองรู้แล้วก่อนทำงาน และอีกซีกหนึ่งให้เขียนรู้อะไรเพิ่มอีกบ้าง

7. การทบทวนตัวเองบ่อยๆ โดยเฉพาะการมีสมาธิ

8.ในการเรียนการสอนรายวิชาIS ถือหลักการบูรณาการ คือพยายามเชื่อมงานของผู้เรียนให้เข้ากับรายวิชาอื่นๆให้ได้มากที่สุดเช่นกิจกรรมต่างๆในโรงเรียนหรือแม้แต่โครงการของหมวดของฝ่ายต่างเช่นกิจกรรมห้องเรียนสีขาว ที่เด็กทุกห้องต้องทำ ถ้าเด็กกลุ่มไหนจับงานนี้เราสามารถเชื่อมเข้ากับ IS ได้เลย ลดภาวะซ้ำซ้อนงานของเด็ก

ปัญหาและอุปสรรคไหม

1.อัตตา ในตัวครู มีมากเช่นกลุ่มเด็กจิตอาสาที่ข้าพเจ้าเข้าไปโค๊ช เด็กกลุ่มนี้ต้องขยันมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นสองเท่า เด็กที่ทนไม่ไหวก็ต้องออกไป จาก10เหลือ5 เนื่องจากภาวะการเรียนวิชาการในชั้นเรียนในกรอบห้องสี่เหลี่ยมที่มีแต่การท่องและการจด ครูบางท่านให้เด็กจด 100 รอบ แทนการท่องจำ

2.ความห่วงใยของผู้ปกครองที่กลัวลูกไม่ได้เนื้อหาวิชาการ กลัวลูกไม่มีที่เรียนต่อ

3.ครูบางท่านไม่ให้ความสำคัญเลย


หมายเลขบันทึก: 584413เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2015 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2015 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

เอกสารมีรายละเอียดดีมากครับ สามารถนำไปใช้ได้เป็นอย่างดีได้อีกด้วย ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท