โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 5) ‘ยายผา’ หญิงแกร่งผู้พลิกบทบาทสตรีบ้านปะอาว


แกสาธิตกระบวนการย้อมครามด้วยวิธีดั้งเดิมของบ้านปะอาว ให้แก่นักศึกษาปริญญาเอกชาวญี่ปุ่นดู .. พายืนอาบแดดจัดตลอด 3 วันในช่วงที่ ‘ตาก 3 แดด’ .. แต่กลับไปทำที่ญี่ปุ่นกลับไม่เป็นผลสำเร็จ.. แกกระซิบบอกเราว่า “วิชาความรู้ของปู่ย่าตายาย ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน เรื่องอะไรจะขายเคล็ดวิชาให้ ยายไม่บอกพวกญึ่ปุ่นทั้งหมดหรอก” ฮา.. นี่ละยายผา อย่าคิดว่าชาวบ้านชนบท ‘โง่’ นะจะบอกให้

17 ม.ค.58

ดิฉันเป็นคนที่มีความสุขกับการขีดเขียน โดยเฉพาะการเขียนจาก 'ความคิด' ของตนเอง แต่ก่อนมองว่าตนเองไร้สาระ แต่พอมีศัพท์ใหม่ว่าความรู้โดยนัยหรือ Tacit Knowledge ก็ทำให้มีความรู้สึกต่อตนเองดีขึ้นมากค่ะ .. หากสิ่งที่ขีดเขียนเบี่ยงเบนออกจาก norm ของสังคมสักหน่อย จะกระซิบบอกตนเองว่า "ก็มันเรื่องของฉัน มันเป็น tacit ของฉัน" ในเหตุการณ์เดียวกัน คนเราย่อมมีการรับรู้ต่างกัน เพราะพื้นฐานประสบการณ์ต่างกัน สำหรับเรื่องนี้ ดิฉันให้ 'น้องอาย' ลูกสาว ฝึกเขียน Filed note หรือบันทึกภาคสนาม ในขณะที่ดิฉันเขียนบทความไปด้วย แล้วมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ .. น้องอายยังร้อง อื้อหือ! คนละเรื่องเดียวกันเลยค่ะ .. แนวโน้มลูกไม้จะไม่หล่นจากต้นกระมัง!

อารัมภบทไปหนึ่งย่อหน้าแล้ว ยังไม่ทราบจะเริ่มเล่าเรื่องตรงไหนดี เพราะมีเรื่องเล่ามากมายสำหรับ 'ยายผา' แกเข้าไปผูกพันเชื่อมโยงกับเขาหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ ศาสนา ศิลปหัตถกรรม การแสดงพื้นบ้าน งานฝีมือ ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ดูเหมือน 'คุยกับยายผาถือว่ามาถึงปะอาว' หรือ 'ใครบอกว่ามาปะอาว ต้องถามว่าคุยกับยายผาหรือยัง' สำนวนดิฉันเองค่ะ

เริ่มจากเหตุการณ์ล่าสุดก็แล้วกัน ปีใหม่ 2558 นี้ยายผาเพิ่งกลับจากเมืองออร์แลนโด (Oralando) รัฐฟอริดา (Florida) สหรัฐอเมริกา หลังจากไปพักผ่อนอยู่กับลูกสาวนานถึง 6 เดือน พวกเราต่างก็เป็นห่วงแกมาก เพราะวิถีชีวิตแตกต่างจากที่ปะอาวมาก ไหนจะสภาพดินฟ้าอากาศที่แตกต่าง จะกินอยู่อย่างไร แกอายุมากแล้ว จะปรับตัวได้แค่ไหน ถึงแม้แกจะพูดภาษาอังกฤษได้ 'คล่องปาก' ก็ตามเถิด

ขอนินทาเรื่อง ทักษะภาษาอังกฤษแบบ 'คล่องปาก' ของแกสักหน่อยนะคะ เนื่องจากบ้านแกอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ฝรั่งต่างชาติเดินเข้ามาในชุมชนจะพบแกก่อน พอเห็นชาวต่างชาติแกจะรีบกระโดดเข้าไปหา แล้วร้องทักทายก่อนเสมอว่า

"กู๊ดมอนิ่ง เยสๆ โนๆ" "สวัสดี เฮาอายู้" ฮา ..

ความใจกล้าของแกนี่ละที่ทำให้แกเป็นผู้สาธิตกระบวนการทำผ้าย้อมมะเกลือด้วยวิธีดั้งเดิมของบ้านปะอาว ให้นักศึกษาปริญญาเอกชาวญี่ปุ่นชายหญิง 2 คนดูได้ ในขณะที่คนอื่นต่างเดินหนีไปทางอื่นหมด นักศึกษาก็เฝ้าดู ซักถามและจดบันทึกไว้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่พาเข้าป่าหาต้นไม้ จนกระทั่งยืนอาบแดดจัดตลอด 3 วันในช่วงที่ 'ตาก 3 แดด' นักศึกษาชาวญี่ปุ่นก็พออกพอใจที่ได้เรียนรู้

แต่เมื่อกลับไปทำที่ญี่ปุ่นกลับไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะสีไม่เข้มเหมือนที่แกทำ เขาก็เมล์มาถาม (ผ่านทางสามีดิฉัน) ยายผาฝากคำตอบกลับไปอย่างผู้เชี่ยวชาญกลับไปว่า

"สภาพอากาศมันแตกต่างกัน อากาศหนาว ไม่ค่อยมีแสงแดด อาจไม่เหมาะสมกับการย้อมติดสีดำมะเกลือก็เป็นได้"

แต่แกกระซิบบอกเราว่า "วิชาความรู้ของปู่ย่าตายาย ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน เรื่องอะไรจะขายเคล็ดวิชาให้ ยายไม่บอกพวกญี่ปุ่นทั้งหมดหรอก" ฮา.. นี่ละยายผา อย่าคิดว่าชาวบ้านชนบท 'โง่' นะจะบอกให้ งานนี้แกได้ค่าสอนเคล็ดวิชาแบบไม่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์มาอวดด้วยความภูมิอกภูมิใจ ตั้ง 1,000 บาทเชียว เทียบกับค่าย้อมดำมะเกลือเสื้อ 3 ตัวไม่กี่บาท

เล่าเรื่องยายผากลับจากออร์แลนโดอีก 10 ตอนก็ไม่จบหรอกค่ะ เพราะแก well known มาก (ต้องเขียนภาษาไทยสลับภาษาอังกฤษถึงจะ intrend สำหรับตอนที่ 5 นี้)

กลับมาเข้าเรื่องนะคะ ดิฉันทราบว่าแกกลับมาแล้ว ยายราญก็ถามทุกครั้งที่ดิฉันมาทานข้าวเย็นด้วยว่าพบยายผาหรือยัง ดิฉันก็ตอบเหมือนกันทุกครั้งว่า ยัง และตั้งใจหลีกเลี่ยงไม่พบหน้าแก เพราะจะคุยกันยาว หมายถึงคุยกันนานจนขอตัวกลับไม่ได้ .. วันนี้ดิฉันได้พบแกแล้วค่ะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแกมาหาถึงบ้านยายราญ ขณะดิฉันกำลังกระโดดไป-มาหลบน้ำมันร้อนๆ กระเด็นอยู่ในครัว (กำลังทอดขาไก่อยู่ค่ะ)

เมื่อแรกพบกัน ดิฉันเข้าไปกอดแกแล้วขอตัวเข้ามาทอดขาไก่ต่อ สักครู่ก็นำขาไก่ทอดไปให้แก 'แทะรอ' กว่าแกจะแทะขาไก่ได้ 1 ขา ดิฉันก็ทอดขาไก่ทั้งหมดเสร็จอย่างแน่นอน

ระหว่างที่แกเล่าเรื่องชีวิตในต่างแดน สามีดิฉันก็แกล้งถามซอกแซกกลับไปกลับมาตามนิสัยคนชอบหยอก เพราะการหยอกยายผาเป็นเรื่องที่สนุกมาก แกจะตอบทุกคำถาม คำถามไหนตอบไม่ได้ก็จะบอกว่า 'บ่จั๊ก' แล้วแสดงท่าเฉพาะตัวประกอบ น่ารักมาก พวกเราจึงได้เฮพร้อมกันเป็นระยะ หากยายผามาหาดิฉันที่บ้านยายราญ ดิฉันต้องเป็นฝ่ายขอตัวกลับทุกครั้ง ก่อนที่แกจะหมดแรงหลับไปเสียก่อน

ต่างกับ ตอนที่ดิฉันเช่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านหลายปี ยายผาจะมานอนเป็นเพื่อนทุกคืน มาตั้งแต่หัวค่ำ คุยกันได้ไม่กี่คำแกก็หลับ หลับระหว่างยกมือยกไม้ประกอบการพูดคุย ดิฉันต้องหาหมอนมารองคอและห่มผ้าให้เกือบทุกวัน (ตกลงใครดูแลใครนี่) แกจะตื่นเป็นระยะเพื่อผงกศีรษะขึ้นมาดูว่าดิฉันนอนหรือยัง ..

แต่แกไม่ค่อยมีวาสนาเห็นดิฉันตอนเข้าเต็นท์นอนหรอกค่ะ เพราะดิฉันไม่ได้ลาเรียน ต้องทำงานและเรียนไปพร้อมกัน จึงเข้านอนประมาณตีหนึ่งหรือตีสอง ถ้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดก็จะนอนหลังตีสาม จึงมีคำทักทายประจำเมื่อแกลุกขึ้นจะกลับบ้านว่า

"เป็นหมอนี่ เขาไม่นอนกันเหรอ" "ไปละนะ"

มีบางวันที่แกล้งรั้งแกไว้ "มานอนเป็นเพื่อนไม่ใช่เหรอ ยังไม่ได้นอนเลยจะกลับได้ยังไง" แกก็จะนอนต่ออย่างกระสับกระส่าย เมื่อได้ยินเสียงระฆังก็จะยอมปล่อยแกกลับบ้านไป

ดิฉันเล่าเพลินอย่างมีความสุข แต่เพื่อไม่ให้เนื้อหายาวเกินไป จะขอยุติเอาเสียดื้อๆ เท่านี้ก่อนนะคะ. ตอนที่ 6 จะเล่าถึงที่มาของการตัดผมสั้นเกรียนเกินพอดีตลอด 5 ปีของดิฉัน โดยทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่นะคะ

หมายเหตุ : ขอเผยแพร่บทความนี้ 1 วัน (21 ม.ค.58)

หมายเลขบันทึก: 584280เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2015 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2020 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท