Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เรื่องมหัศจรรย์ของสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : ข้อเสนอผ่าน รมช.สมศักดิ์ ไปยังสำนักงบประมาณและ สปสช. ให้ตีความใหม่เพื่อคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ถูกถือเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย


ประเด็นทางความคิดเรื่องการผลักดันให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีสิทธิในสัญชาติไทยได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย จนมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก อันทำให้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๘

เราพบว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อยมีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย จนมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก อันทำให้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น หนทางหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่า ก็คือ การผลักดัน ให้พวกเขาได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยดังกล่าว ด้วยตรรกวิทยาดังกล่าว โครงการสี่หมอชายแดนตากจึงได้รับการสถาปนาขึ้นโดย ๔ โรงพยาบาลชายแดน อันได้แก่ (๑) โรงพยาบาลอุ้มผาง (๒) โรงพยาบาลแม่ระมาด (๓) โรงพยาบาลพบพระ และ (๔) โรงพยาบาลท่าสองยาง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้นำไปสู่การตั้ง "คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาล" เพื่อจัดการสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ทรงสิทธิในสัญชาติไทยแล้ว และมีจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ชายแดนตาก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกะเหรี่ยงดั้งเดิมมาตั้งแต่ก่อนการขีดเส้นเขตแดนระหว่างรัฐไทยและรัฐเมียนมาร์

จะเห็นว่า แม้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งมาตรา ๕ วรรค ๑ บัญญัติว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้" แต่ด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่ ๑๔๔๙/๒๕๕๖ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ ชี้ว่า หมายถึงบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น โดยไม่ได้หมายถึง บุคคลสัญชาติอื่นที่พำนักอยู่หรือพักอาศัยอยู่หรือเข้ามาในประเทศไทยด้วยแต่อย่างใด และด้วยการตีความในทางปฏิบัติของสำนักงบประมาณ และ สปสช. ที่เอาเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักของคนที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรของคนสัญชาติไทยเป็นหลักในการกำหนดผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ จึงทำให้คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยที่ยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรเข้าไม่ถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพดังกล่าว

ดังนั้น ทางแก้ไขทางหนึ่ง โดยอาศัยข้อกฎหมายนี้ ก็คือ การร้องขอให้สำนักงบประมาณ และ สปสช. เปลี่ยนการตีความใหม่ โดยเอาความเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยเป็นตัวตั้ง เพื่อกำหนดความเป็นผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว คนดังกล่าวในปัจจุบันอาจมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักของคนที่ไม่มีสถานะคนสัญชาติไทย แต่ด้วยข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่ชัดเจน ก็แทบจะไม่มีความผิดพลาดเลยที่จะเป็นวิธีคิดในเรื่องนี้ ผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพที่ดูแลโดย สปสช. ก็ยังเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยต่อไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

หมายเลขบันทึก: 583834เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2015 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2015 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท