Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

งานเขียนเพื่อ "อ.เงาะ" ของเรา หรือ "ผศ.ดร. สุรศักดิ์ มณีศร" เนื่องในโอกาสการเกษียณอายุของท่านที่จะมาถึง


๔ ลักษณะของอาจารย์เงาะสุรศักดิ์ : ต้นแบบที่งดงามของครูสอนกฎหมาย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗

-------------------------------------------------

เมื่อมีบันทึกเวียนของคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์มาบอกว่า "อ.เงาะ" ของเรา หรือ "ผศ.ดร. สุรศักดิ์ มณีศร" จะเกษียณอายุแล้ว จะมีการทำหนังสือเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสนี้ เราซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านมายาวนาน ก็เลยคิดได้ว่า เราน่าจะต้องเขียนถึงเรื่องราวเล็กๆ ที่งดงามระหว่างท่านกับเรา ตามประสาลูกศิษย์ที่ดี

ในข้อเขียนเล็กๆ ก็อยากจะมีรูปสักรูป ก็เลยเอารูปที่เคยถ่ายกับ อ.เงาะมาดูหลายรูป ถ่ายรูปกับ อ.เงาะมาก็มากมาย แต่มาชอบรูปถ่ายกันที่ญี่ปุ่นในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ถ่ายกัน ๓ คน มี (๑) อ.เงาะ (๒) ผู้เขียนเอง และ (๓) "อ.อ้อม" อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา และรูปนี้มีนัยยะที่ดี ด้วย อ.เงาะเป็นความประทับใจที่ดีงามสำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นลูกศิษย์ และต่อมามาเป็นอาจารย์ประจำคณะเช่นกัน ผู้เขียนก็ได้ใช้บทเรียนจาก อ.เงาะ มาดูแล อ.อ้อม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของผู้เขียนต่อไปด้วย ดังนั้น รูปนี้จึงแสดงให้เห็นความรักของอาจารย์นิติธรรมศาสตร์ ๓ รุ่นที่ผูกพันต่อกัน

อ.เงาะเป็นบทเรียน ๔ ประการ สำหรับ ผู้เขียน กล่าวคือ

ในประการแรก อ.เงาะทำให้ลูกศิษย์อย่างผู้เขียน รู้สึกสบายใจเสมอที่จะถามอะไรสักอย่าง ท่านทำให้เรารู้สึกว่า กำลังคุยกับคนในครอบครัว ผู้เขียนเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ในปีการศึกษา ๒๕๑๙ ซึ่ง อ.เงาะเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่ท่านก็ชอบให้นักศึกษาเรียกว่า "พี่เงาะ" ท่านจัดเป็น "อาจารย์ติว" ที่ใจดีมาก หารือได้ทุกเรื่อง และที่สำคัญ เวลาเราโดดเรียน ท่านก็จะไม่ดุสักคำ ปัญหา ก็คือ พอโดดเรียน ก็จะไม่รู้เรื่อง พอใกล้สอบ ก็จะต้องมาถาม ดังนั้น ความใจดีของ อ.เงาะ จึงเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักศึกษาในยุคนั้น และคุณสมบัตินี้ ก็ยังคงอยู่ในตัว อ.เงาะจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับ อ.เงาะ เราก็กล้าที่จะบอก อ.เงาะ ท่านก็จะแลกเปลี่ยนกับเราด้วยรอยยิ้มเสมอ

ในประการที่สอง อ.เงาะจะสอนเรื่องยากๆ อย่างหนี้ หรือแรงงาน แต่ท่านก็จะทำให้เรื่องยาก กลายเป็นเรื่องง่าย ค่อยๆ อธิบาย ค่อยๆ ยกตัวอย่าง ท่านมีอุปกรณ์การสอน อย่างเช่นแผ่นใส แผนผัง ในสมัยนั้น ยังไม่มี powerpoint แค่แผ่นใสก็หรูหรามาก ท่านไม่บังคับให้เราท่องจำ ท่านให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจในระบบกฎหมาย เราก็เลยเรียนรู้ว่า พอเข้าใจ ก็จะจำได้เอง

ในประการที่สาม อ.เงาะจะให้ความสำคัญกับการเตรียมการสอนมาก ผู้เขียนเคยทำงานในคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่ง อ.เงาะเป็นประธาน ท่านจะชวนเราเตรียมงานอย่างดี จะจัดสัมมนา ก็ต้องเตรียมงานอย่างดี ทุกขั้นตอน นิสัยแบบนี้ ก็เลยติดตัว ผู้เขียนมาจนถึงทุกวันนี้ ต้องเตรียมสอนทุกครั้ง แม้จะสอนมานานเท่าใดแล้ว ก็ตาม

ในประการที่สี่ อ.เงาะมักมีตัวอย่างจากเรื่องจริงในสังคม จากข่าวในหนังสือพิมพ์ สำหรับเราในยุคนั้น ก็เลยทำให้รู้สึกว่า การเรียนในห้องเรียนก็น่าสนใจเหมือนเราโดดเรียนเลย ก็เลยเริ่มไม่โดดติว และแสวงหาความรู้ต่อในห้องเรียน สอนแบบคุย ไม่สอนแบบบรรยาย

ในปีที่ ๖๐ ของ อ.เงาะ ไม่ทำให้ อ.เงาะ แก่ลงแต่อย่างใด ท่านยังคงคุยสนุก ล้อเล่นกับเรา มีขนมมาแบ่งปันให้น้องๆ ทานในห้องครัวเสมอ โดยเฉพาะกล้วยต่างๆ และความเป็น อ.เงาะใน ๔ ประการดังกล่าว ก็ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

"เนื่องในโอกาสปีใหม่ ๒๕๕๘ นี้ แหววก็ขอให้พี่เงาะมีความสุขมากๆ มีสุขภาพดี ยังอยากเห็นพี่เงาะสอนไปเรื่อยๆ รอยยิ้มของพี่เงาะสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้คณะของเราค่ะ

แหววค่ะ"

-------------------------------------------------

ถ่ายกันที่ญี่ปุ่นในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 583345เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2015 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2015 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท