Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ศาลฎีกาบอกว่า คนต่างด้าวจำเลยอาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์.....แต่จะขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่คนต่างด้าวครอบครองไม่ได้.....อ.สมเกียรติช่วยอธิบายหน่อยค่ะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2555

นางสาววันดี วงศ์ภมร กับพวก โจทก์

นางวิไล สำราญทรัพย์สิน ผู้ร้องสอด

นางสาวสมจิตร์ แซ่อึ้ง จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 1382

ป.ที่ดิน มาตรา 86 วรรคสอง

แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่ ป.ที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์

ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย

________________________________

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านพิพาท

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 24203 ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 43 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครอบปรปักษ์

โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความ ขอให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง แก้ชื่อทางทะเบียนโดยใส่ชื่อผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตงงักและจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนตามแผนที่วิวาท หากโจทก์ทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งห้า

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)

โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 24203 ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา (แบ่งแยกในนามเดิมออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 7856 ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา) ในส่วนที่ระบายเป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งมีเนื้อที่ 12 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยและจำเลยร่วม (ที่ถูก ผู้ร้องสอด) ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตงงัก โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าในข้อต่อไปว่า จำเลยและผู้ร้องสอดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 12 ตารางวา บริเวณพื้นที่สีเขียวตามแผนที่วิวาทโดยครอบครองปรปักษ์หรือไม่ โจทก์ทั้งห้าฎีกาในข้อกฎหมายว่านายตงงักเป็นคนต่างด้าว มีเชื้อชาติและสัญชาติจีนซึ่งการได้มาซึ่งที่ดินจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่นายตงงักถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 โดยมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาจากนายตงงัก หากจะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อตนก็จะต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่ นับถึงวันที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้ จำเลยยังครอบครองที่ดินไม่ถึง 10 ปี เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งห้าเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของนายตงงัก จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ทั้งห้าจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่นายตงงักและจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของนายตงงักจึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อนายตงงักถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจากนายตงงัก จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์

ส่วนนายตงงักซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้นายตงงักสามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของนายตงงักจะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่นายตงงักครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้นายตงงักได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดจึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นชอบแล้ว แต่ที่มีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตงงักได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ด้วยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สมควร วิเชียรวรรณ - ปิยกุล บุญเพิ่ม - วาสนา หงศ์เจริญ )

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา - นายอานนท์ วิบูลย์สวัสดิ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายประพนธ์ กองมะลิกันแก้ว

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

หมายเลขบันทึก: 583315เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2015 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2015 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ท่านอาจารย์แหวว... ที่เคารพรักยิ่ง

ตามเรื่องราวและรายละเอียดที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น กระผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายว่าด้วย "ลักษณะทรัพย์สิน" รวมทั้งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2478 มาตรา 86 วรรคสอง ซึ่งได้บัญญัติหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายไว้อย่างแจ้งชัดว่า บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์อันเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งในเรื่องอสังหาริมทรัพย์นั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่บุคคลนั้นได้มาซึ่งทรัพยสิทธิดังกล่าวโดยครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามวิธีการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเอาไว้แล้วหรือไม่ กล่าวคือประธานแห่งสิทธิทั้งหลายนั้น ย่อมหมายถึง "บุคคล" ทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้วกฎหมายมิได้มีการกำหนดกีดกันหรือแบ่งแยกสิทธิของบุคคลระหว่างผู้มีสัญชาติต่างกันไว้โดยปราศจากเหตุผล ว่ากรณีต้องเฉพาะแต่บุคคลผู้ถือสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เพียงแต่ตามแนวคำพิพากษาฎีกานี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี อันเป็นการสะท้อนถึงหลักการสำคัญที่แฝงอยู่ในระบบกฎหมายไทยของเราอีกด้วย กล่าวคือ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในเรื่อง "แบบ" และ "ขั้นตอนวิธีการ" ตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้บุคคลที่เป็นประธานแห่งสิทธิ สามารถได้มาหรือได้รับทรัพยสิทธินั้นโดยบริบูรณ์

เมื่อตอนสมัยที่กระผมเรียนนิติศาสตร์ในหัวข้อเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะทรัพย์สินนั้น ท่าน ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ท่านมักจะกล่าวถึงและให้ความสำคัญสำหรับเรื่อง "หลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งทะเบียนกรรมสิทธิ์" อยู่เสมอ ดังจะสะท้อนให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนโดยปรากฏเป็นหลักทั่วไปอยู่ใน ป.พ.พ. บรรพที่ 4 ลักษณะที่ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป ตาม

มาตรา 1299 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและ ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

ดังนั้น ตามบทบัญญัติแห่ง ม.1299 ที่กล่าวถึงนั้น สามารถพิจารณาเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น แบ่งออกเป็นสองทางใหญ่ๆ คือ วรรคแรก โดยทางนิติกรรม และวรรคสองโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ทั้งนี้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า โจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยโดยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านพิพาทพร้อมกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งคดีนี้ทางฝ่ายจำเลยเองก็ได้ฟ้องแย้งกลับมาเช่นกันว่าจำเลยกับนายตงงัก(ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าว) ได้ร่วมกันยึดถือทรัพย์สิน(Corpus)ดังกล่าวไว้ โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน(Animus) กรณีจึงเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองครอบครองแห่งอสังหาริมทรัพย์ในบ้านและที่ดินดังกล่าว ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. ม.1367 แล้ว ทั้งนี้ เป็นการครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ครอบครองต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่า 10ปีแล้ว จำเลยย่อมได้ทรัพยสิทธิคือกรรมสิทธิ์แห่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แห่งอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ม.1299 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้มีใจความตอนหนึ่งว่า "ถ้ามิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้" ตรงจุดนี้เองที่ท่าน อ.วิริยะฯ ท่านกล่าวว่าการครอบครองอสังหาริมทรัพย์จนได้กรรมสิทธิ์นั้น ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงทะเบียนได้โดยตัวของมันเอง เพราะมันเป็นไปตาม "หลักความศักดิ์สิทธิแห่งทะเบียนกรรมสิทธิ์" นั่นเอง

สำหรับในประเด็นที่ฝ่ายจำเลยอ้างสิทธิของตนว่าได้รับมาโดยการครอบครองปรปักษ์ และทำให้ตนเองได้รับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทนี้ โจทก์ทั้งห้ายังได้โต้แย้งโดยได้ยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา โดยพยายามหักล้างว่านายตงงักเป็นบุคคลต่างด้าว มีเชื้อชาติและสัญชาติจีนซึ่งการได้มาซึ่งที่ดินจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 วรรคสอง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายตงงักถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 โดยมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง กรณีดังกล่าวทำให้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยครอบครองที่ดินต่อมาจากนายตงงักนั้น ทำให้ในส่วนของนายตงงักย่อมต้องสิ้นสุดลง จะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อตนก็จะต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่ ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของนายตงงัก จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ทั้งห้าจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ซึ่งจากประเด็นข้อเท็จจริงในการนำสืบของศาลชั้นต้นปรากฏว่าจำเลยได้ร่วมกับนายตงงักซึ่งตลอดเวลานั้น ยังคงยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตนเอง อันเป็นการแสดงเจตนาครอบครองร่วมกันมาโดยตลอด และเนื่องจากการทีจำเลยยังคงครอบครองต่อไปอย่างต่อเนื่อง ย่อมไม่กระทบหรือทำให้การครอบครองส่วนของจำเลยเองสิ้นสุดลงไปแต่อย่างใด เพราะยังคงเป็นการครอบครองต่อไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นทายาท ผู้จัดการมรดกของนายตงงักผู้ตาย ย่อมสามารถเข้ารับช่วงต่อในสิทธิครอบครองต่อจากนายตงงักได้ต่อไป แม้นายตงงักจะได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่สิทธิครอบครองย่อมสามารถรับโอนการครอบครองแก่กันต่อไปยังผู้ร้องสอดในฐานะผู้รับโอน โดยจะนับเวลาซึ่งนายตงงักผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ม.1385 แล้ว

ประเด็นที่พิจารณาต่อมา ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หมวด 8 การกำหนดสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าว ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 86 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของรูปแบบและวิธีการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดให้ความบริบูรณ์แห่งทรัพยสิทธินั้น จะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน ถูกต้องเสียก่อนจึงจะได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ ก็คือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยบริบูรณ์ กล่าวคือ ม.86 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับ มาตรา 84 คนต่างด้าวดั่งกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบกิจการในทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การสุสาน การกุศลสาธารณะ หรือการศาสนาต้องเป็น ไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" ดังนั้น จุดนี้จะเห็นได้ว่าหลักการของกฎหมายดังกล่าว เป็นไปตามบทเบ็ดเสร็จทั่วไป แห่ง ป.พ.พ.บรรพ 4 "ทรัพย์สิน" มาตรา 1299 ซึ่งกำหนดไว้ถึงความสำคัญของ "หลักความศักดิ์สิทธิแห่งทะเบียนกรรมสิทธิ์" ตามที่ท่าน อาจารย์วิริยะฯ ได้เคยกล่าวไว้นั่นเอง

กระผมพิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วยกับแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลได้พิจารณาโดยตีความกฎหมายไปตามกรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ แล้ว โดยได้คุ้มครองสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นประธานแห่งสิทธิทั้งหลาย โดยไม่ได้พิจารณากีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในฐานคนต่างด้าวหรือคนผู้มีสัญชาติใดแต่ประการใด แต่พิเคราะห์ไปตามบทกฎหมายและเจตนารมณ์แห่งกฎหมายไปพร้อมๆ กัน การที่จำเลยและผู้ร้องสอดได้ฟ้องแย้ง โดยยกหลักการได้กรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ มาโดยช่องทาง "ครอบครองปรปักษ์" นั้น ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทนั้นแล้ว เพียงแต่การได้กรรมสิทธิ์นั้นยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ หากไม่ได้มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ให้เรียบร้อยเสียก่อน ประกอบกับต้องดำเนินการให้ถูกต้องตาม "แบบ" และ "วิธีการขั้นตอน" ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ม.86 อีกส่วนหนึ่ง การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และสั่งให้จำเลยกับผู้ร้องสอดได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นไปตามหลักแห่งการครอบครองปรปักษ์นั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนประเด็นที่ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่ง โดยถือให้เป็นการแสดงเจตนาแทนทะเบียนกรรมสิทธิ์นั้น ศาลย่อมมิอาจก้าวล่วงและไม่ควรบังคับการใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การที่ศาลสั่งยกคำร้องของผู้ร้องสอดโดยวินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งให้แสดงทะเบียนกรรมสิทธิ์เช่นนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท