ครูดีที่น่ายกย่อง … ครูมะลิวัลย์


แม้ครูมะลิวัลย์จะไม่ได้เรียนมาทางครูโดยตรง แต่ก็สามารถทำหน้าที่ครูได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าชื่นชม

     วันนี้ (7 พ.ย. 49)   ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนรัตนบัณฑิต ซึ่งตั้งอยู่ที่     อ. บางกรวย    จ. นนทบุรี   ทราบข้อมูลว่า โรงเรียนนี้มีนักเรียนชั้น ป. 6    ชื่อ ด.ช. จักรภัทร สวัสดิ์เรือง  สอบภาษาอังกฤษของบริษัทเสริมปัญญา    ได้คะแนนยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของ จ. นนทบุรี    ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่า   เด็กจะเก่งได้ก็เพราะครูเก่ง  จึงขอคุยกับครูผู้สอนว่ามีวิธีการสอนอย่างไร จึงทำให้นักเรียนเก่งภาษาอังกฤษ
               ครูที่สอนชื่อคุณครูมะลิวัลย์ แสนบุญมี    สอนภาษาอังกฤษชั้น ป. 5-6     ครูเล่าให้ฟังว่า    ตอนที่เข้ามาสอน โรงเรียนนี้ใหม่ๆ ถึงกับร้องไห้เพราะนักเรียนบอกว่าไม่ชอบเรียนวิชานี้ ครูเสียใจมาก   แต่แทนที่จะรู้สึกท้อถอยกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องท้าทาย    จึงคิดแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปสร้างความสนิทสนมกับนักเรียน   ไม่นานนักเรียนก็เปลี่ยนพฤติกรรม      ตั้งใจเรียนมากขึ้น ขอนั่งข้างหน้า ทำงานตามที่ครูสั่งได้ครบถ้วน ผลการเรียนดีขึ้น 
         วิธิการที่ครูมะลิวัลย์ใช้ สรุปได้ว่า
              1. สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียน ให้ความรัก ความเอาใจใส่ ความเข้า หลักการในการทำงานของครูมะลิวัลย์ คือใจ ทำให้นักเรียนรักครู ไว้วางใจครู
              2. เตรียมพร้อมในการสอน สิ่งที่สอนต้องถูกต้อง (ครูแม่นยำในเนื้อหา) ทำให้นักเรียนเชื่อมั่นในตัวครู
              3. ครูไม่ตำหนิ ไม่ท้วงติงให้นักเรียนเสียหน้าเมื่อนักเรียนออกเสียงผิด เพราะจะทำให้นักเรียนเสียความมั่นใจ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถาม อีกต่อไป แต่ครูจะแก้ไขด้วยการพูดออกเสียงที่ถูกต้องให้นักเรียนเรียนรู้และปรับให้ถูกต้องด้วยตนเอง
              4. ศึกษา ค้นคว้า คิดค้น เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนใหม่ๆ ที่ทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน (เรียนรู้อย่างมีความสุข) ครูจะศึกษาวิธีการสอนภาษาอังกฤษทั้งของไทยและต่างชาติจากตำราและเว็บไซด์ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับชั้นเรียนของตนเอง เช่น

             เรียนภาษาอังกฤษจากเพลง (ทั้งคำศัพท์ การออกเสียง หลักไวยากรณ์) บางครั้งครูก็แต่งเพลงเอง
              การใช้เกมบิงโกคำศัพท์ภาษาอังกฤษแทนการใช้ตัวเลข
              การทำ Concept mapping, My mapping, Jigsaw ฯล

                5. การให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจเป็นระยะๆ
                6. การประเมินผลงานในใบงานนักเรียน จะมีช่องให้นักเรียนประเมินตนเอง เพื่อนประเมิน  ผู้ปกครองประเมิน (ถ้าเป็นการบ้าน)   ครูประเมิน ครูจะตรวจงานทุกชิ้นของนักเรียนอย่างละเอียด และแก้ไขข้อผิดพลาดให้ด้วย โดยครูถือว่าผลงานนักเรียน คือภาพสะท้อนผลการเรียนการสอนของตนเอง ว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขสิ่งใดอีกบ้าง
            ถึงแม้ครูมะลิวัลย์ไม่ได้เรียนจบด้านการศึกษาโดยตรง แต่ได้ใส่ใจศึกษารูปแบบการสอนด้วยตนเองจากตำราและจากประสบการณ์ตรง คิดหาวิธีการสอนด้วยใจที่จดจ่อ ประเมินการสอนของตนเองจากผลการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา 
           ดิฉันสังเกตเห็นว่าขณะที่ครูมะลิวัลย์เล่าเรื่องงานที่เธอทำ  ดูแววตาของเธอช่างมีความสุขและกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ดิฉันพลอยรู้สึกมีความสุขไปด้วย และมีความชื่นชมในตัวเธอผู้มีวิญญาณของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม

หมายเลขบันทึก: 58321เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท