การแก้ปัญหาผู้ต้องขังหญิงล้นคุกในประเทศไทย


การแก้ปัญหาผู้ต้องขังหญิงล้นคุกในประเทศไทย

นัทธี จิตสว่าง

เมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา คือ ในปี พ.ศ. 2488 จำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์มีจำนวน 20,890 คน โดยเป็นผู้ต้องขังหญิงไม่ถึง 100 คน กล่าวได้ว่า ในยุคนั้น ผู้หญิงแทบจะไม่ทำความผิดกฎหมายที่ร้ายแรงที่จะใช้โทษจำคุก เรือนจำในสมัยก่อนจึงออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อคุมขังผู้ชายโดยเฉพาะ โดยเป็นเรือนจำชายตามเมืองต่างๆที่มีพร้อมทั้งเรือนนอน โรงเลี้ยง โรงฝึกอาชีพ โรงเรียน สถานพยาบาล ที่ออกกำลังกาย แต่มีแดนหญิงเล็กๆอยู่มุมด้านหน้าในรั้วเรือนจำชาย เพื่อคุมขังผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีไม่มากในแต่ละแห่ง

เมื่อกาลเวลาผ่านไป บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น บทบาททางสังคมของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่ผู้หญิงจะทำหน้าที่ดูแลบ้านและเลี้ยงดูบุตร โดยมีผู้ชายหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อผู้หญิงมีบทบาททางสังคมมากขึ้น ต้องรับผิดชอบหาเลี้ยงตนเอง และ ครอบครัวมากขึ้น เมื่อต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีพื้นฐานฐานะยากจน ขาดการศึกษา ขาดความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหลวแหลก ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเข้าไปสู่การกระทำผิดมากขึ้น โดยในหลายกรณีผู้หญิงเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ เป็นผลให้จำนวนผู้ต้องขังหญิง เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ในปี พ.ศ. 2497 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังหญิง 289 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 21,744 คน พอมาในปี พ.ศ. 2593 ผู้ต้องขังหญิงเพิ่มเป็น 3,476 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 75,496 คน แต่จำนวนผู้ต้องขังหญิงมาเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปี พ.ศ. 2545 ที่จำนวนผู้ต้องขังหญิงพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 49,333 คน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของยาบ้าในช่วงเวลาดังกล่าว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2546 ที่ผู้ต้องขังหญิงเริ่มลดลงมาจนถึงปี พ.ศ. 2549 เหลือ 23,740 คน ทั้งนี้เนื่องจากการออกพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ที่มีการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า และมีการเปิดโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองอย่างจริงจัง จนทำให้ผู้ต้องขังหญิงลดลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมาที่การเปิดใช้โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ลดลง ทำให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงกลับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2557 ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงถึง 45,225 คน นับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และ รัสเซีย และหากเทียบกับจำนวนประชาชนต่อ 100,000 คน แล้วประเทศไทยจัดได้ว่ามีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อประชากร 100,000 คน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก


การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขังหญิง ในประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมใช้โทษจำคุกในการป้องกันสังคม โดยมีความเชื่อว่าเมื่อคนทำผิดก็จะต้องถูกลงโทษให้สาสมกับความผิด และ ให้หลาบจำ ดังนั้น เมื่อมีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้น สังคมคาดหวังว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษเสมอหน้ากัน โดยมีโทษจำคุก เป็นโทษที่ถูกนำมาใช้กับผู้กระทำผิดมากที่สุด จนกล่าวได้ว่า สังคมไทยนิยมใช้โทษจำคุกในการจัดการกับคนที่ทำผิดแทบจะทุกกรณี การใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่โทษจำคุกจะถูกตั้งข้อสงสัย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการชะลอการฟ้อง การปล่อยตัวชั่วคราว การใช้มาตรการคุมขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำที่ถูกผลักให้ไปเป็นมาตรการหลังการจำคุก หรือแม้แต่การรอลงอาญาโดยมีการคุมประพฤติที่อาจถูกตั้งคำถามตามมาว่าทำไมไม่ใช้มาตรการจำคุก ดังนั้นการนำมาตรการเลี่ยงโทษจำคุกมาใช้จึงทำได้อย่างจำกัดและทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สอง ผู้ต้องขังหญิงที่กระทำผิดและถูกส่งเข้ามาในเรือนจำส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด ถึงร้อยละ 84 – 86 ในขณะที่ความผิดในคดีอื่นๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ก็มีความเกี่ยวพันกับยาเสพติด ซึ่งจากการศึกษาในงานวิจัยของผู้เขียน พบว่า ส่วนใหญ่ ผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติดพัฒนาขึ้นมาจากการเป็นผู้เสพแล้วจึงเข้าสู่วงการเป็นผู้ค้ารายย่อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ตั้งใจเข้ามาขายยาเสพติด แต่ทำเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือมีปัญหาครอบครัว และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผลักดันให้เข้าสู่วงจรยาเสพติด อีกทั้งเป็นพวกที่ขาดโอกาสและทางเลือกในชีวิตที่ดีกว่า จึงหันเข้าสู่ยาเสพติด เมื่อส่วนใหญ่ของผู้กระทำผิดมาจากสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะผลักดันเข้าสู่ยาเสพติดได้ตลอดเวลา การใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก หรือ การให้ผู้กระทำผิดหญิงยังคงอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม โดยใช้มาตรการไม่ควบคุมตัว ก็เท่ากับเป็นการผลักผู้กระทำผิดหญิงให้กลับไปสู่การค้ายาเสพติดอีกครั้ง เพื่อหาเงินไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมหรือเพื่อหาเงินมาต่อสู้คดี ผู้กระทำผิดหญิงในคดียาเสพติดส่วนใหญ่จึงมักจะได้รับโทษจำคุกมากกว่าการใช้มาตรการในชุมชน

ดังนั้น การใช้มาตรการไม่ควบคุมตัวตามข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้กับผู้กระทำผิดหญิงในประเทศไทยนั้นเป็นการยากที่จะใช้มาตรการ "ก่อนการจำคุก" (Front-end) ด้วยเหตุผล 2 ประการ ดังกล่าว สถิติในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการใช้มาตรการคุมประพฤติอย่างเต็มรูป ก็ไม่ทำให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น ในขณะที่มาตรการอื่นๆไม่ได้รับการยอมรับและผ่านการแก้ไขกฎหมายให้ดำเนินการได้ ดังนั้นมาตรการไม่ควบคุมตัวตามข้อกำหนดกรุงเทพที่เหมาะกับการบริหารโทษสำหรับในประเทศไทย ก็คือมาตรการไม่ควบคุมตัว "หลังการจำคุก" มาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะมาตรการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ ทั้งนี้เพราะ การนำผู้กระทำผิดหญิงในคดียาเสพติดที่ทำผิดเพราะความจำเป็นและการกดดันจากสภาพแวดล้อม มาคุมขังดูแลไว้ในเรือนจำนั้น เท่ากับเป็นการปกป้องผู้ต้องขังหญิงเหล่านั้นจากสภาพแวดล้อมที่เหลวแหลกจากภายนอก แต่การใช้ชีวิตของผู้ต้องขังหญิงในขณะที่อยู่ในเรือนจำนั้นจะต้องเป็นระยะเวลาสั้นๆที่ผู้ต้องขังหญิงจะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการสร้างทางเลือกใหม่ในชีวิตให้กับผู้ต้องขังหญิงได้เติมเต็มในส่วนที่คนเหล่านี้ไม่เคยได้รับเมื่ออยู่ในสังคมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการปรับทัศนคติที่ถูกต้องทางสังคม, การทำมาหากิน, การบริหารชีวิต, การบริหารการเงิน , การมีครอบครัว และการสร้างวินัย

มาตรการดังกล่าวคือการคัดเลือกผู้ต้องขังหญิงที่เข้าเกณฑ์เข้าสู่โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ให้มากที่สุด โดยมีการขยายการเปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งปี ที่เน้นทั้งคุณภาพและปริมาณเพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงได้มีโอกาสพักการลงโทษกรณีพิเศษหลังจากรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ให้ได้รับการปล่อยตัวโดยผ่านการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยอย่างมีประสิทธิภาพออกไปรับการคุมความประพฤติและติดตามดูแลหลังปล่อยจนกว่าจะพ้นโทษ (จัดเป็น Shock incarceration ประเภทหนึ่ง)

การดำเนินการด้วยวิธีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโทษที่จะดำเนินการได้ภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ที่ให้อำนาจไว้แล้ว เพียงการจัดหางบประมาณและสถานที่เพิ่มเติม เช่น ปรับปรุงศูนย์ชุมชนบำบัดคลองไผ่สำหรับผู้ต้องขังชายให้เป็นโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองสำหรับผู้ต้องขังหญิง หรือ สถานที่อื่นตามภาคต่างๆ ผนวกกับโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ที่ดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ โดยสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนให้มากขึ้นจากเดิมสำหรับผู้ต้องขังหญิงไม่เกินปีละ 1,000 คน เป็นปีละ 3,000 คน แต่การดำเนินการดังกล่าวนี้ จะต้องมีการดำเนินการ ดังนี้

  • 1.พัฒนาระบบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อกรองคนออกจากระบบ โดยย้ายจาก
    การกรองก่อนเข้ามาเป็นการกรองหลังเข้ามาสู่ระบบแล้ว
  • 2.พัฒนาระบบการอบรมแก้ไข โดยเฉพาะเสริมการอบรมแบบโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ให้มีปริมาณและคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ขณะที่อยู่ในเรือนจำก็มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพด้วย
  • 3.พัฒนาระบบการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและการดูแลคุมประพฤติหลังปล่อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหลังปล่อยโดยมีเอกชนหรือบริษัทเพื่อให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม

ดังนั้นมาตรการในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหญิงโดยไม่ควบคุมตัว หรือมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกในเรือนจำ ถ้าจะนำมาใช้ในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องเป็นมาตรการ "หลังการจำคุก" คือ หันเหออกจากเรือนจำหลังการจำคุกมาระยะหนึ่ง โดยใช้ระยะเวลาในเรือนจำให้น้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพในการเติมโอกาสและทางเลือกในชีวิตใหม่ให้ผู้ต้องขังหญิง ซึ่งหากเขาไม่เคยได้รับมาก่อน เมื่ออยู่ในสังคมข้างนอก ทั้งในเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การบริหารชีวิต เพราะเมื่อผ่านวัยเด็กมาไม่เท่าไรก็ต้องมีครอบครัว มีบุตร มีภาระต่างๆ และวนเวียนอยู่กับยาเสพติด ดังนั้นการเติมโอกาสในชีวิตให้ผู้ต้องขังหญิงโดยการฝึกอบรมและพัฒนาอย่างจริงจังก่อนปล่อยพักการลงโทษเป็นกรณีพิเศษจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องปรับระบบการพักการลงโทษจากเดิมที่เป็น "ประโยชน์" สำหรับผู้ต้องขังให้เป็น "สิทธิ" ที่ผู้ต้องขังจะได้รับหากผ่านการอบรมเข้ม ดังเช่น ระบบ "การพักการลงโทษ" ของประเทศตะวันตกหลายประเทศที่ดำเนินการอยู่

มาตรการดังกล่าวนี้เป็นมาตรการที่ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายใดๆ หากมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ และ จริงจังมากขึ้นแล้วจะสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังหญิงและชายลง โดยไม่จำเป็นต้องไปใช้มาตรการไม่ควบคุมตัว "ก่อนเข้าเรือนจำ" ซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้มาตรการทางเลือก "ก่อนการจำคุก" เลย ยังคงดำเนินตามปกติหากแต่เพิ่มมาตรการ "หลังการจำคุก" เข้าไปอีก ทั้งนี้เนื่องจากสภาพของผู้ต้องขัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด การอบรมและพัฒนาผู้ต้องขังเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมให้กลับสู่สังคมโดยเร็วขึ้น โดยใช้มาตรการ "หลังจำคุก" นั้น น่าจะเป็นทางออกของประเทศไทยในการแก้ปัญหาผู้ต้องขังหญิงหรือแม้แต่ผู้ต้องขังชายล้นเรือนจำ และปัญหาการกระทำผิดในคดียาเสพติดของผู้หญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะปัญหานักโทษล้นคุกไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมประกอบของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ปัญหาของราชทัณฑ์ โดยปัญหาของราชทัณฑ์ในเรื่องต่างๆทุกวันนี้ ล้วนมาจากปัญหานักโทษล้นเรือนจำทั้งสิ้น

-----------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 582021เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท