จำเป็นไหมที่ต้องปลูกพืชให้อยู่ห่างๆกัน


การปลูกพืชเชิงเดี่ยวในอดีตที่มุ่งเน้นปริมาณ เน้นการให้ผลผลิตออกมามากๆ เน้นความพิถีพิถันในการดูแลป้องกันรักษาโรคแมลงอย่างจดจ่อ เรียกว่าไม่ปล่อยให้สิ่งแปลกปลอมที่ดูแล้วอาจจะเป็นอันตรายต่อพืชหลักที่เราปลูกเล็ดลอดเข้ามาได้เพราะกลัวจะมาทำให้ผลผลิตเสียหายลดน้อยถอยลงหรือสูญหายไปอย่างเปล่าประโยชน์ จึงทำให้ต้องซื้อปุ๋ยยาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาบำรุงฉีดพ่นป้องกันแบบที่เรียกว่าแทบจะนำมาอาบชะโลมให้พืชสำลักปุ๋ยสำลักยาตายกันเลยทีเดียว

รูปแบบการปลูกก็จะเน้นปลูกห่างๆ และไม่มีพืชอื่นแซม เหมือนสวนส้ม สวนมะยงชิด สวนน้อยหน่า สวนมะม่วงเพราะกลัวจะมาแย่งแบ่งสารอาหารจากพืชหลัก ซึ่งเมื่อประสบปัญหาผลผลิตที่ออกมาล้นตลาดในคราวเดียวกันก็ขาดทุนล่มจมกันไม่เป็นท่า ซึ่งแตกต่างจากสวนผสมผสานที่มีพืชหลากหลายชนิดอยู่กันแบบพึ่งพิงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน มีทั้งพืชใต้ดิน ผิวดินบนดิน ระดับต่ำกลาง สูง ไม้เลื้อยพันเกาะอย่างเช่นพริกไท ดีปลี ก็ทำให้เราสามารถสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจำหน่ายได้ วันใดพืชบางชนิดราคาตกต่ำเราก็เลือกไปจำหน่ายพืชชนิดอื่นๆแทน แต่ถ้าเป็นพืชเชิงเดียวเมื่อผลผลิตแก่แล้วจำเป็นต้องเก็บเกี่ยว เมื่อราคาตกต่ำก็จำเป็นต้องจำหน่าย ถ้าไม่จำหน่ายผลผลิตก็จะเน่าเสียหายไปต่อหน้าต่อตา เหตุการณ์ที่ขายแล้วขาดทุนนั้นพี่น้องเกษตรกรเราเจอกันมานักต่อนักครับ แต่สุดท้ายทุกคนก็จะใช้คำสุภาษิตที่ว่า "กำขี้ดีกว่ากำตด" เสมอ

ฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรพึงระลึกไว้เสมอนะครับว่าการปลูกพืชหรือทำเกษตรกรรมที่ความหลากหลายโอกาสที่จะขาดทุนนั้นมีน้อยมาก แต่โอกาสที่เสมอตัวและได้กำไรมีอยู่สูง การที่ปลูกทั้งกล้วย อ้อย มะละกอ แตงกวาพริก หอม กระเทียม พริกไท สักทองยางนา เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า ฯลฯ โดยพืชแต่ละชนิดเค้าจะแลกเปลี่ยนแร่ธาตุและสารอาหารระหว่าง ผลัดเปลี่ยนกันให้อินทรีย์วัตถุลงไปสู่ดินด้วยการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันผลัดใบหรือหัวที่แห้งเหี่ยวเน่าฝ่อในดินซึ่งเป็นไปตามกระบวนการตามธรรมชาติจะจัดสรรค์ สิ่งที่มนุษย์เราจะเข้าไปช่วยก็คือการหมั่นดูแลเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินในจุดที่มีปัญหาขาดแคลนแร่ธาตุสารอาหารที่เสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก จุลินทรีย์หน่อกล้วยจุลนทรีย์ขี้ควาย หินแร่ภูเขาไฟ ฯลฯ เพื่อให้พืชที่เราปลูกแบบระยะชิดสามารถดูดกินอาหารได้อย่างเพียงพอช่วยให้พืชสร้างผลผลิตออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะอย่างไรก็ตามรายละเอียดและปัจจัยการปลูกพืชระยะชิดและผสมผสานยังมีรายละเอียดอีกมาก ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็โทรศัพท์มาพูดคุยกันได้นะครับที่ฝ่ายวิชาการ 0-2986-1680-2

มนตรีบุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 581548เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท