สุภิรัชต์ นิธิวิสุทธิ์ : อย่าลืมผม


บ่อยครั้ง ที่เรามักพบว่าผู้ป่วยในภาวะสุดท้ายของชีวิตมักปฏิเสธการรักษา ขอกลับไปรักษาต่อที่บ้าน หรือขอไปเสียชีวิตที่บ้าน ประโยคเหล่านี้มักจะได้ยินบ่อยๆ ในพื้นที่ยะลาบ้านเรา มีใครอยากจะรู้บ้างมั๊ยว่า ทำไมผู้ป่วยเหล่านั้นจึงอยากกลับไปรักษาต่อที่บ้าน หรือขอไปเสียชีวิตที่บ้าน สิ่งที่เขาอยากกลับไปนั้นมีความสำคัญเช่นไร ชะตากรรมที่เขาเหล่านั้นต้องเผชิญ ใครจะช่วยเหลือ

บ่อยครั้งที่เจอปัญหาเสมอว่า ผู้ป่วยกลับบ้าน แล้วโดนทอดทิ้ง ไม่มีคนดู หรือไม่รู้ว่าจะดูแลอย่างไรดี เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มักกลับบ้านโดยไม่ได้วางแผน

ภาพทางเดินเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ มีแอ่งน้ำเป็นหย่อมๆ ทางเดินที่ค่อนข้างแฉะ ทำให้รองเท้าของทุกคนเปื้อนไปด้วยคราบโคลนสีส้ม ความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกคนก็ไม่ลดละ พยายามจะให้เข้าเจอเขาคนนั้นให้ได้ ตามคำสัญญาที่เราเคยให้กันไว้ เมื่อเราทุกคนเดินเข้าไปเรื่อยๆ จนพบภาพเด็กชายวัย ๑๔ ปี นอนอยู่บนที่นอนที่เขารักมากที่สุด ใบหน้าบูดเบี้ยวไปตามอาการของโรค ดวงตาทั้ง ๒ ข้างไม่สามารถมองเห็น การหายใจที่ติดขัด เพราะก้อนเนื้อร้ายได้ทำให้หายใจลำบาก เสียงครืดคราดดังออกมาจนทุกคนได้ยินอย่างชัดเจน

แม่มีสีหน้าที่วิตกกังวลมาก ความกลัวว่าลูกจะตาย เป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจของแม่ตลอดเวลา ทำให้งานค้าขายผลไม้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นรายได้หลักต้องหยุดไป เพราะความเป็นห่วงลูก พ่อเป็นคนที่คอยดูแลอาบน้ำ ทำแผล และต้องนอนกับผู้ป่วยทุกคืน เพราะผู้ป่วยจะสนิทกับพ่อมาก ยายคือคนที่ผู้ป่วยรักมากที่สุด แม้จะอยู่ในวัยชรามากแล้ว แต่ก็คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา ใบหน้าของยายปริ่มไปด้วยน้ำตาของความห่วงใย

จากการพูดคุยทางโทรศัพท์ และลงเยี่ยมทำให้เราพบว่า ยังมีปัญหาอีกมากมายสำหรับผู้ป่วยรายนี้ เราโชคดีที่มีทีมระดับปฐมภูมิที่คอยช่วยเหลือ ดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เมื่อมีการประสานจากทีมประคับประคอง โรงพยาบาลยะลา ทุกคนช่วยกันในการร่วมวางแผนดูแล บรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ตลอดจนถึงการดูแลรักษาอาการทางกายภาพอื่นๆ เติมเต็มในสิ่งที่ขาด อุปกรณ์ที่ต้องใช้ที่บ้าน การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัวเมื่อวาระสุดท้ายของผู้ป่วยมาถึง โดยพูดคุยกับพ่อแม่ ยาย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญกับผู้ป่วยที่สุด มันเป็นการยากเกินทำใจ แต่ต้องให้เวลาแก่ครอบครัว สร้างความมั่นใจในการดูแลแก่ครอบครัว ว่ายังมีทีมปฐมภูมิ นักสังคมสงเคราะห์ ทีมประคับประคอง และชุมชนคอยช่วยเหลือ อีกทั้งสามารถติดต่อได้ตลอดเวลาเมื่อมีปัญหา

คณะครูและเพื่อนๆ ของผู้ป่วยทุกคนต่างคอยเป็นกำลังใจให้( ผู้ป่วยอยากพบเพื่อนและครูเป็นครั้งสุดท้าย) ในที่สุด สิ่งที่เราทุกคนร่วมดูแล ทำให้ปัญหาต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ผู้ป่วยสามารถปรับตัวให้เข้ากับโรคที่เป็นได้ นั่งบนรถเข็นออกไปเล่นว่าวที่ตนเองรัก อยู่กับกระรอกน้อยที่ตนเองชอบ โดยสัมผัสที่ตนเองมี เราไม่รู้ว่าเวลาของผู้ป่วยมีอีกนานแค่ไหน แต่สิ่งที่ทุกคนร่วมกันทำนั้น รอยยิ้มของผู้ป่วยและญาติคือคำตอบ ทำให้ทุกคนในทีมมีรอยยิ้มแม้จะเปื้อนด้วยคราบน้ำตา แต่เราทุกคนมีความสุข ที่ได้ทำตามสัญญาที่ให้กันไว้ว่า "อย่าลืมผม" นะครับ

บ่อยครั้ง ที่เราพบว่าการเตรียมพร้อมที่ดี มีความเข้าใจและยอมรับสภาพหรือสภาวะของโรค และให้คำแนะนำมาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและญาติ ชีวิตทุกชีวิตมีคุณค่า แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่สามารถให้ยา หรือใช้เทคโนโลยีที่ราคาแพงได้ แต่สิ่งที่เราทุกคนทำให้เขามีชีวิตบนโลกนี้ได้ คือ ความรัก ความห่วงใย ความเข้าใจ แล้วเราจะมีความสุขที่สุด โดยที่เงินทองหรือสิ่งของราคาแพงก็เทียบไม่ได้

"เราไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ทุกเวลาและทุกคน แต่เราทำให้เขาเป็นสุขได้ทุกครั้ง"


สุภิรัชต์ นิธิวิสุทธิ์

หน่วยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
โรงพยาบาลยะลา

หมายเลขบันทึก: 581302เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าประทับใจ และให้ข้อคิดค่ะ

ทางทีมโครงการจัดการความรู้สุขภาวะระยะท้าย Pal2know ขออนุญาตินำไปรวบรวมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่นี่ นะคะ

หากจะขอสรุปประเด็นจากบันทึกว่า คือ

  • การทำความเข้าใจกับสภาพบริบทของแต่ละครอบครัว รวมทั้งความต้องการ ความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ
  • การประสานงานกันอย่างดี และวางแผนร่วมกันระหว่างทีมสุขภาพในพื้นที่ และทีมประคับประคองของโรงพยาบาล
  • การให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยและญาติว่า ทีมสุขภาพจะคอยติดตามดูแลไม่ทอดทิ้ง ให้ช่องทางการติดต่อได้ตลอดเวลา
  • การเตรียมความพร้อมเผชิญวาระสุดท้ายของผู้ป่วยและคนในครอบครัว โดยไม่เร่งเร้า แต่ให้เวลาในการเตรียมใจ และให้คำแนะนำแต่เนิ่นๆ
  • การทำงานด้วยความรัก ความห่วงใยเมตตา และหวังให้ผู้ป่วยและญาติมีความสุข

แบบนี้พอจะได้มั้ยคะ เพื่อการนำประเด็นไปรวบรวมสังเคราะห์ต่อไปค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท