​นิฮูดา ชายเกตุ : พลังรัก พลังใจ


ณ. ร้านกาแฟชาวดอย โรงพยาบาลศูนย์ยะลา มีผู้ชายผอมสูง วัยกลางคน มานั่งดื่มกาแฟที่ร้าน ซึ่งมีสีหน้าอิดโรย เคร่งเครียด วันนี้เป็นวันที่สามแล้วที่เขามานั่งดื่มกาแฟร้านนี้ เขาบ่นกับพนักงานร้านขายกาแฟทุกวัน ว่าเป็นห่วงลูกลูกชายที่นอนรักษาตัวที่ห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) พูดน้ำเสียงสั่นๆ และน้ำตาคลอทุกครั้ง และช่วงสายวันนั้น ฉันได้แวะเข้าไปดื่มกาแฟในร้าน พนักงานในร้านก็เล่าให้ฟังว่า มีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งดื่มกาแฟอยู่สามวันแล้วและบ่นให้ฟังทุกวัน ทำให้ฉันรู้สึกสนใจผู้ป่วยรายนี้ขึ้นมาทันที หลังจากนั้นช่วงบ่ายประจวบเหมาะพอดีที่ทางแพทย์ได้ปรึกษาทีมการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

และในวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ฉันก็ได้มีโอกาสเข้าไปดูแลผู้ป่วยรายนี้ ชื่อ สุไลมาน หรือคุณแม่ผู้ป่วยเรียกผู้ป่วยว่า "แบมัง" แบมังนอนอยู่ห้องแยกหอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย แบมังคนนี้มีอาการหนักมาก นอนไม่รู้สึกตัวมีสายระโยงระยางทั่วตัว และแพทย์ได้บอกกับพ่อแม่ญาติใกล้ชิด ให้ทำใจ "ว่าผู้ป่วยคงไม่รอดในคืนนี้แน่" คุณพ่อของแบมังคนนี้ก็คือ ลุงเลาะคนที่มานั่งดื่มกาแฟที่ร้านชาวดอยทุกวัน

ลุงเลาะคนนี้มีอาการเครียดมาก เนื่องจากแบมังเป็นเด็กฉลาด เรียนเก่ง และที่สำคัญตั้งแต่ลูกเข้ามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ลุงเลาะได้แต่อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ไม่เคยที่จะเข้าใกล้ลูก เพราะรับสภาพของลูกไม่ได้ โทษตัวเองว่าทำไมต้องเกิดกับลูก ส่วนแม่ (ป้านงค์) ของแบมัง มีภาวะเครียดกับลูกและสามี ก่อนหน้าที่แบมังจะไม่รู้สึกตัว แบมังบ่นว่าอยากเจอพ่อและคิดถึงพ่อมาก แต่ลุงเลาะจะไม่เข้าใกล้ลูกเลย ได้แต่มองผ่านกระจกเพราะทำใจไม่ได้ และแล้วทีมการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนัดเจอกับป้านงค์และลุงเลาะเพื่อพูดคุยและวางแผนการรักษา ป้านงค์ได้ระบายความรู้สึกว่าเป็นห่วงมากที่ลูกมีอาการอย่างนี้ และมีอาการเครียดกับพฤติกรรมของลุงเลาะร่วมด้วย เมื่อลุงเลาะมีอาการเครียดเรื่องลูกจะเอาศีรษะตนเองโขกกับฝาผนัง ทางทีมก็ได้พูดคุยกับลุงเลาะวางแผนการเข้าไปเยี่ยมลูกในวาระสุดท้ายของชีวิต ลุงเลาะตกลงไปเยี่ยมอย่างใกล้ชิดและพูดคุยกับลูก ตาทั้งสองข้างมีน้ำตาคลอเบ้า และพูดกระซิบเบาๆ ข้างหูว่า "พ่อมาแล้วนะ พ่อรักลูกมาก"

จากนั้น ประมาณ 5 นาที ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น แบมังเริ่มลืมตาและค่อยๆ ขยับมือแขนขา ลุงเลาะก็โผลโอบกอดลูก และแบมังได้พูดกับพ่อว่า "พ่อลูกอยากกินกล้วยทอด"

ลุงเลาะตกใจบวกกับดีใจที่ลูกรู้สึกตัวและต้องการรับประทานอาหาร เพราะก่อนหน้าที่ลูกไม่ค่อยรู้สึกตัว ลูกไม่ค่อยรับประทานอาหาร และแพทย์ก็ให้งดน้ำและอาหารด้วย แต่ด้วยความรักของคุณพ่อและเป็นภาวะสุดท้ายของชีวิต ลุงเลาะก็ให้แบมังแอบกินกล้วยทอด หลังจากวันนั้นแบมัง มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนป้านงค์เป็นคุณแม่ที่แข็งแกร่งที่ยอมรับสภาพของลูกได้ ถ้าลูกต้องจากไปในอ้อมอกของแม่ ป้านงค์จะพูดคุยกับลูกและสอนลูกให้เตรียมตัวมาตลอดว่า "ถ้าลูกไม่หาย ลูกก็ต้องจากในอ้อมอกของแม่ หรือถึงลูกหาย แม่ก็ต้องแก่และจากลูกไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราต้องจากกัน" ทำให้แบมังเรียนรู้ว่าความตายเป็นสิ่งไม่น่ากลัวและเป็นเรื่องปกติของชีวิต

ณ. วันนี้ แบมังก็ยังมีชีวิตอยู่ ภายใต้ความรักความอบอุ่นของครอบครัว และยังรับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สามารถดำรงชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

จากความรักของครอบครัวแบมัง ทำให้เรารู้ว่า พลังรัก พลังใจ ในครอบครัวที่มอบให้แก่กัน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเป็นปาฏิหาริย์ที่เราไม่อาจคาดเดาได้


...........ชีวิตคนเรา เดินทางเข้ามาใกล้ ความตายทุกวัน

บางคนก้าวสั้น บางคนก้าวยาว หรืออาจไม่ทันได้ก้าว

แต่หากเราเกิดได้เรียนรู้ถึงจำนวนก้าว สู่ปลายทางละ..

จะทำอย่างไร เพื่อให้ทุกๆย่างก้าวนั้น เป็นช่วงเวลาที่ไม่เจ็บปวด

แต่กลับอบอวลไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ที่เราทุกคน

พึงมอบและปฏิบัติให้กันและกันได้..

นาง นิฮูดา ชายเกตุ

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

หน่วยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองโรงพยาบาลยะลา

หมายเลขบันทึก: 580912เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจมากค่ะ ทางทีมงานโครงการจัดการความรู้สุขภาวะระยะท้าย Pal2know ขออนุญาตินำบันทึกนี้ ไปรวบรวมไว้ ที่นี่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อ "แลดู ผู้ดูแล" นะคะ

ขออนุญาติถามคุณนิฮูดา เพิ่มเติมเพื่อนำไปเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคค่ะว่า ทางทีมได้พูดคุยกับลุงเลาะหรือเยียวยาลุงอย่างไร จนคุณลุงตกลงที่จะเข้าไปเยี่ยมลูกอย่างใกล้ชิดในที่สุดคะ

ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท