เป้าหมายในการบริหารเวลา


ทำงานให้ดีที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่

การพุ่งเป้าหมายไปที่ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่เราควรจะใส่ใจในคุณภาพของงานอย่างเท่าเทียมกันด้วย แม้ว่าเราจะมีเวลาในการทำงานแต่ละอย่างไม่เท่ากัน แต่เราสามารถบริหารเวลาในการทำงานแต่ละชิ้นให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมาได้ ถ้าเราตระหนักและมุ่งมั่นมากพอ เริ่มต้นด้วยการจัดสรรเวลาที่มีอย่างจำกัดนั้นด้วยสติปัญญา จะใช้เวลาในการคิดวางแผนงานนั้นมากเท่าไร ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่งโมง หรือหนึ่งวันจะต้องเรียนลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะทำ จะต้องกระจายงานให้ใครบ้าง จะมีเวลาการตรวจสอบควบคุมงานอย่างไร และจะต้องจัดสรรเวลาสำหรับการตรวจแก้ไขงานเท่าใด ฯลฯ

หลายครั้งทีเดียวที่งานหลายอย่างออกมาผิดพลาด หรือไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรโดยไม่ได้เกิดจากการขาดเวลาหรือมีเวลาน้อยจนเกินไป แต่มักเกิดจากการไม่ตระหนักและมุ่งมั่นเพื่อคุณภาพของงานมากพอ จึงขาดการใช้เวลาวางแผนการทำงานอย่างเพียงพอ ได้แต่ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ใส่ใจในการตรวจสอบคุณภาพเท่าที่ควร เมื่อใกล้เวลาจะส่งงานจึงรีบเร่งทำให้เสร็จ ผลงานที่ออกมาจึงไม่ได้งานที่มีคุณภาพดีเลิศอย่างควรที่จะเป็น คนส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าในชีวิตอย่างที่ต้องการ แต่สำหรับผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จ ความรุ่งเรืองในชีวิตแล้ว พึงระลึกถึงคำกล่าวนี้ไว้เสมอ "ความสำเร็จ คือ การเรียงร้อยของการกระทำสิ่งธรรมดา ๆ ในชีวิตให้ดีเด่นเหนือธรรมดา"

"คนที่มีความรับผิดชอบ วิ่งหนีความสำเร็จอย่างไรก็ไม่พ้น และคนที่มีความรับผิดชอบจะไม่ทิ้งงานไปกลางคัน แม้เป็นงานที่ตนเองไม่ชอบนัก ไม่ผัดวันประกันพรุ่งหรือทิ้งปัญหาไว้โดยคิดว่ามันคงจะหมดไปเอง" ในชีวิตจริงบางครั้งเราอาจจำเป็นต้องรับผิดชอบงานที่เราไม่ชอบ เพราะขัดกับลักษณะทางธรรมชาติของเรา เช่น เราไม่ชอบงานเอกสาร งานที่เกี่ยวกับตัวเลข หรือการเขียนรายงาน ฯลฯ เรามักจะมีแนวโน้มที่จะปล่อยแช่งานนั้นทิ้งไว้ หรือทำพอให้มีส่ง ซึ่จะไม่ช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเราได้เลย บางคนเมื่อรับผิดชอบงานใดก็มักจะที่จะเลือกทุ่มเทเวลาให้กับงานส่วนที่ชอบหรือถนัดเสียมากมาย เพราะทำแล้วรู้สึกมีความสุข แต่ให้เวลากับงานประจำที่รู้สึกเบื่อหน่ายเพียงน้อยนิด หรือหลีกเลี่ยงเสีย ทำให้ภาพรวมของงานทั้งหมดออกมาไม่สมบูรณ์ ขาดตกบกพร่องไปบางส่วน

แท้จริงแล้วเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่องานเสียใหม่ โดยมองงานทั้งหมดในความรับผิดชอบเป็นภาพรวม ที่เราจำเป็นจะต้องต่อแต่ละชิ้นส่วนของงานเข้าไปให้ครบทุกชิ้นเหมือนกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ (jigsaw) ซึ่งจะขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไม่ได้ เพราะจะทำให้ภาพนั้นขาดความสมบูรณ์ เราจะต้องจัดสรรเวลาให้กับการทำงานแต่ละส่วนอย่างสมดุลและเพียงพอ เพื่อให้ภาพรวมของงานออกมางดงามสมบูรณ์ที่สุดอย่างสุดความสามารถ

โดย เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 580672เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท