ประเด็นสัญญาจ้างรับเหมาแรงงาน (Outsourcing)


  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้เพิ่มข้อความตามมาตรา ๑๑/๑ ซึ่งกำหนดว่า

"ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว

ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ"

ประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้อง

(๑) สัญญาจ้างเหมาแรงงาน (Outsource) คืออะไร

สัญญาจ้างเหมาแรงงาน คือ กรณีที่บุคคลผู้รับเหมาได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบการให้จัดหาคนมาทำงานในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อให้มีคนทำงานในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจ ได้อย่างสมดุลกับเป้าหมายและ ยังช่วยลดภาระด้านการบริหารงานบุคคล แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายและเมื่อมีการเลิกจ้างจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องค่าชดเชย บริษัทรับเหมาแรงงานจึงเป็นเสมือนตัวแทนในการรับคนมาทำงานให้กับผู้ประกอบการ

(๒) คำว่า "ทำงานในลักษณะเดียวกัน" นี้ หมายความว่าอย่างไร

พิจารณาถึงลักษณะงานเป็นหลัก แม้ว่าจะมี Job Description และ Standard Operation กำหนดขอบเขตและรายละเอียดงานไว้แล้วก็ตามแต่จะพิจารณาความสำคัญของงาน ว่า หากไม่มีงานนั้น จะสามารถผลิตได้หรือไม่ พิจารณาความยากง่าย ซับซ้อน เทคนิค และทักษะที่ต้องการความละเอียดเป็นพิเศษหรือไม่ พื้นฐานทางการศึกษา ทักษะพิเศษที่ได้จากการฝึกอบรม

(๓)คำว่า "สิทธิประโยชน์" หมายถึงอะไร

"สิทธิ" หมายถึง อำนาจที่กฎหมายรับรองให้บุคคลกระทำการใด ๆ ซึ่งอาจมาจากข้อกฎหมายหรือข้อสัญญาก็ได้

"ประโยชน์" หมายถึง ทรัพย์สิน สิ่งของ บริการที่นายจ้างจัดให้อาจไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ ก็ได้ หรืออาจเกิดจากการใช้อำนาจจัดการฝ่ายเดียวของนายจ้างกำหนด หรือเกิดจาก สภาพการจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

"สภาพการจ้าง" ที่มีผลตามกฎหมายมีทั้งหมด ๙ ประเภท ได้แก่

๑) สัญญาจ้าง

๒) คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง

๓) ระเบียบปฏิบัติในการทำงาน

๔) ธรรมเนียมปฏิบัติ

๕) ข้อบังคับในการทำงาน

๖) ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง

๗) คำชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน

๘) หลักศีลธรรมอันดีงามของประชาชน

๙) สภาพการจ้างโดยปริยาย

(๔)คำว่า "สวัสดิการ" หมายถึงอะไร

สวัสดิการ หมายถึง ประโยชน์หรือกิจกรรมที่มีคุณค่าแก่บุคคลที่นายจ้างได้จ่ายให้ แก่ลูกจ้างของตนเองซึ่งไม่มีคำนิยามศัพท์ของกฎหมายโดยเฉพาะ แต่อาจเทียบเคียงกับกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มาตรฐานสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งระบุว่าสวัสดิการหมายถึงสิ่งที่เอื้ออำนวยให้พนักงานมีชีวิตและสภาพการทำงานที่ดีและสะดวกสบาย สวัสดิการแบ่งออกป็น ๒ ประเภท ๑. สวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด และ ๒. สวัสดิการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

(๕) คำว่า "ที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ" หมายถึง อย่างไรได้บ้าง

"ที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ" เป็นหลักกฎหมายที่นำมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๔ "รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้

(๗) ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ"

กระทรวงแรงงานจึงได้ออกแนวปฏิบัติของกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗นิยามคำว่า "ที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ" หมายถึง การปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาและลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงบนพื้นฐานของหลักคุณธรรมในการจ้างโดยไม่ปฏิบัติต่อลูกจ้างทั้งสองดังกล่าวแตกต่างกันหรือด้อยกว่ากันในลักษณะที่ไม่สัมพันธ์กับระเบียบแบบแผนของผู้ประกอบการหรือเงื่อนไขของงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

๖) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๓๒๖-๒๒๔๐๔/๒๕๕๕ เกี่ยวข้องกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างเหมาแรงงาน อย่างไร และมีสาระสำคัญโดยสรุปอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกานี้วินิจฉัยเกี่ยวกับลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่สามารถเรียกร้องสิทธิจากสถานประกอบการได้ โดยศาลได้กำหนดหน้าที่ของสถานประกอบการที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างของผู้รับเหมาแรงงาน ตามคำวินิจฉัยดังต่อไปนี้

"ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ (นายจ้าง) ต้องดำเนินการให้โจทก์ทั้ง ๗๙ (ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง) ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่ารถ เงินโบนัสเท่ากับลูกจ้างตามสัญญาโดยตรงของนายจ้างได้หรือไม่ เพียงใด

เห็นว่าข้อท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า โจทก์ทั้ง ๗๙ ทำงานผลิตชิ้นงานชุดคลัทช์ ซึ่งเป็นงานหลักของจำเลยที่ ๑ (แปลความแบบกว้าง) กรณีจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑/๑ ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ หมายความว่าผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของผู้ประกอบการ"

สำหรับระเบียบแบบแผนที่เกี่ยวกับสวัสดิการ ผู้ประกอบการก็ต้องมาดูว่ามีอะไรบ้าง โบนัสมีไหม และมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข เงื่อนเวลาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่บัญญัติไว้

ข้อดีของฎีกานี้ คือ แม้ว่าลูกจ้างรับเหมาค่าแรงไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในข้อเรียกร้องหรือมีส่วนเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมการเจรจาหรือมีข้อตกลงกับผู้ประกอบกิจการหรือไม่ก็ตาม แต่หาก เป็นสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงไม่ว่าจะเป็นข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อบังคับการทำงาน ระเบียบ สัญญาจ้างผู้ประกอบการก็ต้องดำเนินการให้ผู้รับเหมาค่าแรง ลูกจ้างที่ทำงานในลักษณะเดียวกันได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกัน

กรณีลูกจ้างปัจจุบันของบริษัทผู้รับเหมาแรงงานซึ่งยังคงทำงานในสถานประกอบการ สามารถใช้สิทธิตามมาตรา ๑๑/๑ เรียกร้องย้อนหลังได้รวมถึงเรียกร้องให้สถานประกอบการจัดให้ตนเองมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างของสถานประกอบการโดยตรง โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับที่สถานประกอบการจัดให้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการโดยตรง หากสถานประกอบการมีหลักเกณฑ์การจ่ายสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ค่าครองชีพ ค่าเช่าบ้าน ค่ารถ ค่าอาหาร เงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงอย่างไรโดยกำหนดจากเงื่อนไข เงื่อนเวลาการทำงาน ทักษะ ประสบการณ์ ตำแหน่ง จำนวนผลผลิต คุณภาพอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกัน

ทั้งนี้ มีแนวตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๔๔/๒๕๔๘ วินิจฉัยว่า อายุความเรียกร้อง ๑๐ ปี

ในกรณีที่ผู้ประกอบการชำระเงินให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงแทนผู้รับเหมาแรงงาน ผู้ประกอบการสามารถฟ้องไล่เบี้ยกับผู้รับเหมาแรงงานได้หรือไม่ซึ่งปรากฎว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงต้องไปพิจารณาว่ามีข้อตกลงหรือสัญญาที่กำหนดเรื่องไล่เบี้ย ไว้หรือไม่ สัญญาจ้างผู้รับเหมาแรงงานจึงควรที่จะระบุว่าเมื่อได้จ่ายเงินใด ๆ แทนบริษัทผู้รับเหมาแรงงานไปแล้ว ให้มีสิทธิไล่เบี้ยได้

สุดท้าย ฝากคำคมไว้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณพระนพดล สำหรับธรรมะดี ๆ ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 580637เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2014 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2014 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เมื่ออาจารย์ศิลาปรากฎตัวอีกครั้งใน Gotoknow.org

ต้องฉลองใหญ่ครับ ;)...

ส่งคำคมมาฝากที่นี่เยอะๆ เลยค่ะ ชอบมากๆๆ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณสำหรับสาระความรู้ดีๆที่มีมาแบ่งปันเสมอค่ะ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท