งานได้ผล คนสำเร็จ ที่เทศบาลพระเสด็จ


งานได้ผล คนสำเร็จ ที่เทศบาลพระเสด็จ

"เด็กไม่ใช่ผู้ที่สร้างปัญหา แต่เรากลับมองว่าปัญหาเหล่านั้นมาจากตัวเด็กเอง"

เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของเทศบาลพระเสด็จบอกกล่าวก่อนที่เราจะพูดคุยถึงกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลทุ่งยั้ง กระบวนการทำงานเกี่ยวกับเด็กเยาวชนพื้นที่นี้เริ่มมาได้ระยะหนึ่ง และก้าวย่างการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่นี่ก็ไม่ได้แตกต่างจากพัฒนาการแก้ไขปัญหาในชุมชนอื่นๆ แต่อย่างใด เริ่มจากที่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาในมุมมองของคนทำงาน แล้วจัดการแก้ไขปัญหาโดยคิดกระบวนการรองรับตามวัฒนธรรมการแก้ไขปัญหาสำเร็จรูป แต่เมื่อเวลาผ่านไปปัญหานั้นยังคงอยู่และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ประโยคที่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนได้กล่าวก่อนที่เราจะคุยกันมีนัยสำคัญถึงการยอมรับว่า คนทำงานมักมีมุมมองต่อปัญหาโดยการมองไปยังจุดใดจุดหนึ่งและตัดสินการแก้ไขปัญหาภายใต้วิธีคิดแบบนี้ ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม หากวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้งจะเป็นปัญหาเชิงระบบที่มีเงื่อนไขของปัญหาซับซ้อน และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้แก้ไขที่ตัวเด็ก แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นครู และพ่อแม่ มีโจทย์ที่ท้าทายว่า ทำอย่างไรเวลาเด็กมีปัญหาเด็กสามารถปรึกษาพ่อแม่เป็นคนแรก

ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนของ อปท.ในขณะนั้น เรียกได้ว่า รูปแบบการทำงานยังไม่ชัดเจนมากนัก มีการคิดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหามากมาย มาในปลายปีพ.ศ.๒๕๕๔ มีทีมงานอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เข้ามาช่วยในส่วนของการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเชิงวิชาการ กระบวนการพัฒนาเริ่มต้นจากการจัดการข้อมูลเป็นประเด็นหลัก ใช้ข้อมูลเชิงสถิติการตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงวัย ของ รพ.สต.ชัยจุมพล จากโรงพยาบาลลับแล และโรงเรียนในพื้นที่ เป็นข้อมูลเพื่อดูแนวโน้มความรุนแรงของปัญหา ส่วนในชุมชนมีการใช้เครื่องมือ ๕ ชิ้น เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์เด็กและเยาวชน มีการคิดพัฒนาเครื่องมือเพื่อเอื้อให้การทำงานง่ายมากขึ้น โดยการทำ "แผนที่เด็กและเยาวชน" ใช้แผนที่ลงรายละเอียดผ่านสติกเกอร์สีแทนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง และต้องมีการเฝ้าระวัง นับได้ว่าเครื่องมือนี้ทำให้เกิดกระบวนการดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด และในระหว่างการทำงานทุกกระบวนการใช้ "การถอดบทเรียน" เป็นเครื่องมือในการทบทวน เรียนรู้และวางแผนต่อเนื่องในแต่ละขั้นตอน ในส่วนของการสนับสนุนจากคณะผู้บริหารเทศบาลพระเสด็จ ที่มีประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนมานาน ก็เห็นและเข้าใจปัญหา ทางเทศบาลให้งบประมาณในส่วนของงบหลักประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งมาจากงบ พมจ.เดิมที่สนับสนุนอยู่แล้ว และเทศบาลก็สนับสนุนทรัพยากรต่างๆเพื่อเอื้อให้ทีมงานได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเยาวชน จากเดิมที่เน้นการให้ความรู้(ที่คิดว่าเด็กต้องรู้) ถูกคิดออกมาภายใต้การวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่เป็นเงื่อนไขที่ให้ความสำคัญ กิจกรรมที่ได้จึงถูกคน ถูกที่และสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เริ่มเป็นรูปธรรม เริ่มเห็นช่องทางของความสำเร็จมากขึ้น จากการมีส่วนร่วมของภาคีที่ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในส่วนของสถิติการตั้งครรภ์ไม่พร้อม สถิติยังคงเท่าเดิมไม่ได้ลดลง แต่มองในมุมการพัฒนาก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะสถานการณ์สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและยากที่จะควบคุมได้ กลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชนเดิม ก็มีกิจกรรมทำต่อเนื่อง มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น และขยายเครือข่ายมากขึ้น ผู้ปกครองเดิมที่ไม่ค่อยให้ความสนใจก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพราะเห็นผลงาน เห็นศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่มารวมกลุ่มทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ในการเฝ้าระวังมีกลุ่มแกนนำเด็กและเยาวชนที่คอยเป็นหูเป็นตาประสานแจ้งข่าว เรียกกลุ่มนี้ว่า "กลุ่มแมวเซา" ทำให้กระบวนการของการดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชัดเจน ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นอกจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายและภาคีที่เกี่ยวข้องแล้ว เสียงสะท้อนจากคนทำงานก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่บอกถึงความสำเร็จในการทำงานพัฒนา หากว่าคนทำงานเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมที่ดีขึ้น มีความสุข มีกำลังใจในการทำงานก็ถือว่า เส้นทางที่เดินทางมาถูกต้องแล้ว

คุณบอล (พช.) บอกเล่าว่า "บริบททุกที่มันต่างกัน ทำงานกับเด็กมันยาก สมัยก่อนทำงานในพื้นที่ชายแดน การเดินทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมันลำบาก รวมตัวกันก็ยาก การจัดกิจรรมก็แยกกันจัด เหนื่อยและผลงานที่ได้ก็เหมือนกับว่าไม่คุ้มกับที่เหนื่อย มาทำงานที่นี่ (เทศบาลตำบลพระเสด็จ) ได้รับการยอมรับจากครู จากผู้นำในระดับต่างๆในชุมชน ขอความร่วมมือก็ง่าย ผู้บริหารระดับเทศบาลก็ใส่ใจให้การสนับสนุนเต็มที่ มองในทีมทำงานก็เป็นทีมที่ลงตัว ทำงานช่วยเหลือกัน แม้วันทำงานในพื้นที่จะเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สิ่งที่ทุ่มเทลงไปแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับมาก็คุ้มค่าที่เหนื่อย" คุณบอล บอกเล่าด้วยแววตาที่มีพลัง

คุณกบ บุคคลสำคัญของทีมงานอีกท่านที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กและเยาวชนมานาน เห็นพัฒนาการที่มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เล่าว่า "เมื่อก่อนก็ทำงานคนเดียว เหนื่อยมาก ตอนนี้ทำงานเป็นทีม มีทั้งโรงพยาบาล,รพ.สต.,และเครือข่ายเด็กที่นับวันจะมีการรวมกลุ่มเข้มแข็งมากขึ้น เรามีทีมงานที่เข้มแข็ง ทำให้การทำงานง่ายมากขึ้น เวลาเหนื่อยและท้อก็มีทีมงานคอยให้กำลังใจ" เสียงเล่าคุณกบเล่าถึงตรงนี้ด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตารื้นด้วยความสุข

คุณเขียว ทีมงานอีกคน เล่าว่า "เราโชคดีที่มีนายกที่ให้ความสำคัญกับงานเด็กและเยาวชน นายกคิด เราก็สนองความคิดท่านได้ เราก็ทำงานได้อย่างไม่ยุ่งยาก มีเครือข่ายที่พร้อมและเข้มแข็ง"

น้องกุ้ง สาวน้อยทีมงานที่มีอายุน้อยที่สุดเพิ่งเข้ามาทำงานได้ปีกว่า เดิมนั้นกุ้งเป็นแกนนำเยาวชนมาก่อน การทำงานตรงนี้ก็ถือว่าต่อยอดจากสิ่งที่ทำมาก่อน "ในช่วงก่อนโน้น ผู้ปกครองไม่มีความมั่นใจในตัวทีมงาน แต่พอเมื่อลูกของเขามาร่วมกิจกรรมแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ผู้ปกครองก็เปิดใจยอมรับมากขึ้น"

เสียงบอกเล่าจากทีมงานที่เป็นเสมือนตัวแทนของความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากพื้นที่เทศบาลพระเสด็จ ก็เพียงพอที่จะมองเห็นพัฒนาการของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้เลย หากคนทำงานไม่มีคุณภาพชีวิตผ่านการทำงานเหมือนทีมงานที่เทศบาลพระเสด็จ ผ่านทุกคำบอกเล่าที่เราได้ยิน....

วันนี้พวกเขากำลังเดินทางไปต่อ และสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆ

ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเองต่อไป


ถอดบทเรียน….โครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนวิชาการเพื่อพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๑๒/๑๑/๕๗

หมายเลขบันทึก: 580277เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท