พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก-จบ


พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก *

(จบ)

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระบุคลิกลักษณะที่พึงเห็นได้ดังนี้

 [อ่านพระบุคลิกภาพ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๓]

๗. ความรักประเทศชาติและประชาชน

            ถ้าเราจะหาบุคคลใดเป็นแบบอย่างที่ทั้งพูด ทั้งคิดและทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและประชาชนด้วยน้ำใสใจจริงของตังเองโดยแท้ และมิใช่เพราะเป็นหน้าที่ราชการที่บังคับผูกพันให้ต้องทำ สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงเป็นบุคคลที่อนุชนรุ่นหลังพึงควรถือเป็นแบบอย่าง ในข้อนี้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงพระกรณียกิจเป็นอุทาหรณ์ประกอบ แต่จะขออัญเชิญกระแสพระดำรัสซึ่งเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง อีกทั้งดลใจให้เกิดความหวังเมื่อใดที่รู้สึกระอาในความปั่นป่วนของกิจการบ้านเมือง กระแสพระดำรัสนี้เป็นความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงผู้ใดไม่ทราบแน่ แต่เข้าใจว่าเป็นลายพระหัตถ์ถึงฟรานซิส บี แชร์ (พระกัลยาณราชไมตรี) ที่เดินทางจากสหรัฐมาเมืองไทย ระหว่างสงคารมโลกขณะที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด ข้อความนี้เป็นภาษาอังกฤษพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดใหญ่ใส่กรอบไว้ ซึ่งโรงเรียนสงขลาวัฒนาได้มอบให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากรที่พระราชวังสนามจันทร์ ถอดความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
                    “…..ในระยะแรกเมื่อเยาว์วัยที่อยู่ในยุโรป ฉันมิได้ตระหนักทราบว่าประเทของฉัน บ้านเมืองไทยชองฉัน มีความหมายเพียงใดสำหรับฉัน จนกระทั่งฉันได้รู้จักและเกิดความรักประชาชนของฉัน เนื่องจากได้สัมผัส และทราบซึ้งในคุณลักษณะและความน่ารักน่านิยมชมชอบของประชาชนคนไทย ที่พูดเช่นนี้มิใช่เพราะฉันรู้สึกคิดถึงบ้าน แต่เป็นเพราะงานการศึกษาเล่าเรียนของฉันที่นี่ทำให้ฉันตระหนักแน่แก่ใจว่าบนพื้นพิภพนี้ และในชีวิตของฉันนี้ ฉันจะอยู่ในที่แห่งอื่นใดไม่ได้ นอกจากจะอยู่ในหมู่ประชาชนของฉัน ขาวสยามของฉัน"
                   “…...ท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าประเทศสยามได้เข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรในการสงครามถึงแม้ว่าฉันจะเคยศึกษาอยู่ในเยอรมันนี และยังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและมีความจริงใจต่อเพื่อนของฉันในประเทศนั้น แต่กระนั้นก็ดี ฉันเห็นดีเห็นชอบด้วยกับพระราโชบาย อันเด็ดเดี่ยวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเทศของฉันและประชาชนของฉันมาเป็นลำดับแรกก่อน ถัดจากนั้นจึงจะ ถึงความรู้สึกส่วนตัวของฉัน”
                  “…..ท่านถามฉันว่ามีสิ่งใดที่ฉันประสงค์จะฝากกลับไปกรุงเทพฯ บ้างหรือไม่ สิ่งที่ฉันขอฝากท่านนำไปกรุงเทพฯ ด้วยคือความรักประเทศชาติ และประชาชนของฉันกับความจงรักภักดีของฉันต่อพระเจ้าอยู่หัว”

๘. ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

                บุคคลที่มีอุดมการณ์และมีความคิดก้าวหน้าล้ำยุค มักจะเป็นผู้มีลักษณะที่ฝรั่งเรียกกันว่า angry young man ผู้ซึ่งจะประณามทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอดีตและปรามาสจารีตประเพณีและสถาบันต่างๆ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงเป็นปัญญาชนที่มีอุดมการณ์สูงและทรงมีความคิดก้าวหน้าล้ำยุค แต่มิใช่คนที่คิดและพูดเพียงเพื่อปลุกระดมคนให้ทำแทนตนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่ตนตั้งตัวเป็นอริ พระองค์ทรงเป็นผู้กระทำการด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นนักปฏิรูปสังคมในด้านซึ่งทรงเห็นว่าสำคัญและจำเป็นอันจะยังให้เกิดคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่แผ่นดินและประชาชนของพระองค์
                  สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงรับคตินิยมและค่านิยมของตะวันตกเฉพาะอย่าง ด้วยความสำนึกในคุณค่าดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น พระองค์จึงทรงมีพระวิจารณญาณอันสูงและเที่ยงตรง และทรงนิยมชมชื่นสิ่งดีมีคุณค่า ที่เป็นมรดกตกทอดมา แล้วด้วยเหตุนี้ สมเด็จฯ พระบรมราชชนกจึงทรงเทิดทูน และทรงมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างมั่นคง ต่อเนื่องโดยตลอดมาทุกพระองค์ ความรักชาติ รักประชาชน กับความจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ของพระองค์อันเป็นไตรภาค จึงอยู่ในพระทัยสำนึกเป็นนิจศีล และเป็นแนวทางชี้นำในการประกอบพระกรณียกิจต่างๆ กระแสพระดำรัสที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ที่อัญเชิญมาข้างต้น เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงพระหฤทัยของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกที่ฝักใฝ่แน่วแน่ในข้อนี้
* 100 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก โดยศาสตราจารย์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ (บทความพิเศษ สารศิริราช ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2535)
หมายเลขบันทึก: 57967เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท