จับกระแสสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)


จับกระแสสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๗

เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สภา สปช. ครั้งแรก เพื่อเลือกประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ อันถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งของ สปช. ตามโรดแมปที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘ (ภายใน ๓๑๙ วัน) [2]

ท่ามกลางกระแสของการประชุมสภา สปช. หมาด ๆ น่าจับตามองยิ่ง ว่าทิศทางแนวโน้มของ สปช. จะเป็นไปอย่างไร ไม่ว่าการเลือกประธานและรองประธาน สปช.คนที่ ๑ ที่ไร้คู่แข่งและมีการพิจารณาดำเนินการวาระอื่นที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการปฏิรูป ก็ได้เสร็จเรียบร้อยลงด้วยดี

อย่างไรก็ตามในภาพรวมการดำเนินการของ สภาสปช. ในนัดแรก ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แม้จะมีการปรามาศก่อนวันประชุมว่า “การเลือกประธาน-รองประธาน สปช. ไม่สวยแน่ ถ้าล็อกสเปกไร้คู่ชิง” [3]เพราะหากมีการเสนอชื่อเพื่อการเลือกประธานหรือรองประธานเพียงรายชื่อเดียวก็อาจทำให้สังคมมองว่าเป็นการล็อกสเปค ซึ่งไม่เป็นผลดีนัก เพราะ สปช. มีที่มาแตกต่างหลากหลาย ไม่เหมือน สนช. ซึ่งมีที่มาไม่หลากหลายนัก แต่ผลการดำเนินการประชุมไม่เป็นไปตามที่ปรามาศ และยังมีการแสดงออกของ สปช. ในความเห็นต่างตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยบ้าง อาทิ การเสนอชื่อรองประธาน คนที่ ๒ เกินกว่าหนึ่งคนที่ต้องมีการลงคะแนนลับเพื่อเลือกรองประธาน การแสดงความคิดเห็นเรื่องการนับระยะเวลาตามขั้นตอนโรดแมปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ [4] รวมถึงการพิจารณาคัดเลือกวิปคณะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สรรหาและตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิก สปช.เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ ๒๕๕๗ มาตรา ๓๒ (กมธ.ร่างฯ จำนวน ๒๐ คน) จำนวน ๒๒ คน และคณะกรรมาธิการร่างข้อบังคับการประชุมสภา สปช. ฉบับถาวร จำนวน ๑๙ คน เหล่านี้ ล้วนเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของ สปช. ที่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในโรดแมป โดยเฉพาะตามภารกิจเร่งด่วนที่ สปช. จะต้องเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ (ภายใน ๑๕ วัน) และ ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ (ภายใน ๖๐ วัน)

ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง ตามระบอบประชาธิปไตย ต้องมีความเห็นต่าง มีข้อโต้แย้งบ้างเป็นปกติธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียน กล่าวหา หรือแนะนำ ฯ ในความได้เปรียบเห็นว่าการดำเนินการของ สปช. คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกำหนดโรดแมปอาทิ การเสนอชื่อแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าประมาณวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ น่าจะเห็นรูปร่าง และหาก สปช.สามารถได้รายชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ก่อนวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ถือได้ว่ารวดเร็ว และอาจได้รายชื่อฯ ก่อน สภา สนช. และ ครม. อันจะเป็นการเร่งรัดกระตุ้นการทำงานของ สนช. ให้ดู สปช.เป็นแบบอย่างในการทำงาน

ความเห็นกระแสกรณี ป.ป.ช.มีมติให้สมาชิก สปช. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เห็นว่า อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก สปช. เพียงเล็กน้อย เพราะมีสมาชิก สปช.จำนวนประมาณ ๓๓ คน (ร้อยละ ๑๓) [5] ที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น ซึ่งหมายถึง อบต. อบจ. เทศบาล ส.ส. ส.ว. ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯอยู่แล้วการไม่กำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ อีก จึงเท่ากับเป็นการควบคุมบุคคลดังกล่าวไปในตัวอีกทางหนึ่ง

จุดอ่อนประการหนึ่งของ สปช. คือ มีสัดส่วนของข้าราชการและอดีตข้าราชการประจำมากกว่าครึ่งหนึ่ง กว่าร้อยละ ๙๐ อยู่ในวัยเกษียณ [6] อาจมีปัญหาเรื่องวิสัยทัศน์และวิธีคิด แม้จะมีความหลากหลายเป็นจุดแข็ง

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ในเรื่องระยะเวลาที่จำกัด และสั้นเพียงประมาณ ๑๑ เดือน (๓๑๙ วัน) อาจทำให้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ สปช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๑(๑) บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ได้ ตามที่มีผู้ให้ข้อสังเกต [7] เห็นว่า ในขั้นตอนที่เป็น การสร้างความปรองดองสมาน ฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นโจทย์ที่ คสช.ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายมาเข้าร่วมโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ในขณะที่ยังมีคนออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว คสช.ก็ใช้อำนาจห้ามปราม หากใช้อำนาจไปด้วยและหาแนวทางปรองดองด้วย การจะให้ทุกภาคส่วนมาเข้าร่วมก็อาจเป็นเรื่องยาก ระยะเวลาก็จะยืดขยายออกไป

สปช. ต้องมีการเสนอแผนการปฏิรูปใน ๑๑ ด้าน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้บุคคลที่มีที่มาจากความหลากหลาย ต่างแนวคิดให้หลอมแนวคิดได้ในระยะสั้น แต่พวกเรา สปช.ต้องพยายามหล่อหลอมแนวความคิดที่สร้างสรรค์นอกจากนี้ สปช.ต้องมีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอ สนช. ได้โดยตรง ซึ่ง สปช. ต้องมีมือยกร่างกฎหมายเช่น กฤษฎีกามาดำเนินการด้วย ซึ่งขณะนี้มีนักกฎหมายกฤษฎีกา (๙ ชช.) กรรมการร่างกฎหมายประจำ คือ คุณวรรณชัย บุญบำรุง จากสำนักงานกฤษฎีกา ฉะนั้น ระยะเวลาสั้นอาจมีปัญหาอุปสรรคที่ไม่อาจดำเนินการรวบรัดให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนดเวลาในโรดแมป

ด้วยความรักห่วงใย และเป็นกำลังใจจากสมาชิก สปช.ผู้หนึ่งให้แก่สมาชิก สปช.แม่น้ำสายที่ ๔ ของการปฏิรูป จึงเสนอแนวคิดแนวทาง แสวงหาทางร่วม เพื่อเป็นประกายจุดเริ่มต้นแก้ไขปัญหาอุปสรรคขวากหนามต่าง ๆ ให้ผ่านไป


[1] สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย , ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียงจ.แม่ฮ่องสอน , บทความพิเศษ, ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ปีที่ ๖๕ ฉบับที่ ๒๒๔๕๙ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ <หน้า ๑๐ คอลัมน์ การเมืองท้องถิ่น> จับกระแส สปช.

[2] “เปิดภารกิจ สปช.-กมธ.ยกร่างฯ ๓๑๙วันสู่รธน.ใหม่-ปฏิรูปประเทศ”, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20141022/612717/เปิดภารกิจ-สปช.-กมธ.ยกร่างฯ.html

[3] “เลือกประธาน-รองประธาน สปช.๒๑ ต.ค.ไม่สวยแน่ ถ้าล็อกสเปกไร้คู่ชิง”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://www2.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000120918

[4]มาตรา ๓๒ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ กำหนดให้การแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุม สปช.ครั้งแรก ซึ่งที่ประชุมถกเถียงกันว่าจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สปช.) ออกหนังสือเชิญประชุม สปช.นัดแรก หรือนับตั้งแต่วันประชุมนัดแรก คือ ๒๑ ต.ค. ๕๗

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สปช.ด้านการเมือง ในฐานะว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ ๑ อภิปรายชี้แจงว่า วันที่สำนักงานเลขาธิการ สปช.ออกหนังสือเชิญประชุมนั้น เป็นการ "นัดประชุม" ไม่ใช่ "เรียกประชุม"

การเรียกประชุม สปช.นัดแรกไม่ได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด จึงต้องนำมาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาประกอบการพิจารณา คือ "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

[5] "สแกนใครเป็นใครใน สปช. : สภาปฏิรูปนายทุนขุนนางและนกหวีด", ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://www.prachatai.com/journal/2014/10/55889

[6] "สุริยะใส"วิเคราะห์๕จุดแข็ง๔จุดอ่อนสปช., ๗ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://www.thaipost.net/hot-news/071014/97257

[7] เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช, ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดลอ้างใน รายงานพิเศษ ข่าวสดออนไลน์, “จุดอ่อน-จุดแข็งโรดแม็ป คสช.”, ๔ มิถุนายน ๒๕๕๗, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1401862677

หมายเลขบันทึก: 579462เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2014 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2017 07:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท