การวิเคราะห์การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนในประเทศไทย (Analysis of Duplicate Publication in Thailand)


การศึกษาเกี่ยวกับการกระทำผิดจริยธรรมในแง่ของการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อน (Duplicate publication) ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก ส่วนมากจะเป็นการพูดถึงการกระทำผิดจริยธรรมในแง่การลอกเลียนหรือการโจรกรรมผลงานวรรณกรรมของผู้อื่น (Plagiarism) มากกว่า ซึ่งอาจเป็นการลอกเลียนผลงานมาทั้งหมดหรือบางส่วนที่เหมือนหรือเกือบเหมือนงานดั้งเดิมของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นงานของตนเอง ซึ่งประเด็นการลอกเลียนหรือการโจรกรรมผลงานทางวิชาการได้รับความสนใจอย่างมากจากหน่วยงานต่างๆและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารและบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาหรือแวดวงวิชาการ สำนักพิมพ์หรือบรรณาธิการวารสารวิชาการ หน่วยงานที่สนับสนุนการทำวิจัย รวมทั้งตัวเจ้าของผลงานเอง ทั้งนี้หลายหน่วยงานโดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาของไทยหลายๆแห่งได้พยายามนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบการลอกเลียนผลงานวรรณกรรมทางวิชาการ (Plagiarism detection tools) ไม่ว่าจะเป็นผลงานในรูปแบบรายงาน (Report) วิทยานิพนธ์ (Thesis) หรือการศึกษาค้นคว้าอิสระ (Independent study) เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบการลอกเลียนผลงานวรรณกรรมทางวิชาการ เช่น โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้เปิดให้สถาบันการศึกษาอื่นๆได้นำไปใช้ด้วย นอกจากนี้ยังมี Turnitin, Article Checker, Scan My Essay, Article Checker, Plagiarism Detect.com, WCopybind เป็นต้น ส่วนปัญหาการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนในประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องมากนัก ผู้เขียนพยายามสืบค้นงานที่ศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนในประเทศไทยแต่ก็ยังไม่พบผลงานที่เผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่วนมากเป็นบทความปริทรรศน์ที่กล่าวถึงจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยโดยทั่วไป (Publishing ethics) โดยกล่าวรวมเอาการกระทำผิดในแง่ของการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อน (Duplicate publication) ไว้ด้วยเท่านั้น ทำให้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณงานผลงานวิชาการและงานวิจัยที่มีการเผยแพร่ซ้ำซ้อนว่ามีมากน้อยเพียงใด และมีรูปแบบอย่างไรบ้าง ผู้เขียนได้สำรวจผลงานวิชาการและงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ซ้ำซ้อนในประเทศไทย ซึ่งนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ในบทความ “การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนในประเทศไทย (Duplicate publicationin Thailand)” หากผู้อ่านสนใจสามารถเข้าไปอ่านได้ สำหรับบทความนี้ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์ถึงรูปแบบของการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อน โดยการนำเอารายการผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมด 32 รายการมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (In-depth analysis) ต่อเพื่อให้เข้าใจรูปแบบของการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนให้มากขึ้น ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนจำแนกตามประเภทผู้เผยแพร่ (Duplicate publication classified by author)




จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกมีการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนมากที่สุดคือพบ 17 รายหรือคิดเป็น 53% จากจำนวนผลงานวิชาการและงานวิจัยที่สำรวจพบว่ามีการเผยแพร่ซ้ำซ้อน รองลงมาคือกลุ่มที่เป็นอาจารย์ซึ่งทั้งหมดเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาพบว่ามีจำนวน 10 รายหรือคิดเป็น 31% จากจำนวนผลงานวิชาการและงานวิจัยที่สำรวจพบว่ามีการเผยแพร่ซ้ำซ้อน ส่วนกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทนั้นพบว่ามี 4 รายหรือคิดเป็น 13% จากจำนวนผลงานวิชาการและงานวิจัยที่สำรวจพบว่ามีการเผยแพร่ซ้ำซ้อนและกลุ่มที่พบน้อยที่สุดคือบุคคลทั่วไปที่มีแค่ 1 รายหรือคิดเป็น 3% จากจำนวนผลงานวิชาการและงานวิจัยที่สำรวจพบว่ามีการเผยแพร่ซ้ำซ้อน

การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนจำแนกตามจำนวนแหล่งที่เผยแพร่ (Duplicate publication classified by number of publication source)




ผลงานวิชาการและงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ซ้ำซ้อนพบว่ามักจะเผยแพร่ไม่เกิน 2 แหล่งคืออาจตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแห่งหนึ่งก่อนแล้วนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอื่น หรือมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหนึ่งก่อนแล้วนำไปเสนอในการประชุมวิชาการอื่น หรือการนำเสนอผลงานวิชาการและงานวิจัยในการประชุมวิชาการหนึ่งก่อนแล้วนำมาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอื่น หรือการนำไปเสนอในการประชุมวิชาการที่หนึ่งซ้ำไปแล้วยังนำไปเสนอในการประชุมวิชาการที่อื่น เป็นต้น ซึ่งพบว่าว่ามีจำนวน 25 รายหรือ 78 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมดรองลงมาคือการเผยแพร่ไปทั้งหมด 3 แหล่งคือครั้งแรกนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือนำไปเสนอในการประชุมวิชาการแล้วนำมาเผยแพร่ซ้ำด้วยการนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือนำไปเสนอในการประชุมวิชาการและยังนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือนำไปเสนอในการประชุมวิชาการอีก ซึ่งพบว่ามีจำนวน 5 รายหรือ 16 % ส่วนการเผยแพร่ซ้ำซ้อนมากกว่า 3 แหล่งพบไม่มากนักคือพบว่ามีผลงานวิชาการและงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ซ้ำซ้อน 4 แหล่งพบว่ามี 1 ราย คิดเป็น 3 % และ 5 แหล่งพบ 1 ราย คิดเป็น 3 % เท่ากันจากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมด

การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนจำแนกตามประเภทของแหล่งที่เผยแพร่ก่อนและหลัง (Duplicate publication classified by first and subsequent publication)



รูปแบบของการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนที่สำรวจพบมากที่สุดพบว่าเป็นการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแห่งหนึ่งก่อนแล้วถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอื่นตามมาโดยพบว่ามีการเผยแพร่ซ้ำซ้อนในแบบดังกล่าว 14 รายคิดเป็น 43 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมด รองลงมาได้แก่การเผยแพร่ซ้ำซ้อนด้วยการนำเสนอผลงานวิชาการและงานวิจัยในการประชุมวิชาการก่อนแล้วนำมาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอื่นอีกซึ่งพบว่ามี 13 รายคิดเป็น 41 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่ามีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหนึ่งก่อนแล้วนำไปเสนอในการประชุมวิชาการอื่นอีกซึ่งพบว่ามี 5 รายคิดเป็น 16 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมด และใน 5 รายนี้ยังพบว่านอกจากตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหนึ่งไปก่อนแล้วนำไปเสนอในการประชุมวิชาการที่หนึ่งซ้ำไปแล้วยังมีการนำไปเสนอในการประชุมวิชาการที่อื่นซ้ำอีกเป็นการเผยแพร่มากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป

การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนจำแนกตามประเทศที่ถูกนำไปเผยแพร่ก่อนและหลัง (Duplicate publication classified by first and subsequent country of publishing)



ผลงานวิชาการและงานวิจัยที่ถูกสำรวจพบว่ามีการเผยแพร่ซ้ำซ้อนส่วนใหญ่มักเป็นการเผยแพร่ครั้งแรกด้วยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือการประชุมวิชาการภายในประเทศและถูกเผยแพร่ซ้ำด้วยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอื่นหรือการประชุมวิชาการอื่นภายในประเทศเช่นกันซึ่งพบว่ามีจำนวนถึง 28 รายหรือคิดเป็น 87.5 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมด ส่วนการเผยแพร่ด้วยการด้วยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือการประชุมวิชาการภายในประเทศแล้วถูกนำไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสารวิชาการอื่นหรือการประชุมวิชาการอื่นของต่างประเทศพบจำนวนที่น้อยกว่ามากคือมีเพียง 2 รายหรือคิดเป็น 6 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบเท่านั้น และการเผยแพร่ด้วยการด้วยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือการประชุมวิชาการในต่างประเทศแล้วถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำในวารสารวิชาการอื่นหรือการประชุมวิชาการอื่นภายในประเทศอีกพบเพียง 3 ราย โดย 1 ใน 3 รายนี้เป็นการเผยแพร่ในต่างประเทศครั้งหนึ่งแล้วนำมาเผยแพร่ซ้ำในประเทศสองครั้ง

การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนจำแนกตามระยะห่างของเวลาของผลงานที่ถูกนำไปเผยแพร่ก่อนและหลัง (Duplicate publication classified by time lapping of first and subsequent publication)



ผลงานวิชาการและงานวิจัยที่ถูกสำรวจพบว่ามีการเผยแพร่ซ้ำซ้อนส่วนใหญ่มักเป็นการเผยแพร่ซ้ำห่างจากการเผยแพร่ครั้งแรกในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนซึ่งพบว่ามีถึง 22 รายหรือคิดเป็น 68 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมด ส่วนการเผยแพร่ซ้ำที่มีระยะเวลาห่างจากการเผยแพร่ครั้งแรกเกิน 6 เดือนแต่ไม่เกิน 1 ปีพบว่ามี 5 รายหรือคิดเป็น 16 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมดและสุดท้ายการเผยแพร่ซ้ำที่มีระยะเวลาห่างจากการเผยแพร่ครั้งแรกเกิน 1 ปีพบว่ามี 5 รายหรือคิดเป็น 16 % จากผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนที่สำรวจพบทั้งหมดเช่นกัน

การผลแพร่ผลงานที่มีระยะเวลาห่างกันไม่มากเช่นไม่เกิน 6 เดือนส่วนหนึ่งมักเกิดจากการส่งต้นฉบับซ้อน (Simultaneous Manuscript Submission)ของเจ้าของผลงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการตอบรับให้เผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือการประชุมวิชาการ ซึ่งการการส่งต้นฉบับซ้อนเป็นการผิดจริยธรรมในการเผยแพร่งานวิชาการและงานวิจัยแบบหนึ่งด้วย

นอกจากสิ่งที่พบข้างต้นจากการวิเคราะห์รูปแบบของการผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนที่สำรวจพบ ยังมีประเด็นอื่นๆที่พบได้จากการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อน คือ

- การเผยแพร่ผลงานผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนโดยทั้งต้นฉบับและผลงานที่เผยแพร่ซ้ำนั้นมีความเหมือนกันทั้งหมดทั้งชื่อเรื่อง บทคัดย่อและเนื้อหา

โดยพบว่าข้อความในบทคัดย่อรวมทั้งในเนื้อหาของผลงานที่พบว่าเผยแพร่ซ้ำซ้อนอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างเพียงเล็กน้อยซึ่งอาจเกิดจากการแก้ไขโดยตัวเจ้าของผลงานเอง หรือการแก้ไขตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ตรวจทานผลงาน (Peer reviewer)

ตัวอย่างที่ 1



ตัวอย่างที่ 2



- การเผยแพร่ผลงานผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนด้วยการเปลี่ยนแปลงชื่อเรื่อง

ตัวอย่างที่ 1



ตัวอย่างที่ 2



- การเผยแพร่ผลงานผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนโดยเปลี่ยนแปลงชื่อหรือจำนวนผู้ร่วมนิพนธ์

การเผยแพร่ผลงานผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนโดยเปลี่ยนแปลงชื่อหรือจำนวนผู้ร่วมนิพนธ์ ส่วนใหญ่พบว่าเป็นการตัดรายชื่อผู้ร่วมนิพนธ์ (Co-author) หรือผู้ร่วมวิจัยคนอื่น (Co-researcher) ออกไป ให้เหลือเฉพาะผู้นิพนธ์หรือผู้วิจัยเพียงคนเดียวเพื่อทำให้ตัวเองเป็นเจ้าของผลงานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว การกระทำเช่นนี้ถือว่ามีความผิดทั้งในแง่ของจริยธรรมของการวิจัยและจริยธรรมในการเผยแพร่งานวิชาการและงานวิจัย เพราะถือเป็นการขโมยผลงานของผู้ร่วมวิจัยคนอื่นๆซึ่งมีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยชิ้นนั้นด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องความขัดแย้งในการเป็นผู้นิพนธ์ (Authorship Conflict) ตามมาอีกด้วยเพราะหากผู้ร่วมวิจัยหรือผู้ร่วมนิพนธ์คนอื่นๆมาพบเข้าย่องเกิดการอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของผลงานร่วม (Co-proprietorship) ซึ่งกรณีดังกล่าวสามารถนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายได้

ตัวอย่างที่ 1



ปัญหาการเผยแพร่ผลงานวิชาการและวิจัยซ้ำซ้อนควรได้รับการเฝ้าระวังรวมถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือต้องมีการปลูกฝังให้นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษาหรือเจ้าของผลงานตระหนักและเข้าใจในจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยรวมทั้งเข้าใจในผลเสียของการเผยแพร่ผลงานวิชาการและวิจัยซ้ำซ้อนด้วย นอกจากนี้เจ้าของวารสารวิชาการ คณะกรรมการในการประชุมวิชาการ ผู้บริหารสถาบันหรือหน่วยงานต้นสังกัดของบุคคลเหล่านี้จะต้องมีการออกนโยบายและประกาศกฎระเบียบข้อบังคับและการลงโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือการกระทำผิดด้วยการเผยแพร่ผลงานวิชาการและวิจัยซ้ำซ้อนออกมาอย่างชัดเจน หรืออาจมีการร่วมมือกันสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลและผลงานที่เผยแพร่ซ้ำซ้อนเพื่อเอาไว้สำหรับเผยแพร่รายชื่อบุคคลและผลงานที่ได้กระทำผิดด้วยการเผยแพร่ผลงานวิชาการหรืองานวิจัยซ้ำซ้อนไว้ในฐานข้อมูลนี้ซึ่งน่าจะเป็นการป้องปรามได้ดี ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศก็มีเวบไซต์ซื่อ Dejavu ซึ่งเป็นเวบไซต์ที่รวบรวมและเผยแพร่ผลงานและงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการต่างๆรวมถึงรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceeding) ที่มีเนื่อหาและผลวิจัยคล้ายคลึงกันมาก (Highly similar) ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปสืบค้น ได้ ซึ่งเวบไซต์นี้จะบอกถึงระยะเวลาที่ห่างกันระหว่างผลงานที่เผยแพร่ครั้งแรกและผลงานที่เผยแพร่ซ้ำ (Time lag) สัดส่วนความเหมือน (Similarity ratio) รวมทั้งเปอร์เซ็นต์ความเหมือนของเนื้อหาทั้งหมดระหว่างผลงานที่ซ้ำกัน (Full text similarity) อีกด้วย

นอกจากนี้บรรณาธิการวารสารวิชาการหรือคณะกรรมการการประชุมวิชาการควรมีการตรวจสอบผลงานที่ส่งมาให้พิจารณาอย่างละเอียดมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจสอบการลอกเลียนแบบผลงานวรรกรรม หากสถาบันใดไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าว สิ่งที่ผู้เขียนอยากแนะนำบรรณาธิการวารสารวิชาการหรือคณะกรรมการการประชุมวิชาการคือในยุคปัจจุบันข้อมูลผลงานวิชาการและงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและที่เผยแพร่ในการประชุมวิชาการส่วนมากมักถูกนำมาเผยแพร่ไว้บนอินเตอร์เนตเพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ ดังนั้นหากบรรณาธิการวารสารวิชาการหรือคณะกรรมการการประชุมวิชาการต้องการตรวจสอบว่าผลงานที่ส่งมาให้พิจารณานั้นมีการนำไปเผยแพร่มาก่อนหน้านี้แล้วหรือยัง ก็สามารถนำเอาคำสำคัญ (Key word) และชื่อผู้แต่ง (Author) ไปสืบค้นใน Google ดูก่อนได้  เช่น

ซึ่งอาจทำให้สามารถตรวจพบข้อมูลการตีพิมพ์ของผลงานชิ้นนั้นที่อาจมีการเผยแพร่บนอินเตอร์เนตโดยวารสารวิชาการหรือการประชุมวิชาการได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปซ้ือลิขสิทธิ์เทคโนโลยีการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมในราคาแพง ซึ่งผู้เขียนใช้วิธีดังกล่าวในการค้นหาผลงานวิชาการและวิจัยที่ถูกเผยแพร่ซ้ำซ้อนที่พบในบทความที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปสืบค้นจากเวบไซต์ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Center หรือ TCI)ซึ่งได้นำเอาฐานข้อมูลวารสารวิชาการในประเทศไทยมารวบรวมไว้ให้ผู้สนใจได้เข้าไปสืบค้นผลงานวิชาการหรืองานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลนี้




References

1. การลอกเลียนงานวิชาการและวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism), จิราภา วิทยาภิรักษ์, วารสารครุศาสตร์อุตสาหกรรม ปีที่ 11 ฉบับที่ 3 มิถุนายน – กันยายน 2555

2. การเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยซ้ำซ้อนในประเทศไทย (Duplicate publication in Thailand), กรธัช อยู่สุข, https://www.gotoknow.org/user/korntouchy

หมายเลขบันทึก: 579456เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2014 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2014 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท