ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗


ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗

ทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร น่าติดตาม จากโรดแมป ๓๑๙ วัน ที่เริ่มนับจากวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ไปสิ้นสุดครบกำหนดวันที่ ๔ ก.ย.๕๘ ซึ่งเป็นวันที่ประธาน สปช.ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฯ

คงต้องจับตามองกันไม่กระพริบ ในตัว “กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ” (กมธ.รธน.) หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ สสร. ๓ ตามคำศัพท์ที่ติดปากกันมาว่า สสร. ๑ ก็คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และ สสร. ๒ ก็คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

ด้วยรัฐธรรมนูญก็คือกฎหมายสูงสุดของประเทศ อันเป็นกรอบกำหนดทิศทางในการปกครองการบริหารประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร ฉะนั้น ต้องให้ความสำคัญในหลักการ Constitutionalismคือ ให้ความสำคัญกับกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องคงทนยาวนานต่อเนื่องนอกจาก “หลักสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” แล้ว ในฐานะรัฐเดี่ยว “หลักความสูงสุดของรัฐสภา” หรือสภาเป็นใหญ่ ต้องนำมาพิจารณาคำนึงด้วย และแม้หลักความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กับหลักความสูงสุดของรัฐสภาไม่เกี่ยวกัน แต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติอย่างไรก็ได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ มาตรา ๓๕ ซึ่ง ศ.ดร.วิษณุเครืองาม [2] ให้แง่คิดว่า “...รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะสั้น ไม่ควรเขียนยาว หากมีปัญหาควรเปิดให้ศาลตัดสินโดยควบคุมกระบวนการศาลให้หาคนที่ดี และควรยืดหยุ่นไม่มัดว่าแก้ไม่ได้หรือฉีกทิ้ง … เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ หรือ ๒๕๕๐ บ้านเมืองเราตกหลุมพราง อ่านแล้วไม่เข้าใจว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ หรือให้ทำอย่างไร…”

ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ มีมาตราหลักสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ มาตรา ๓๒ (คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) มาตรา ๓๕ (คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่อง ต่าง ๆ ๑๐ เรื่อง) มาตรา ๑๘ (เอกสิทธิ์ความคุ้มครองคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการประชุมสภาฯเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด จะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใดมิได้) มาตรา ๔๖ (ในกรณีจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้)

ในมุมมองของประชาชนมีข้อน่าพิจารณา ดังนี้

(๑) ความคาดหวังต่อ สปช. และ กมธ.รธน. ในสายตาของประชาชน

จุดเด่นประการหนึ่งของ สปช. ก็คือความหลากหลายในตัวบุคคล จึงมีความเห็นส่วนหนึ่งว่ากรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วน สปช. ๒๐ คน จึงไม่จำเป็นต้องเอาคนนอก สปช. แม้จะมีเสียงว่า ให้เอาคนนอกมาร่วมด้วยในสัดส่วน ๕ คน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ให้โอกาสทุกกลุ่มการเมืองอื่น กลุ่มเคลื่อนไหว ที่เป็นต้นตอของปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย [3]

ความเห็นในความสำคัญของคนนอกที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็น กมธ.รธน. นั้น โจทก์ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่วนหนึ่งคือต้องแก้ไขความขัดแย้ง ถ้าหากคู่ขัดแย้งไม่ได้มีส่วนร่วมความขัดแย้งก็ไม่จบ และแม้ว่า สปช. ที่เข้าไปเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรู้หมดทุกเรื่อง หรืออาจมีอุดมคติที่สูงเกิน

(๒) พูดถึงเวทีการปฏิรูป ต้อง ใช้เวที สปช.เป็นหลัก

ควรมีการจัดเวทีสมทบสำหรับผู้สมัคร สปช. ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกกว่า ๗,๐๐๐ คน และผู้ที่เป็นกรรมการสรรหา สปช. ทั้ง ๗๗ ท่าน เพื่อที่จะเสนอแนวทางการปฏิรูป ควบคู่กันไป [4]

โดยเวทีแรกต้องยึดเวทีของ สปช. เป็นหลัก มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน ๑๖ คณะ และคณะกรรมาธิการวิสามัญ ๕ คณะ [5]

เพื่อรองรับการศึกษาและหาแนวทางการปฏิรูปประเทศ ๑๑ ด้าน ซึ่งแยกย่อยออกไป ๓๐ กว่าด้าน โดยชุดที่เป็นพระเอกและต้องมีคำตอบให้เร็วที่สุด คือ ชุดคณะกรรมาธิการด้านการเมือง ชุดคณะกรรมาธิการด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ชุดคณะกรรมาธิการด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น และชุดคณะกรรมาธิการด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องรีบทำให้เสร็จและนำมาใส่ในรัฐธรรมนูญก่อน [6]

โดยเฉพาะ สปช. ด้านปกครองท้องถิ่น ต้องหารือกับ สปช. ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเพื่อความสำเร็จของการปฏิรูป เป็นต้น

(๓) เรื่องห้วงเวลา ๓๑๙ วัน หรือ ๓๔๐ วัน หรือ ๑ ปี การปฏิรูปไม่น่าเสร็จทุกอย่าง

สปช. ต้องทำงานแข่งกับห้วงเวลาที่ค่อนข้างจำกัด อาจเกิดความกดดันการทำงาน โดยเฉพาะการปรับความเห็นต่างในความหลากหลาย ซึ่ง ศ.ดร.วิษณุ [7] เห็นว่า การปฏิรูปประเทศคงไม่สำเร็จโดยง่ายภายใน ๑ ปี แต่บางเรื่องน่าจะเสร็จได้ สรุปประมาณปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ รัฐธรรมนูญอาจจะประกาศใช้ได้ ขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำกฎหมายลูกก่อนการเลือกตั้ง คาดเลือกตั้งในปี ๒๕๕๙

(๔) อย่าหลงประเด็น หมกมุ่นแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อ.เจษฎ์ โทณวณิก [8] เสนอแนะว่า สปช. อย่าได้หลงประเด็น หมกมุ่นแต่ รธน. เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ การปฏิรูปประเทศไทย การปฏิรูปประเทศไม่ใช่แค่การร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น สปช. ไม่ใช่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจจะปฏิรูปไม่สำเร็จก็เป็นได้

ศ.ดร.วิษณุ [9] ให้แนวคิดกรอบกว้างๆ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี ๑๐ เรื่อง บวก ๑ เรื่อง เช่น การกำหนดรูปแบบรัฐเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่เขียนไปมาเป็นสหพันธรัฐ ไทยต้องปกครองเหมาะสม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการวางมาตรการสำหรับการคดโกงการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งได้อีกอย่างถาวร นอกจากนี้ ในเรื่องนโยบายประชานิยม อันนี้ต้องมาคิด เพราะประชานิยมบางอย่างดี บางอย่างไม่ดี คือเขียนได้แบบห้ามมีประชานิยม แบบไม่พึงปรารถนา แต่ไม่ได้ให้ไม่มี และข้อที่บวก ๑ นั้น คือ ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปคิดเองว่าองค์กรอิสระที่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเดิม มีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่จำเป็นก็ยุบ หรือหากจำเป็นน้อยลงก็ลดอำนาจเสีย


[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทยปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียงจ.แม่ฮ่องสอน

[2] “วิษณุ” เผยรัฐจัด ๓-๔ เวทีให้พวกแห้ว สปช. คาดเลือกตั้งปี ๕๙ ไม่ขัดข้องหากจะลงประชามติรัฐธรรมนูญ, ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗,

http://www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9570000119880

[3] “วันชัย แจงสัดส่วน กมธ.รธน. คนนอก เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม”, INN, ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗,

http://hilight.kapook.com/view/110146

[4] ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗,อ้างแล้ว

[5] “สปช.ยกร่างข้อบังคับฯ ตั้ง กมธ.สามัญ ๑๖ คณะ”, Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TNPOL5710240010021

[6] ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗,อ้างแล้ว

[7] ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗, อ้างแล้ว  ดู "ไทม์ไลน์ยกร่างรัฐธรรมนูญ", ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://hilight.kapook.com/view/110285

[8] “เจษฎ์ แนะ สปช. อย่าหลงประเด็น หมกมุ่นแต่ รธน.”, ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://hilight.kapook.com/view/110153

[9] ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗,อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 579441เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2014 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท