ประสบการณ์จากการฝึกงาน : อยากรู้จักโลก (โรค) ของหนูไหม?




เนื่องในวันนี้เป็นวันกิจกรรมบำบัดสากล ดิฉันหนึ่งในนักศึกษากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล อยากจะเล่าประสบการณ์ที่ได้ไปฝึกงานโดยผ่านเรื่องสั้นให้ผู้อ่านได้เข้าใจและรู้จักบทบาทนักกิจกรรมมากยิ่งขึ้น… มาเริ่มกันเลยนะคะ ^^


         ในช่วงเวลาของการฝึกงาน เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เข้ามา ทั้งคนไข้ ทั้งพี่ๆที่ทำงาน และเพื่อนใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนบททดสอบหนึ่งในชีวิต ที่เราต้องพบเจอในชีวิตของการเป็นนักศึกษา

         เวลาบ่ายของการฝึกงาน ถึงเวลาที่ต้องขึ้นไปดูคนไข้บนตึก เหมือนกับในทุกๆวัน แต่วันนี้พี่ได้พูดขึ้นว่า

ดรีมวันนี้ไม่ต้องขึ้นไปบนตึกนะ เดี๋ยวเคสเด็กที่พี่หาไว้ให้จะมา น้องอายุ 13 ปี เป็น MR* ระดับ Mild”

         หลังจากที่ได้ฟังพี่บอก รู้สึกทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มประเมินเด็กที่ตรงไหน เพราะนี่ถือว่าเป็นเด็กคนแรกเลยก็ว่าได้ ที่ได้รับผิดชอบ และที่สำคัญเป็นเด็กอายุใกล้เข้าสู่วัยรุ่น

*(MR หรือ Mental Retardation คือ สภาวะที่เชาวน์ปัญญาต่ำกว่าปกติ ทำให้ความสามารถในการพึ่งตนเองและความสามารถในการรับผิดชอบต่อสังคมตามควรแก่วัยหรือตามที่สังคมของตนหวังไว้บกพร่องไป รวมทั้งการพัฒนาทางบุคลิกภาพ ก็ไม่เจริญสมวัย)

       และแล้วเวลานั้นก็มาถึง เด็กสาวผมยาวถักเปีย รูปร่างค่อนข้างสูง ผิวสองสี สีหน้าบึ้งตึง เดินมาพร้อมกับคุณแม่ เดินเข้ามาในแผนก ในหัวแว๊ปแรก ดิฉัน คิดในใจว่า ต้องใช่แน่เลย คนนี้แน่ๆ และความคิดของดิฉันก็ไม่ผิดจริงๆ

       เด็กสาวคนนั้นเดินเข้ามาพร้อมกับยกมือสวัสดีฉัน หลังจากที่คุณแม่ของเธอบอก ฉันรับไหว้ และพยายามเข้าไปตีสนิท พูดคุย ถาม เพื่อให้เด็กสาวรู้สึกสบายใจ

       บรรยากาศในห้องฝึกนั้น เป็นการพูดคุยกันแบบพี่น้อง หลังจากที่ชวนคุยสักพัก เด็กสาวคนนี้เริ่มยิ้มออกมา (ฉันรู้มาจากคุณแม่ของน้องว่า น้องชื่นชอบเจมส์มาร์ เมื่อชวนพูดคุยถึงเรื่องเจมส์มาร์ทำให้เด็กสาวคนนี้เผยรอยยิ้มออกมา ในขณะที่ฉันกำลังประเมินเด็กสาวคนนี้อยู่นั้น เมื่อจะเริ่มให้ทำอะไร เด็กสาวคนนี้ จะพูดคำพูดหนึ่งออกมาว่า “ หนูทำไม่ได้หรอกพี่” สิ่งที่ฉันเห็นในเด็กคนนี้คือความไม่มั่นใจ

       เมื่อสิ้นสุดการฝึกในวันแรก ทำให้ดิฉันได้เห็นปัญหาของเด็กสาวคนนี้มากขึ้น และวางแผนการรักษาต่อไป หลังจากนั้นฉันได้คุยกับคุณแม่ คุณแม่เล่าให้ฉันฟังว่า

“ เวลาอยู่บ้าน แม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ เค้าจะอยู่ในห้อง เพราะแม่ก็ต้องออกไปทำงาน บางทีเวลาแม่ทำอะไรไม่ถูกใจ มักจะตีแม่ บางทีแม่อดใจไม่ไหวก็ตีส่วนกลับไป”

       จากคำพูดที่คุณแม่ของเด็กสาวคนนี้บอก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว และพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมา


       วันที่ 10 สิงหาคม ทางแผนกได้จัดงานวันแม่ขึ้น โดยได้มีเด็กๆและผู้ปกครองมาเข้าร่วม โดยหนึ่งในนั้น คือ เด็กหญิงฟ. เด็กสาวที่ฉันดูแลอยู่ วันนี้เด็กหญิงฟ.มากับคุณแม่เช่นเคย

        และเมื่อเวลามาถึง กิจกรรมก็เริ่มต้นขึ้น พี่ที่เป็นคนนำกิจกรรมได้ให้ทุกคนสงบนิ่ง แล้วให้เด็กๆระลึกถึงพระคุณแม่ ในขณะนั้นเองเด็กหญิงฟ.ร้องไห้พร้อมทั้งเข้าไปกอดแม่ เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก แต่หลังจากที่กิจกรรมระลึกถึงพระคุณแม่จบลง เด็กสาวยังคงร้องไห้และไม่ยอมเริ่มกิจกรรมต่อไป

         ทุกคนต่างออกจากห้อง เพื่อไปทำกิจกรรมทำแซนวิซให้แม่ แต่เด็กหญิง ฟ.ยังคงอยู่ในห้อง และร้องไห้ฟูมฟาย ไม่ยอมให้แม่เข้าใกล้ตน

          ฉันจึงค่อยๆเดินเข้าไปนั่งใกล้ๆ และคุยด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลกับเด็กสาวคนนั้นว่า “เป็นอะไร เล่าให้พี่ฟังได้นะ” เด็กสาวก้มหน้าร้องไห้และพูดด้วยเสียงดังว่า “พี่ไม่ต้องยุ่งกับหนู” ฉันเลยตอบกลับไปว่า “งั้นพี่ให้เวลาหนูอยู่คนเดียวก่อนนะ แล้วเดี๋ยวพี่จะเข้ามาหาใหม่” หลังจบเสียงพูดของฉันเด็กสาวก็ยังคงร้องไห้

          ฉันออกมาจากห้อง เห็นคุณแม่นั่งอยู่หน้าห้อง และพูดกับฉันว่า

“คุณหมอคะ แม่ขอกลับก่อนนะคะ ลูกแม่เป็นอย่างนี้แม่อายคนอื่นเค้า” คุณแม่พูดด้วยน้ำเสียงสั่น และน้ำตาเริ่มไหลอาบแก้มทั้ง 2 ข้าง ฉันในตอนนั้นทำตัวไม่ถูกเลยทีเดียวเลยพูดกับคุณแม่ว่า “คุณแม่ใจเย็นๆนะคะ ปล่อยให้เค้าได้อยู่คนเดียวสักพัก ให้เวลาน้องได้คิดทบทวนตัวเองก่อน ทุกคนในกลุ่มเข้าใจและยอมรับให้น้องเข้ากลุ่ม” หลังจากที่ฉันพูดจบนั้น คุณแม่ลุกขึ้นและเดินลงบันไดไป

          ผ่านไปไม่นาน เด็กหญิงฟ. หยุดร้องไห้และเดินออกมาจากห้อง และมาบอกกับดิฉันว่า “พี่หนูอยากกินน้ำส้ม” ฉันจึงไปหยิบน้ำ และร่วมทำแซนวิชกับเพื่อน โดยน้องมักยังมีความไม่มั่นใจในตัวเองในการลงมือทำแต่ละขั้นตอน แต่พอมีการสาธิตทำให้ดู น้องก็สามารถทำตามได้ และที่สำคัญคุณแม่ของเด็กหญิงฟ.กลับมาเข้าร่วมกิจกรรมและนั่งกินแซนวิชฝีมือลูกสาว จากสีหน้าที่เศร้าก็กลับมีรอยยิ้มขึ้น

          ซึ่งเหตุการณ์ในวันแม่ก็ผ่านไปได้ และยังทิ้งข้อสงสัยอยู่ว่า ทำไมเด็กสาวถึงร้องไห้ อาจจะเป็นเพราะในช่วงที่ระลึกถึงพระคุณแม่ น้องย้อนนึกถึงตนเอง และรู้สึกผิดแล้วจึงไม่รู้ว่าจะแสดงอารมณ์ของตนเองออกมายังไง จึงเลือกที่จะร้องไห้และโวยวายไม่ให้ผู้อื่นเข้าใกล้

          หลังจากนั้นเด็กหญิงฟ. ได้มารับเข้ารับการฝึก โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียน และการดูแลตนเอง เช่น แปรงฟัน ล้างหน้า แต่งตัว และมีการปรับพฤติกรรมบ้าง แต่เมื่อเด็กสาวเข้ารับการฝึกไม่มีการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างที่มักทำกับแม่ ซึ่งในการฝึกจะสำเร็จผลได้นั้นนอกจากตัวเด็กเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับครอบครัวอีกด้วย ในการให้การสนับสนุน หรือการดูแลเอาใจใส่ เพราะความเข้าใจ ความอบอุ่น ความรัก จากบ้านนี่แหละ สำคัญที่สุดในการปรับพฤติกรรมของเด็ก 

หมายเลขบันทึก: 579340เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท