พระปิยะมหาราชแห่งแผ่นดินสยาม


"บทความนี้มิได้เป็นบทความเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ แต่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าพระราชประวัติของกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ทำทุกอย่างเพื่อดำรงความเป็นชาติ"

พระปิยมหาราชแห่งแผ่นดินสยาม

สรรเสริญ วีระพจนานันท์[1]

๓ ปีหลังตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยต้องเผชิญกับการคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยกองทหารกว่า ๑๔๔,๐๐๐ นาย แบ่งเป็น ๙ ทัพ หวังทำลายสยามประเทศให้มลายสิ้นไป แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงวางแผนรับศึกทั้ง ๙ ทัพ จึงรักษาเอกราชของสยามประเทศไว้ได้ กาลเวลาผ่านมา ๙๙ ปี สยามประเทศต้องเผชิญกับมหันตภัยคุกคามอีกครั้งจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก เมื่อฝรั่งเศสส่งกองทัพเรือมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา หวังยึดแผ่นดินสยามเฉกเช่นที่ทำกับอาณาจักรต้าชิง แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในการดำเนินรัฐประศาสนศาสตร์กับต่างประเทศทำให้ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก

วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ในขณะที่กรมขุนพินิตประชานาถ มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา กับ ๑๐ วัน อีกทั้งทรงประชวรด้วยไข้ป่าจากการตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทรงรับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตลอดเวลา ๔๒ ปีแห่งรัชสมัย สยามประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็วท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ กระทั่งสยามมีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา กระบวนการยุติธรรม วรรณคดี การไปรษณีย์โทรเลข การทหาร การปกครอง การคมนาคม การแพทย์ ระบบภาษี ระบบเงินตรา และการต่างประเทศ

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ ทรงส่งพระราชโอรส พระบรมวงศานุวงศ์ และสามัญชนที่มีความสามารถ ให้ได้รับการศึกษาวิทยาการจากประเทศตะวันตก อาทิ วิชาการทหาร วิชาช่าง วิชากฎหมาย โดยเฉพาะวิชาทหาร ทรงกำหนดให้พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าทุกพระองค์ต้องศึกษาวิชาทหาร และนำความรู้วิทยาการต่าง ๆ มาพัฒนาสยามประเทศแทนการจ้างชาวต่างชาติ ทรงปฏิรูประบบการปกครอง เช่น ตั้งสภาองคมนตรี ตั้งกระทรวง ตั้งมณฑลเทศาภิบาล ตั้งสุขาภิบาล อันเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แต่งตั้งผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารราชการทำหน้าที่ “เจ้าเมือง” และยกเลิกระบบ “กินเมือง”

พระราชกรณียกิจสำคัญที่นำความผาสุกมาสู่อาณาประชาราษฎ์ คือ การเลิกระบบไพร่ อันเป็นแอกใหญ่ของพสกนิกรสยาม ที่พันธนาการไว้ด้วยระเบียบของรัฐก่อให้เกิดอิสระอันจำกัดจนประชาชนไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ ทรงปลดภาระนี้ด้วยการจัดระเบียบสังคมใหม่ให้มีการจ้างแรงงานและการคัดเลือกทหารแทนการสักเลกกรมกอง สยามชนจึงเปลี่ยนฐานะจาก “ไพร่” เป็น “สามัญชน” อันเป็นแรงงานอิสระที่มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในฐานะมนุษย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

กว่า ๓๐ ปี ที่ทรงเพียรพยายาม “เลิกทาส” ด้วยทรงเห็นว่าธรรมเนียมการมีทาสเป็นการขัดต่อความยุติธรรมและความเจริญของชาติ ไม่เป็นคุณประโยชน์และไม่เป็นการสร้างความเจริญแก่มวลมหาประชาชน ทรงใช้กุศโลบายในการเลิกทาสที่มิให้นายทาสและตัวทาสเองได้รับผลเสียและไม่พึงพอใจ การเลิกทาสในสยามประเทศดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจนเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อเฉกเช่นอารยประเทศที่เกิดสงครามภายในประเทศอันมีต้นเหตุจากการเลิกทาส

“สมเด็จพระปิยมหาราช” พระราชสมัญญานามนี้แทนความรู้สึกและถ้อยคำสุดที่จะสรรค์สร้างพรรณนาพระราชภาระ พระราชกรณียกิจนานัปการ พระราชวิริยะอุตสาหะ และพระมหากรุณาธิคุณ
อันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งแห่งปวงชนชาวสยาม” ข้อความนี้มิได้เพียงจารึกอยู่ใต้ฐานพระบรมรูปทรงม้า หากจารึกในจิตใจของชนชาวสยามสืบต่อถึงชาวไทยมาจนทุกวันนี้


[1] ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ โรงเรียนแม่วงก์พิทยาคม เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๔๒

หมายเลขบันทึก: 579176เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2014 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2014 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท