(80) บรรยากาศ 'สุมหัว' ของ 'คนมีไฟ!'


..บรรยากาศแบบนี้พอจะเรียกว่า 'การสร้างบรรยากาศการปฏิบัติงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพ' ได้หรือไม่ ถ้าใช้ได้ ก็ไม่ต้องมีแผนอะไรให้ยุ่งยาก .. ก็แค่หันมามอง 'ของตัวเอง' .. ก็แค่นั้นเอง

17 ต.ค.57 ช่วงบ่าย ดิฉันเข้าร่วมประชุมการนำแผนการพัฒนาคุณภาพของหน่วยงานไปปฏิบัติ

โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ของเรามีการจัดทำแผนปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบมานานหลายสิบปีแล้ว เป็นหน่วยงานแรกๆ ของกรมสุขภาพจิตที่จัดทำแผนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ SWOT ่ก่อนกำหนดยุทธศาสตร์กันเลยทีเดียว

เมื่อดำเนินการประชุมมาถึงประเด็น 'การสร้างบรรยากาศการปฏิบัติงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพ' แล้วรู้สึกอึดอัดอย่างไรชอบกล หลายคนไม่แน่ใจว่าการปฏิบัติตามแผนกิจกรรมที่กำหนดไว้จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์

ขณะที่มีการวิพากษ์กันอยู่นั้น ดิฉันนึกถึงบรรยากาศการทำงานในช่วงเช้า แล้วถามตนเองในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ามันใช่บรรยากาศลักษณะที่ต้องการหรือไม่ .. ช่วยพิจารณาหน่อยนะคะ ดิฉันจะเล่าให้ฟังค่ะ

การรักษาผู้ป่วยจิตเวช นั้นทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการรักษา การรักษาด้วยยา การรักษาโดยจิตบำบัดรายบุคคลหรือรายกลุ่ม การปรับพฤติกรรม ฯลฯ รวมทั้งการรักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัตถการประเภทเดียวของการรักษาด้านจิตเวช

ดิฉันปฏิบัติงานหน่วยรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT) เราเรียกกันขำๆ ว่า 'คนมีไฟ' เป็นรอบที่สองแล้ว มีความรู้โดยนัย (Tacit Knowledge: TK) สะสมในตัวเองจำนวนหนึ่ง ก็พยายามจะถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ให้เกิดประโยชน์กับผู้ร่วมงานและคนรุ่นหลังบ้าง โดยเฉพาะเมื่อดิฉันกำลังจะถูกย้ายไปอยู่หน่วยอื่นในเดือนหน้า

ขั้นตอนคร่าวๆ ของการรักษาด้วยไฟฟ้านั้น หลังจากผู้ป่วยนอนบนเตียงบำบัด ดิฉันจะติดตั้งอุปกรณ์รักษาพร้อมคำแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตาม ขณะที่ดิฉันพูดคุยกับผู้ป่วยบริเวณหัวเตียงนี้ทุกคนจะปิดปากสนิท ผู้ป่วยก็มีสมาธิฟังคำแนะนำและปฏิบัติตามได้ ทันตแพทย์(รูปงามหนึ่งเดียวของเรา)จะช่วยดิฉันใส่ฟันยางกันกระแทกให้ผู้ป่วย ภายหลังตรวจเช็คว่าบุคลากรอีก 4 คนที่ช่วยจับประคับประคองแขน-ขาผู้ป่วยพร้อมแล้ว ก็จะให้สัญญาณแก่แพทย์ว่า 'พร้อมค่ะ' แพทย์ก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ผู้ป่วย ผู้ป่วยหมดความรู้สึกตัว ระหว่างนี้ เรา 'ทีมรักษาด้วยไฟฟ้า' จะช่วยกันดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยปลอดภัย

การรักษาแบบนี้มีความเสี่ยงระดับหนึ่ง แต่เราก็สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยโดยการประเมินเพื่อค้นหาความเสี่ยงทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างครอบคลุมรอบด้าน แล้วจัดการความเสี่ยงนั้นก่อนในเชิงรุก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ผู้ป่วยที่นี่จึงไม่เคยได้รับอันตรายจากการรักษาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

รามีผู้ป่วยรักษาวันหนึ่งๆ จำนวนมาก ในขั้นตอนหลังจากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ทีมจะพูดคุยกันเบาๆ ถึงปัญหาของผู้ป่วยรายนั้นๆ รวมไปถึงเรื่องทั่วๆ ไปที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาด้วยไฟฟ้า เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ทีมบำบัดแต่ละครั้งจะประกอบด้วย จิตแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล อย่างละ 1 คน เจ้าหน้าที่ช่วยประคับประคองอีก 4 คน รวม 7 คน โดย 3 คนแรกจะยืนรวมกันเพื่อบำบัดที่หัวเตียง ลักษณะ 'เอาหัวมารวมกัน ' หรือ 'สุมหัวกัน' ใกล้ชิดกันในระยะที่เหาบนศรีษะเราจะกระโดดไปหาที่อยู่ใหม่บนศีรษะผู้อื่นในวงได้เชียวละ .. ดิฉันนึกถึงวงส้มตำหรือวงไฮโลที่ว่าบรรยากาศดีๆ ยังใกล้ชิดกันน้อยกว่านี้เลยค่ะ

วนเวียนอธิบายให้เห็นภาพเสียนาน .. มาเข้าเรื่องได้แล้ว

เช้าวันนี้ ในการบำบัดผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ป่วยอ้วนจนไม่มีคอ หมายถึงลำคอใหญ่มาก เมื่อเชยคางผู้ป่วยขึ้นเพื่อจับประคับประคองบริเวณกรามล่างกับกรามบนขณะรักษา ดิฉันซึ่งมีส่วนสูงไม่มาก (อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุดที่จะคัดเลือกให้เรียนพยาบาล) นิ้วมือสั้นๆ อ้วนๆ ก็ไม่สามารถประคองปลายคางผู้ป่วยให้กระชับอยู่ในมือได้ถนัดนัก ก็บอกผู้ป่วยตรงๆ ว่าดิฉันจับไม่กระชับมือ กรุณาแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย และเพื่อส่งสัญญาณให้ทันตแพทย์รับทราบและช่วยระมัดระวังขณะแพทย์ปล่อยประแสไฟฟ้า .. ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีเหมือนเคย

ทันทีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวดิฉันก็นึกขึ้นมาได้ว่า ได้ถอดประสบการณ์การจับประคับประคองผู้ป่วยบริเวณศีรษะขณะให้การรักษาด้วยไฟฟ้าไว้แล้ว จึงแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ

"เอ้อ.. หมอ เราไปถอดบทเรียนตัวเอง(ดารนี) ว่าจับผู้ป่วยยังไงให้ปลอดภัยเอาไว้แล้วนะ"

"จับยังไง มีกี่แบบ ผู้ป่วยผอมไป อ้วนไป จับต่างกันไหม โดยเฉพาะพยาบาลนิ้วมือสั้นๆ อ้วนๆ มีเทคนิคยังไง"

"มันมีส่วนของตัวเอง(หมอฟัน)ด้วย พยาบาลจับตรงนี้ หมอฟันจับตรงไหน ประสานงานกันยังไง ประมาณต้นเดือนหน้าเราจะเอามาให้ดู ช่วยแก้ไขและอธิบายส่วนของตัวเอง(หมอฟัน)ให้หน่อยนะ" ...

"ดูของตัวเอง(หมอฟัน)ให้ด้วยนะ จะได้สรุปรายงานเป็นรูปเล่ม เป็นเล่มแล้วจะเอามาให้ดูอีกที"

ขณะดิฉันพูด ทันตแพทย์ก็พยักหน้ารับเป็นจังหวะ พูดเสร็จ ทันตแพทย์ก็ก้มลงเหมือนมองหาอะไรที่ปลายเท้า ดิฉันกำลังประคับประคองผู้ป่วยอยู่ก็กังวลว่าทำอุปกรณ์อะไรตกหล่นหรือไม่

"หมอ หาอะไร"

ทันตแพทย์ไม่ตอบ ยังคงก้มมองที่ปลายเท้าพร้อมกับโยกตัวและขยับเท้าไป-มา ดิฉันเริ่มกังวลมากขึ้นก็ถามประโยคเดิม แต่เสียงดังมากขึ้นว่า.. หาอะไร? คราวนี้ทันตแพทย์ตอบเสียงดังฟังชัดว่า

"ก็กำลังดู 'ของตัวเอง' อยู่นี่ไง"

คนอะไรฟะ! เล่นมุกตลกไม่บอก ฮา..

พวกเราจึงได้หัวเราะพร้อมกันชุดใหญ่ บรรยากาศแบบนี้พอจะเรียกว่า 'การสร้างบรรยากาศการปฏิบัติงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพ' ได้หรือไม่ ถ้าใช้ได้ ก็ไม่ต้องมีแผนอะไรให้ยุ่งยาก

ก็แค่หันมามอง 'ของตัวเอง' หรือ 'ตัวตนของคน' ในบทบาทที่เป็น 'เรา' และบทบาทที่เป็น 'เขา' หมั่นดูแลกันให้เกียรติเสมอกัน ก็เท่านั้นเอง

เข้าใจแล้วใช่ไหม ตัวเอง!.

หมายเลขบันทึก: 578942เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2014 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บรรยากาศสุมหัวกันทำงานที่น่ารักมากค่ะ  อ่านไปยิ้มไป พลางจินตนาการไปด้วย

เป็นบรรยากาศการทำงานที่น่ารักมากๆ คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท