งานเขียนกับพยาบาลคือยาขมหรือน้ำหวาน


๐๐.๒๐ น. ถึงเวลานี้หลายคนคงหลับไหลท่ามกลางผ้าห่มหนานุ่ม เปิดแอร์เย็นสบาย หรือหลายคนกำลังจะลงเวร หรือกำลังเริ่มงานในเวรดึก สำหรับฉันแล้ว 3 วันที่ผ่านมาต้องต่อสู้กับสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย น้ำมูกไหลย้อย จามแล้วจามอีก แต่ด้วยเหตุการณ์และเหตุผลหลายประการในอาทิตย์ที่ผ่านทำให้ต้องลุกขึ้นมาฮึด สู้กับความเหนื่อย อดนอนอีกครั้ง หลังจากขี้เกียจผลัดวันประกันพรุ่งจนโดนเมลล์ทวงงาน
“เป็นพยาบาลแล้วทำไมต้องเขียนอะไรมากมาย” “เป็นพยาบาลเรื่องงานเขียน ยากจะตาย” “หาเรื่องทำไม อยู่เฉยๆ ขึ้นเวรไปเรื่อยๆ ก็ได้” หรืออีกหลายประโยคที่ฉันได้ยินบ่อยๆ แต่อยากบอกทุกคนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในหัวฉัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นนางฟ้า นางสวรรค์ เป็นคนคิดดีอยู่ตลอดหรอกนะ แต่ถ้าพยาบาลทุกคน เอาแบบทุกคนเลยนะ ขึ้นเวร วัดสัญญาณชีพ แล้วก็รับคำสั่งหมอ สอนคนไข้ ส่งเวร กลับหอ ล้มตัวนอน ใครถาม วันๆ ทำอะไรบ้าง ก็ตอบว่า “โอ้ย วันๆ ทำไม่ได้หยุดเลย สารพัด ไม่มีแม้แต่เวลาเข้าห้องน้ำเลยนะ” พยาบาลด้วยกันเชื่อหมดใจแน่นอนเพราะคือเรื่องจริง แต่คนอื่นที่ไม่ใช่พยาบาลจะเชื่อไหม หรือเห็นงานของเราไหม ถ้าเราไม่มีหลักฐานให้เขารับรู้ว่า วันๆ ฉันทำอะไรบ้าง มีคนเถียงว่า ก็บันทึกทางการพยาบาลไง เชื่อเถอะมีสักกี่คนมาอ่านบันทึกนั้น แม้แต่พยาบาลด้วยกันขี้เกียจอ่านเลย
ในยุคสารสนเทศแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราพยาบาล ต้องลุกมาทำอะไรที่ประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า งานพยาบาลคืออะไร เราต้องทำอะไรบ้าง เหนื่อย ยาก แค่ไหน ทำอย่างที่ว่า ไม่ใช่ประกาศในเฟสบุค หนังสือพิมพ์ หรือทีวี เราต้องประกาศให้เขาทราบด้วยการเขียนงานทางวิชาการในวารสารที่วงการสาธารณ สุขทุกอาชีพเข้าถึง และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ฉันต้องอดทน บากบั่น มุ่งมั่นกับการเขียน ในใจฉันนะหรือไม่ได้ชอบเขียน เบื่อ แต่เราต้องอดทนเพราะเป็นสิ่งเดียวและสิ่งสุดท้ายที่ช่วยธำรงค์วิชาชีพของเรา ให้พัฒนาต่อไปได้อย่างยาวนาน
ตอนเรียนโท มีครูท่านหนึ่งบอกไว้ว่า “งานเขียนกับอาจารย์พยาบาลไม่ถึงใจหรอก ไม่เหมือนพยาบาลที่ทำงานกับมืออยู่ทุกวัน เขียนได้สนุก มันกว่า” ทำงาน ทำวิจัย เขียนงานวิจัย หลายๆ เรื่องเข้าก็รวมเป็นหนังสือ ตำรา แต่อาจารย์พยาบาลเขียนงานส่วนใหญ่ต้องอ่านจากตำรา วิจัยของคนอื่นมาสกัดแล้วเขียน ความมันไม่เหมือนกัน ตอนนั้นฉันฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ เหมือนไม่ “อิน” กับสิ่งที่อาจารย์ต้องการสื่อ มาถึงวันนี้เข้าใจ ลึกซึ้งถึงระดับเซลล์กับคำพูดดังกล่าว เพราะเราจะเจอสิ่งสำคัญจากหน้างานมากมาย ในแต่ละวันไม่ซ้ำกันเลย มีครูทั้งคนไข้ เพื่อนร่วมงาน แม่บ้าน อีกมากมายสอนให้เรารู้อย่างเข้าใจมากกว่าตำราที่ต้องท่องจำเสียอีก
เมื่อดูในวารสารต่างๆ พบว่าพยาบาลที่เขียนงานเหล่านั้น เกือบทั้งหมดเป็นการเขียนเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน โดยเฉพาะโท-เอก ที่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ซึ่งโชคดีมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยเกลาแล้วเกลาอีกให้ก่อนส่งตีพิมพ์ แต่ฉันรับรู้ข้อจำกัดเหล่านี้ดี ว่าพยาบาลที่เรียนจบโทมาแล้ว จะส่งงานให้อาจารย์ช่วยเกลานั้นลำบากใจ อาจารย์มีภาระล้านแปด หรือมากกว่า ฉันคงพึ่งได้แต่กอง บก.ของวารสารเหล่านั้น เพราะอะไรนะหรือ แม้เราจะอ่านคำแนะนำการเขียน ศึกษาเคล็ดลับการเขียนมาแล้วเป็นอย่างนี้ แต่เชื่อเถอะการเขียนงานในสถานะของพยาบาลที่ทำงานประจำ เช้า-บ่าย-ดึก อดหลับอดนอน ขึ้นเวรโอทีบ้าง ชั่วโมงการเขียนน้อยๆ อย่างฉัน เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ถามว่ายากไหม ก็อาจไม่ถึงขนาดนั้นเพียงแต่ต้องใช้คำว่า “อดทน” จากทุกปัจจัย ขอเพียงโอกาสจากกอง บก. “ให้โอกาสพยาบาลที่ไม่ใช่นักศึกษา อย่าเพียงถือว่า ก็คุณเรียนจบโทมาแล้ว ต้องเขียนดีสิ”
สุดท้ายนี้ขอบคุณทุกกอง บก. อย่าเพิ่งรำคาญงานเขียนของพยาบาลประจำการนะคะ ^-^

หมายเลขบันทึก: 578791เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุ
จิ
ปุ
ลิ
...
บันไดขั้นที่ 4 การเขียน  เป็นยาขมสำหรับใครหลายๆ คน ครับ
เรามีโรงเรียนสอนการพูด การร้อง การเต้นที่ชัดเจน
แต่โรงเรียนการเขียน  ผมว่ายังไม่ชัดเจนเท่าไหร่-กระมังครับ

มาชื่นชมการเขียน

การเขียนเป็นทักษะ

เชื่อมั่นว่าทำได้แน่ๆครับ

รออ่านอีกครับบบบ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท