ตอนที่ 4.. จาริกบุญหลังคาโลก : ปราสาทสีเงินในหุบเขาพญาครุฑ (Silver Castle in the Garuda Valley)


จาริกบุญหลังคาโลก : ปราสาทสีเงินในหุบเขาพญาครุฑ (Silver Castle in the Garuda Valley)

นอกจากการเดินภาวนารอบภูเขา ไกรลาสอันศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Kailash) และสวดมนต์ ภาวนา นั่งสมาธิที่ทะเลสาบมนัสโรวาร์ (Holy Manasarovar Lake) ตามที่ได้กล่าวถึงในตอนก่อน ๆ แล้ว สถานที่ที่เราไปเยือนและสวดมนต์ภาวนาก็คือ เมืองชุงลุง งูคา "ปราสาทสีเงินแห่งหุบเขาพญาครุฑ" ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรชางชุง ทิเบตโบราณมาก่อน


ปราสาทสีเงินในหุบเขาพญาครุฑ ชื่อเป็นภาษาทิเบตว่าชุงลุง งูคา (Kyunglung Ngulkar Karpo) มีรูปร่างคล้ายปีกพญาครุฑ ตั้งอยู่เหนือริมฝั่งแม่น้ำสุตเลจ (Sutlej river) ซึ่งอยู่ทางตะวันตก ไม่ไกลจากเขาไกลาสและทะเลสาบมนัสโรวาร์นัก ลักษณะพิเศษของชุงลุง งูคาคือเป็นภูเขาที่สร้างเป็นถ้ำเล็ก ๆ มากมายกว่าร้อยถ้ำ ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 4 ตารางเมตร คาดว่าคงใช้ในศาสนพิธีของวิถีแห่งจิตวิญญาณพุทธเพิน (Bon Buddhism)  หรือยุงตรุงเพิน (Yungdrung Bon) ซึ่งเป็นศาสนาพุทธนิกายหนึ่งที่ชาวทิเบตส่วนใหญ่นับถืออยู่ขณะนั้น มีอาณาจักรโบราณชางชุง (Zhang Zhung) เป็นต้นกำเนิดอารยธรรมโบราณของทิเบต ชางชุงได้สร้างปราสาทไว้บนยอดเขาสูง มองเห็นได้เด่นชัด แม้อาณาจักรนี้จะหายสาบสูญไปเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของความเจริญ น่าทึ่งของสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างด้วยโคลน ดินเหนียว และอารยธรรมโบราณที่ยังคงมีให้เห็นอยู่


คณะเราได้ไปวัดกู้เกียมโบ หรือกูรเกียม (Gurugyam/ Gurugem) ซึ่งเป็นวัดในนิกายพุทธเพิน (Yungdrung Bon) ได้ทำบุญถวายดวงประทีป สวดมนต์ และถวายสักการะรูปของพระคุรุอาจารย์ เทรนปา นัมคา (Drenpa Namkha) คุรุอาจารย์สายซกเช็น (Dzogchen) ซึ่งปรากฏบนก้อนหิน เก่าแก่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ มีอายุกว่า 2000 ปี ที่ถูกฝังไว้ใต้ดินบริเวณนั้น ได้ชมและนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในถ้ำ ได้ชมสิ่งของ เครื่องใช้สมัยโบราณอายุเป็นพัน ๆ ปีที่ขุดพบบริเวณถ้ำ ทางวัดได้เก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด ชุงลุง งูคา หรือปราสาทเงินแห่งหุบเขาพญาครุฑยังใหม่ต่อคนต่างถิ่นมาก ถนนที่จะมาที่นี่ยังไม่ได้รับการพัฒนานัก ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ฝุ่นตลบไปตลอดเส้นทาง จะมีก็แต่ชาวพุทธทิเบตและชาวพุทธรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ที่เข้าไปจาริกบุญ

ยังไม่มีนักธรณีวิทยาระดับโลกเข้ามาสำรวจพระพุทธรูปและสิ่งของเครื่องใช้โบราณที่ขุดพบในบริเวณนี้


เราโชคดีมีมูลนิธิพันดารานำ ไป และมีอาจารย์ ดร. กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ประธานมูลนิธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของทิเบต และอาจารย์มิว เยินเต็น (Meu Yontan) ซึ่งเป็นอาจารย์ชาวทิเบตเป็นผู้นำจาริกบุญ ทุกอย่างจึงเป็นความสะดวกสบายไปหมด เรามีหน้าที่ดูแลตัวเองให้แข็งแรง ให้พร้อมที่จะไปได้ทุกที่ ที่อาจารย์นำไปเท่านั้น ที่วัดนี้ นอกเหนือจากไกด์มืออาชีพชาวทิเบตที่มีความรู้ และพูดภาษาอังกฤษได้ดี คณะเรายังมีพระที่ดูแลวัดเป็นมัคคุเทศก์นำทางให้ ได้เข้าไปฟังเรื่องราวเกี่ยวกับหุบเขาแห่งนี้ภายในถ้ำ ซึ่งปกติถ้ำนี้เป็นที่เก็บสมบัติมีค่าและพระพุทธรูปเก่าแก่จำนวนมาก จึงใส่กุญแจประตูถ้ำไว้ตลอดเวลา


ระหว่างทางที่เดินขึ้นเขาเพื่อไปชมและนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิในถ้ำ เราจะเห็นหินที่สลักมนตราทิเบตที่เขามักนำไปวางในที่ ๆ ศักดิ์สิทธิ์บนที่สูง บางทีก็มีเขาของจามรี (yak) ด้วย เพื่อแสดงความขอบคุณและเป็นการอุทิศบุญกุศลให้จามรี ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิด มีความผูกพันกับชาวทิเบต ได้ใช้งานระหว่างที่จามรีมีชีวิตอยู่ และได้ใช้ หนัง เนื้อ ขน และกระดูกเมื่อตายไป

เมื่อลงจากเขา เราได้พบคุณยายคนหนึ่งกำลัง เดินอยู่บนถนน คุณยายบอกว่าจะเดินไปเขาไกลาส เพื่อวนรอบเขา เราให้เงินสนับสนุนคุณยาย แต่คุณยายไม่ยอมรับ ส่งคืนให้และยิ้มอย่างใจดี ประทับใจจริง ๆ ค่ะ วันที่พบคุณยาย พวกเรายังไม่ได้เดินภาวนารอบเขา พอวันหลังได้มีประสบการณ์นั้นแล้ว จึงรู้ว่ามันยากมาก และเหนื่อย เหนื่อยแทบขาดใจ  จึงรู้ว่าเราได้พบสุดยอดคุณยายจริง ๆ ด้านล่างริมทางเดินขึ้นเขา เราพบชาวบ้านเป็นกลุ่ม ๆ กำลังขุดดินและและเพ่งพิจารณาหิน เพื่อค้นหาดินเปรี้ยว ซึ่งใช้เป็นยารักษาโรคได้

มีความสุขจากการจาริกบุญกับทริปนี้จริง ๆ

นำบุญมาฝากทุกคนค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #..หุบเขาพญาครุฑ..
หมายเลขบันทึก: 578686เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2014 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2014 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สถานที่น่าไปมาก

แต่ดูเหมือนว่า ไม่คอยมีต้นไม้เลยนะครับ

ชอบใจคุณยาย เดินทางไกลมาก

ขอบคุณพี่กุหลาบมากๆครับที่เขียนให้อ่าน

ขอบคุณอาจารย์ ชยพร และอาจารย์ขจิตมากค่ะที่ให้ความสนใจบันทึกนี้ สถานที่เก่าแก่มากค่ะ เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยอาณาจักรชางชุง ทิเบตตะวันตกเต็มไปด้วยภูเขา แต่ไม่ค่อยมีต้นไม้ พื้นดินแข็งมาก และแห้งแล้ง มีเพียงบางส่วนที่เป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ค่ะ ผักไม่ค่อยมี เขาทานเห็ดเป็นส่วนใหญ่ค่ะ คนไทยแทบไม่ได้มาแถบนี้กันเลยค่ะ นักท่องเที่ยวมักเป็นชาวรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ค่ะ

อารยธรรมเก่าแก่มาก ๆ นะคะ ศรัทธาของผู้คนเข้มข้นสูงยิ่ง ฟ้าใส

เมฆสวย ปานสวรรค์นะคะ ขอบคุณมากค่ะสำหรับเรื่องราวดี ๆ และภาพสวยทุกภาพค่ะ

ขอบคุณมากค่ะคุณหมอธิ ศรัทธาของชาวทิเบตทำให้พี่หันมามองตัวเราเอง และละอายใจเหมือนกัน ว่าสิ่งที่ว่าเราเคารพ รัก และศรัทธา และมีความเชื่อนั้น เราได้ปฎิบัติอย่างไร เพื่อความไม่ประมาท จึงเริ่มปฎิบัติอย่างมากขึ้นค่ะ อยู่บนที่สูง ท้องฟ้าสวยมาก อากาศบริสุทธิ์ เหมือนไปล้างปอดเลยค่ะ :)

สถานที่สวยงามมากๆๆ นะคะ .... ขอบคุณมากค่ะ เสมือนได้ไปเที่ยวด้วยเลยนะคะนี้

ขอบคุณค่ะอาจารย์เปิ้ลที่เข้ามาเยี่ยมชม และมอบกำลังใจ สถานที่โบราณเก่าแก่มาก แต่ยังงดงามอยู่ค่ะ

ภาพถ่ายสุดยอดค่ะ สวยมาก อยากไปบ้างแล้ว ถ้าปีนป่ายไม่ไหว เราพักรอได้ไหมคะ เขาจะย้อนกลับทางเดิมหรือเปล่า ส่วนมากไม่ย้อนนะคะ ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงไปเลยค่ะ ธิเบต เนปาล ภูฏาน นี่ไม่มีบุญได้ไปแน่ขอบคุณมากค่ะที่เขียนให้อ่านอย่างเห็นภาพ ได้ความรู้สึกคล้ายไปเองเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ ดร.กัลยามากค่ะที่ชอบภาพถ่ายและเรื่องเล่า อยากให้อาจารย์ไปเห็นจังค่ะ เพราะอาจารย์ชอบสถานที่แบบนี้ ทิเบตยังใหม่ต่อนักท่องเที่ยวมาก ถ่ายรูปง่าย ไม่มีใครยืนเกะกะใคร นอกจากพวกเรากันเอง จุดที่ยากที่สุดคือการเดินรอบเขาไกลาส 52 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 3 วันเต็มค่ะ หากเดินไม่ไหวก็มีม้าให้ขี่เป็นบางช่วง แต่ต้องจองม้าล่วงหน้า กลางทางไม่มีม้าสำรองค่ะ  คนที่รู้สึกไม่สบาย เดินไม่ไหว คงต้องพักที่เชิงเขารอกลุ่ม 3 วันจนกว่าเขาจะเวียนรอบ การเดินภาวนาเขาจะเดินเวียนขวาเหมือนการเวียนเทียน จะไม่ย้อนกลับมาทางเก่าค่ะ ส่วนสถานที่อื่น ๆ ตลอดเส้นทางไม่ยากค่ะอาจารย์ ค่อย ๆ เดินไป เรื่อย ๆ แต่หากเราป่วยระหว่างเดินทาง เช่นแพ้ความสูง จะทำให้เราลำบาก ร่างกายจะอ่อนเพลียมาก ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา บางคนก็ไม่เป็นอะไรเลย โดยทั่วไป ร่างกายจะปรับตัวได้เองค่ะ ก่อนไปก็ออกกำลังกายบ้างเล็กน้อย ไม่ต้องหักโหม ขอบคุณค่ะอาจารย์  

สวยงาม น่ามาเที่ยวมากจริงๆ  น้องกุหลาบทำบุญไว้มากนะคะจึงได้มาที่ดีๆ แบบนี้

คลับคล้ายคลับคลาว่า ดร.กฤษดาวรรณ เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับธิเบตใช่มั๊ยคะ  พี่จะลองไปค้นๆ มาอ่าน

ใช่ค่ะพี่นุ้ย แต่เดิมอาจารย์สอนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬา เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษา วัฒนธรรมทิเบต และพุทธศาสนา วัชรยาน เคยตามเสด็จพระเทพไปทิเบตเมื่อหลายปีก่อนด้วย  เสื้อสีเทาค่ะ ปัจจุบันลาออกและอุทิศตนให้กับพุทธศาสนา วัชรยานเต็มตัวค่ะ

Sr_058_051.jpg

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท