อ้วนน้ำหนักมากระวังเป็นโรคเกาต์


โรคเกาต์

เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยโดยเฉพาะในผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี อาการที่เป็นส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวด บวมที่บริเวณเท้า โดยเฉพาะที่บริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า ผู้หญิงก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคเกาต์ได้ในช่วงที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น อุบัติการณ์การเกิดโรคเกาต์พบเพิ่มขึ้นในคนทั่วไป ซึ่งมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องหลายประการ ได้แก่

1. การเพิ่มขึ้นของระดับกรดยูริกในเลือดมักจะมีความสัมพันธ์กับโรคที่มีความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่เรียกว่า metabolic syndrome และเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการรับประทานอาหารโดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงและพบในคนอ้วน

2. การใช้ยาขับปัสสาวะในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง

3. การรับประทานผลไม้เครื่องดื่มที่หวานมาก ๆ ซึ่งจะมีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่มาก ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคเกาต์เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากความอ้วนและการบริโภคของเรานั่นเอง ดังนั้นเราเองจึงควรต้องระมัดระวังเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดโรคเกาต์ เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารเพียวรีนซึ่งทำให้ระดับของกรดยูริกในเลือดสูง เช่น หน่อไม้ สัตว์ปีก ยอดผักต่าง ๆ การดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต




ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์เฉียบพลัน

มักจะมีอาการปวดบวม แดงร้อน ในตำแหน่งที่เป็นอาการมักจะเป็นอย่างรวดเร็ว อาการจะปวดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่บริเวณเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้มีอาการปวดตามข้อ เคลื่อนไหวลำบาก นอกจากนี้ในระยะยาวโรคเกาต์ที่เป็นตามข้อต่าง ๆ จะทำลายกระดูกอ่อนของผิวข้อทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมตามมา

การรักษาโรคเกาต์แบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่เกิดข้ออักเสบเฉียบพลัน

ที่ทำให้ผู้ป่วยมีข้ออักเสบ ปวดบวมแดงร้อนของข้อ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ร่วมกับการให้ยาโคชิซิน (colchicine) เพื่อลดอาการอักเสบของข้อและลดอาการปวด หรือในบางครั้งการใช้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบเฉียบพลันก็จะมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยถ้าผู้ป่วยไม่เป็นโรคเบาหวานและมีการติดเชื้อ การใช้ยาลดการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จะมีข้อห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง การใช้ยาโคชิซิน ในการรักษาโรคเกาต์เฉียบพลันอาจจะมีผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ นอกจากการใช้ยาเพื่อลดอาการอักเสบ ปวดบวมของข้อแล้ว ผู้ป่วยต้องลดน้ำหนักและปรับพฤติกรรมการรับประทาน โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารเพียวรีนซึ่งกระตุ้นทำให้เกิดระดับของกรดยูริกสูงในกระแสเลือด และเกิดโรคเกาต์ เช่น สัตว์ปีก การรับประทานของหวาน และการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์



ในระยะต่อมาผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อลดระดับยูริกในกระแสเลือด

เพื่อลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคเกาต์แบบเฉียบพลัน การเกิดก้อนโทไฟ การให้ยาเพื่อลดระดับยูริกในกระแสเลือดจให้เมื่ออาการกำเริบของโรคข้ออักเสบเฉียบพลันที่มีอาการปวด บวม แดงร้อน หายไปแล้ว ยาที่นิยมใช้ในการรักษาคือยาอัลโลพูรินอล Allopurinol ซึ่งมักจะเริ่มให้ในปริมาณ 100 มิลลิกรัมก่อน และจะปรับปริมาณยาเพิ่มสูงมากขึ้นทุก 2-4 สัปดาห์ ซึ่งอาจปรับยาได้จนถึงระดับ 800 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับการใช้ยาโคชิซินร่วม กันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการแพ้ยาอัลโลพูรินอลได้ แต่พบในปริมาณที่ไม่มาก ถ้ามีอาการผื่น ไข้ จำเป็นต้องหยุดรับประทานยาทันที

ในผู้ป่วยที่มีก้อนโทไฟ อันเนื่องมาจากการตกผลึกของกรดยูริกที่บริเวณเนื้อ เยื่ออ่อนซึ่งอาจจะพบตามผิวหนังในบริเวณต่าง ๆ ก็จะค่อยยุบตัวลง แต่อาจจะใช้ระยะเวลานาน ในกรณีที่ก้อนโทไฟมีการติดเชื้อ หรือก้อนมีขนาดใหญ่ก็อาจจะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนออก

เป้าประสงค์สำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคเกาต์คือ การลดระดับปริมาณยูริกในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับที่ต่ำ ป้องกันการเกิดการอักเสบของข้อแบบเฉียบพลัน และป้องกันระบบอวัยวะภายในอื่นที่จะสูญเสียอันเนื่องมาจากระดับกรดยูริกที่สูง เพราะระดับกรดยูริกที่สูงจะมีผลให้เกิดการอักเสบมีผลทำลายเยื่อบุต่าง ๆ ของอวัยวะภายในร่างกายทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย การทำงานของไตผิดปกติ การเกิดนิ่วในไต และอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้ในที่สุด



ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[email protected], www.taninnit.com

( ขอบคุณ โรคเกาต์โดยผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

อาหาร มีผลไม่ดีต่อผู้ป่วยโรคเกาต์ ทำให้โรคกำเริบได้อย่างชัดเจน ก็ต้องระวังงดหลีกเลี่ยงให้ได้เพื่อจะได้ไม่เจ็บป่วยบ่อยๆ ต้องสังเกตอาหารชนิดไหนที่ทำให้ปวด ได้รู้จักผู้ป่วยโรคเกาต์หลายคน ส่วนใหญ่ทุกคนบอกว่าการคุมอาหารได้ดีที่สุด ผู้ป่วยโรคเกาต์ ก็จะทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาหารอะไรบ้างที่ควรงดหลีกเลี่ยงนะคะ


ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันเสาร์ที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 578607เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2014 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2014 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ มาอ่านเรื่อง ดีๆ ค่ะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท