​ไปชื่นชมโรงเรียนสร้างสุขภาวะ จ. ศรีสะเกษ (๕) AAR


ไปชื่นชมโรงเรียนสร้างสุขภาวะ จ. ศรีสะเกษ (๕) AAR

ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

          ช่วงบ่าย ที่โรงเรียนอนุบาลดำรงราชานุสรณ์ เป็นการประชุม ๒ ช่วง ช่วงแรกคล้ายๆ การ AAR ในหมู่ผู้อำนวยการโรงเรียน ในเครือข่ายโรงเรียนสร้างสุขภาวะ คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ไปถึงก็จัดการให้เปลี่ยนการจัดเก้าอี้ จากจัดแบบ classroom เป็นล้อมวงคุยกัน

          คุณเปากับผมนัดแนะกันถอยมานั่งแถวหลังหรือวงนอก และบอกให้ผู้อำนวยการโรงเรียนนั่งวงใน โดยคุณเปามากระซิบบอกผมทีหลังว่า เพื่อนั่งสังเกตว่า ผอ. โรงเรียนมีสมาธิไหม ฟังคนอื่นเป็นไหม ผลปรากฎว่า ผอ. โรงเรียนกลุ่ม ๒๑ คนนี้สอบผ่าน

          คนในวงการศึกษาต้องเป็น “นักเรียนรู้” ซึ่งทักษะที่สำคัญคือ deep listening การตั้งใจฟัง และฟังอย่างลึก คนที่เก่งถึงขนาดจะ “ได้ยิน” สิ่งที่เขาไม่ได้พูด แต่เราสังเกตว่าในที่ประชุมที่มีครูร่วมประชุม ครูมักคุยกัน แทนที่จะฟัง แปลกแท้ๆ คล้ายๆกับครูไม่เป็น “นักเรียนรู้” ผมขออภัยครูดี ที่ฟังเป็นด้วยนะครับ

          คุณหมอยงยุทธ ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ของการประชุม ตั้งคำถามว่า เมื่อเช้าแต่ละท่านได้ไปเยี่ยม โรงเรียนในเครือข่าย ท่านละ ๒ โรงเรียน ได้เห็นอะไรที่ประทับใจบ้าง (นี่คือคำถาม AAR ชั้นครู) พอจะสรุปได้ว่า ไปเห็นการเปลี่ยนแปลง บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไปจาก ๒ ปีที่แล้วมาก นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข ครูก็มีความสุข คนในชุมชนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองก็พอใจ แต่ก็มีคำแนะนำว่า ควรเพิ่มทักษะการสอน (แบบไม่สอน) วิชาเฉพาะ และทักษะการสอนแบบ PBL

          รวมทั้งไปพบปัญหาครูไม่เข้าใจกัน แต่ผมเดาว่า การมีคนนอกไปดูงาน แสดง Appreciative Inquiry และให้คำแนะนำ จะช่วยเปลี่ยนใจครูที่ยึดติดการสอนแบบเดิม และช่วยเติมความมั่นใจให้แก่ครูที่เปลี่ยนมา สอนแบบ active learning

          ครูวิเชียร ผอ. รร. ลำปลายมาศพัฒนา ต้นตำรับโรงเรียนแบบใหม่ บอกว่าไม่ได้ไปเยี่ยมนาน ไปเห็นแล้วแปลกใจ ว่าครูสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนได้ถึงเพียงนั้น

          วิธีจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ทำให้ผู้ปกครองจิตอาสามีช่องทางเข้าไปทำประโยชน์ให้แก่โรงเรียน และผมว่า เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ในโรงเรียน แตกต่างจากโรงเรียนแบบเก่า

          คุณหมอยงยุทธบอกว่า นี่คือปรากฏการณ์การเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาที่เกิดขึ้นในจังหวัดที่ยากจนที่สุด จังหวัดหนึ่ง และเกิดขึ้นในเขต ๔ ซึ่งเป็นเขตห่างไกล อยู่ชายแดน แต่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการปฏิรูปรูปแบบ การเรียนรู้ ให้เป็น 21st Century Learning เกิดขึ้นได้จริงๆ ในระบบการศึกษาไทย หากมีการจัดการอย่างถูกต้อง

          ท่านให้คำแนะนำในเชิงปฏิบัติที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ต้องให้ครูอยู่กับเด็ก ในช่วงที่มีคนมาดูงาน อย่าออกจากห้องเรียนไปต้อนรับหรืออธิบายให้แก่ผู้มาดูงาน คือต้องมีวิธีปฏิบัติไม่ให้คนมาดูงานทำให้นักเรียน เสียประโยชน์

          ควรเคารพผลงานของเด็กทุกคน เอามาติดในห้องทุกผลงาน ไม่ใช่เลือกเฉพาะผลงานเด่น ถึงตรงนี้ผมนึกในใจว่า ต้องเลือกผลงานเด่นด้วย สำหรับให้นักเรียนทำความเข้าใจว่า ผลงานที่มีคุณภาพ เป็นอย่างไร ถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่ง

          คุณหมอยงยุทธชวนทำทั้งจังหวัด ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

          ผมถูกขยั้นขะยอให้พูด ทั้งๆ ที่พยายามหลีกเลี่ยง เพราะอยากฟังมากกว่า ผมบอกว่า อุดมการณ์ของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ คือ เพื่อสร้างผู้นำ ไม่ใช่สร้างผู้ตาม อย่างที่ทำกันอยู่ ในระบบการศึกษาไทยในภาพใหญ่ขณะนี้

          สร้างผู้ตาม เพราะสอนให้เชื่อความรู้สำเร็จรูป ที่รับถ่ายทอดจากครูหรือตำรา

          เราต้องสร้างผู้นำโดยจัดการเรียนแบบฝึกให้เด็กเชื่อตัวเอง เชื่อผัสสะของตนเอง ฝึกตีความผัสสะของตนเอง ในการเรียนแบบ active learning โดยครูต้องมีทักษะในห้องเรียนแบบใหม่ ซึ่งผมได้มาเห็นว่าครูในโรงเรียน ๓ แห่งที่ผมไปเยี่ยมชื่นชม กำลังพัฒนาตนเองอย่างขมักเขม้น และขอยืนยันว่าเดินมาถูกทาง

          แต่ทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล หรือกล่าวได้ว่าไม่สิ้นสุด คือครูต้องเรียนรู้ทักษะในห้องเรียน และปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนตลอดไป ขอให้กำลังใจ ให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนเดิน ตามเส้นทางนี้ แม้โครงการโรงเรียนสร้างสุขจะจบสิ้นไป

          ผมขออนุญาตที่ประชุมถามคำถาม ว่าสมมติว่าผมเป็นเทวดาที่บันดาลสิ่งที่ ผอ. ต้องการได้คนละ ๑ อย่าง เพื่อเป็นพลังเสริมให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนที่ท่านดูแลอยู่ดียิ่งขึ้น ท่านจะขออะไร คำขอเหล่านี้ สะท้อนปณิธานความมุ่งมั่นในการทำงานปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน และน่ายินดีมาก ที่คำขอที่มีความถี่สูงสุดคือความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพผมสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน

          ผมหวังว่าเสียงสะท้อนของผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่านี้จะได้ยินไปถึง สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 578412เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบใจคำขอของ ผอ เพราะ สพฐสั่งมาที่ สพป หรือ สพท แล้ว สพท ก็สั่งมาโรงเรียน

วนเวียนแบบนี้ครับ ประเมินสมศ  กิจกรรมกีฬา ส่งประกวดศิลปวัฒนธรรม  เฮ้อ...

คำขอของผอ.ส่วนใหญ่นี้แสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำอย่างหนึ่งเลยนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท