​ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังพระราชดำรัสว่า

“...พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น

ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน “ทางสายกลาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ “ความพอเพียง” หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

เศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย โดยทำลายคนส่วนใหญ่ และทำลายฐานทรัพยากรทั้งหมดทำให้ไม่ยั่งยืนและวิกฤติ เป็นเศรษฐกิจฉกฉวยและเศรษฐกิจเทียม ที่สร้างปัญหาให้สังคมไทยนานัปประการ ควรจะใช้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแก้เพื่อปวงชน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ทุกคนมีพออยู่พอกิน

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความมีจิตใจพอเพียง มีวิริยะ (ความเพียร) พอเพียง มีปัญญาพอเพียง มีวัฒนธรรมพอเพียง มีสิ่งแวดล้อมที่พอเพียง และมีความเอื้ออาทรต่อกันพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจที่บูรณาการ เป็นเศรษฐกิจแท้ที่ต้องเป็นไปเพื่อ “ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

ดังจะเห็นได้ว่า หลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างความพออยู่พอกินพอใช้ให้กับบุคคล กลุ่ม ชุมชน หรือรัฐ สามารถสร้างความสมัครสามัคคีให้เกิดขึ้นทั้งในระดับรากฐานของประเทศไปจนถึงระดับชาติ สามารถสร้างจิตใจที่ดีงาม เพราะแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะสร้างสรรค์ความพอเพียงนับตั้งแต่ระดับบุคคลครอบครัว ไปจนถึง ระดับชุมชน และระดับองค์กร จนไปถึงระดับประเทศตามลำดับขั้น

ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน มุ่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน การผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภค และขายผลิตผลในส่วนที่เหลือจากการบริโภค เพื่อมีรายได้ไว้ใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว

ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเรื่องของการสนับสนุน ให้เกษตรกรรวมกันในรูปสหกรณ์ หรือกลุ่ม เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรมีความพอเพียงขั้นพื้นฐานแล้ว ก็จะรวมกลุ่มกัน บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ กลุ่มหรือชุมชน เกิดความพอเพียงได้อย่างแท้จริง

ความพอเพียงในระดับประเทศ ส่งเสริมให้ชุมชน กลุ่ม หรือสหกรณ์ สร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆในประเทศ เช่น บริษัท ห้างร้านใหญ่ หรือธนาคาร เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสืบทอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์จากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามหลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งในระดับกลุ่ม ชุมชน องค์กร และธุรกิจต่างๆทั่วประเทศ ด้วยหลักการ แบ่งปัน ไม่เบียดเบียน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเครือข่ายเรียนรู้ ให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิด เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในทุกภาคส่วน ตลอดจนสามารถปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างรู้เท่าทัน และนำไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทย

หมายเลขบันทึก: 578145เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเห็นด้วยทุกประการเลยนะครับ เศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายความว่า จะต้องทำกินเองใช้เองซะทีไหน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท