​ไปชื่นชมโรงเรียนสร้างสุขภาวะ จ. ศรีสะเกษ (๒) โรงเรียนบ้านนาขนวน


ตอนที่ ๑

          เช้าวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ เราออกเดินทางจากวังชมภูรีสอร์ท เวลา ๗.๐๐ น. เดินทางไปโรงเรียน บ้านนาขนวน เพื่อรับประทานอาหารเช้า และเยี่ยมชมชั้นเรียน ที่ดำเนินการเปลี่ยนจากแนวเดิมๆ มาเป็นแนว ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งก็คือแนว Active Learning นั่นเอง

          แม้แต่เครื่องแบบนักเรียน ก็สวมเสื้อที่ตัดด้วยผ้าทอพื้นเมือง ลายผ้าขาวม้า คล้ายเครื่องแบบนักเรียน โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และพิธีกรรมหน้าเสาธงในตอนเช้า ก็คล้ายคลึงกัน

          ผู้อำนวยการโรงเรียน ชื่อ นายสังคม อินทร์ขาว เดิมเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาล ดำรงราชานุสรณ์ ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนี้เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว และเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ การเรียนการสอน ด้วยความช่วยเหลือของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ทันทีที่เป็นผู้อำนวยการ ดังนั้น โรงเรียนนี้จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ที่แน่นแฟ้นมาก ดำเนินการมา ๖ ปี ก่อนจะมีโครงการโรงเรียน สร้างสุขภาวะตั้ง ๕ ปี

          โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประถม สอนชั้นอนุบาล ๑, อนุบาล ๒ และประถม ๑ - ๖ มีนักเรียน ๒๐๐ คนเศษ ครู ๑๑ คน

          รับประทานอาหารเช้าเสร็จ เราก็ตั้งวงคุยกัน มีประธานคณะกรรมการโรงเรียน ที่เป็นอดีต ผู้อำนวยการโรงเรียน กำนัน ผู้ปกครองเด็ก และครู เราได้รับฟังความพึงพอใจ หรือความสุขของทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง เพราะเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ว่ามีผลดีต่อเด็ก ทั้งในด้านการเรียน และความประพฤติ

          บ้านนาขนวนเป็นชุมชนที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างจน อาชีพทำนาเป็นหลัก ตอนนี้นาและต้นไม้ เขียวชะอุ่ม เพราะเป็นหน้าฝน

          แม่ของนักเรียนที่เพิ่งเรียนจบ ป. ๖ ไปจากโรงเรียนนี้มาเล่าว่า ตนพอใจมาก ต่อคุณภาพการศึกษา ที่ลูกสาวได้รับ ทำให้ไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมในตัวอำเภอได้ และบอกว่าลูกคนโต ที่เป็นผู้ชายอายุ ๒๒ ปีแล้ว และเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ หากเขาได้เรียนแบบนี้ ก็น่าจะมีอนาคตดีกว่านี้ เพราะเรียนไม่จบ เชื่อว่าหาก เรียนชั้นประถมแบบใหม่ ลูกชายน่าจะเรียนจบชั้นมัธยม

          ครูคนหนึ่งเพิ่งย้ายมาจากโรงเรียนอื่นได้ ๑ ปี บอกว่าการสอนแบบใหม่นี้ นักเรียนจำได้แม่นยำและ นานกว่า และนักเรียนสนใจเรียนมากกว่า

          สรุปได้ว่าบรรยากาศในวงประชุม เต็มไปด้วยความสุข ความภาคภูมิใจ ในรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ ของโรงเรียน

          หลังจากนั้น เราไปเยี่ยมชั้นเรียนที่ครูกำลังสอน ในชั้นเรียนส่วนใหญ่เด็กนั่งทำงานกับพื้นห้อง และครูก็นั่งที่พื้นห้อง ดร. ประวิตอธิบายว่า เพื่อให้เด็กรู้สึกว่านั่งเสมอกัน

          เราไปเห็นการจัดห้องเรียนแบบยืดหยุ่น ห้องเรียนส่วนใหญ่เอาโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปรวมไว้หลังห้อง ให้มีที่ว่างให้นักเรียนนั่งล้อมวงเรียนร่วมกัน ครูไม่ได้นั่งกลางวง แต่นั่งเป็นส่วนหนึ่งของวง และตามผนัง ห้องติดผลงานของเด็ก เป็นผลงานของทีมงานเต็มไปหมด

          เรามีเวลาที่นี่ไม่นานนัก เพราะต้องรีบไปเยี่ยมอีก ๒ โรงเรียน


ผอ. โรงเรียนถ่ายรูปร่วมกันที่วังชมภูรีสอร์ท


นักเรียนเตรียมเข้าแถวทำพิธีหน้าเสาธง พิธีนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้บูรณาการ


วิสัยทัศน์ของโรงเรียนบ้านนาขนวน เสาป้ายที่สวยงามอย่างนี้หายากมาก


อาคารเรียนที่แสนธรรมดา แต่มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่อยู่ภายใน - Active Learning


ป้ายที่บอกว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน


ได้รับการยกย่องเป็นสถานศึกษาต้นแบบ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้


บริเวณตกแต่งสวยงาม


พื้นถนนแห่งการเรียนรู้

ผู้ปกครองนักเรียนเล่าเรื่องลูกของตน


คุณครูท่านนี้เพิ่งย้ายมาสอนที่โรงเรียนนี้ได้ปีเดียว บอกว่านักเรียนจำวิชาได้ดีกว่าเรียนแบบครูบอก


ห้องเรียนชั้น ป. ๕


ห้องเรียน ป. ๔ เอาโต๊ะเก้าอี้ไปไว้หลังห้อง ใช้พื้นที่นั่งล้อมวงเรียน ครูนั่งเสมอเด็ก


นักเรียนเขียนสะท้อนตัวเอง


ครูพิสมัย เรือกาญจนรัตน์ (ป. ๔) สอนมากว่า ๓๐ ปี บอกว่าสอนวิธีใหม่เด็กเรียนได้ดีกว่ามาก
มีสมาธิ มีวินัย ผลการสอบ ดีกว่า


ชั้นอนุบาล ๒


ชั้นอนุบาล ๑


ชั้น ป. ๒

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 577820เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2014 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2014 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สนใจและชอบใจกิจกรรมของโรงเรียนแบบนี้ครับ

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท