กราฟิกดีไซน์ : กิจกรรมหรือวิชาชีพ? ( 2 )


การที่กราฟิกดีไซน์ขยายตัวในเชิงกิจกรรมจนกลายเป็นของที่ใครๆก็ทำได้นั้น มีมุมมองสองแบบ

แบบหนึ่งคือเห็นเป็น “วิกฤติ” ของบรรดามืออาชีพ แบบที่สองคือเห็นเป็น “โอกาส”
ของวงการที่จะดึงดูดคนทั่วไปให้มีส่วนร่วม

วงการดีไซน์ในซีกโลกตะวันตกกำลังถกเถียงกันในเรื่องนี้ การสัมมนา “New Views 2 :
Conversation and Dialog in Graphic Design” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่ London College
of Communication ดูจะมีมุมมองในแบบแรก เพราะเนื้อหาการสัมมนาซึ่งถูกสรุปด้วย
การบรรยายของริชาร์ด บุคคานาน (Richard Buchanan) มีใจความว่า อาชีพกราฟิกดีไซน์
มีปัญหาขั้นวิกฤติและโอกาสที่จะแก้ไขก็เหลือน้อยเต็มทีและเมื่อปรากฏในรายงานของ
นิตยสาร Eye ก็ใช้ชื่อพาดหัวว่า ‘วาระสุดท้ายของกราฟิกดีไซน์’ หรือ
‘It’s the end of graphic design as we know it’

บุคคานาน เข้าร่วมการสัมมนาในฐานะแขกรับเชิญ เขาเป็นนักวิชาการด้านดีไซน์
ดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการปริญญาเอกด้านดีไซน์ของ คาร์เนกี้ เมลลอน
เชี่ยวชาญด้านทฤษฏีในสาขา communication design และ industrial design;
หนึ่งในผู้ก่อตั้งวารสาร Design Issue ของ M.I.T. Press ; ประธานของ Design Research
Society ในอังกฤษ และมีผลงานมากมาย เช่น Discovering Design: Explorations in
Design Studies, The Idea of Design และ Pluralism in Theory and Practice.

กราฟิกดีไซน์เป็นกิจกรรมหรือวิชาชีพ? บุคคานานบอกว่ามันเป็น ‘วงการ’ (field) มากกว่าวิชาชีพ
เพราะในยุคนี้ ใครๆ ก็ทำงานกราฟิกดีไซน์ได้ ซึ่งเขาย้ำว่า “…ในราคาที่ถูกกว่าด้วย”
แต่เมื่อเทียบกับความสำเร็จในยุคทองของวงการเมื่อยี่สิบปีที่แล้วอาชีพนี้กำลังเสื่อมลง

บุคคานานยกเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ฟังดูแล้วก็คล้ายกับในเมืองไทย เช่น การที่กราฟิกดีไซเนอร์ขาด
การรวมตัวกัน เข้าเห็นว่าเป็นเพราะมีนิสัยหยิ่งยโส และชอบอยู่แบบตัวใครตัวมันมากกว่า
สาขาอื่นๆ กราฟิกดีไซน์ลดบทบาททางสังคมรวมทั้งในแง่ธุรกิจ อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจ
มิหนำซ้ำ เนื่องจากทำหน้าที่ใช้รับตลาดสมัยใหม่ กราฟิกดีไซน์และโฆษณาก็พลอยถูกประณามว่า
ผลิตขยะออกมาไว้บนโลกนี้มากกว่าอาชีพอื่นๆ

แม้แต่คำว่า ‘graphic design’ ก็เป็นสาเหตุของปัญหาด้วย เขาชี้ว่ากราฟิกดีไซน์เป็นเพียงชื่อ
ที่ตั้งตามเทคนิคการพิมพ์ชนิดหนึ่งเท่านั้น ในปัจจุบัน คำคำนี้หมดความหมายไปแล้ว
เพราะไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคนิคและการขยายตัวของสื่อที่ใช้ในวงการ
ส่วนความสัมพันธ์และการสื่อสารแลกเปลี่ยนทางความคิดที่ลดระดับลง ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง
ดีไซเนอร์กับลูกค้า กับหน่วยการผลิต (เช่น โรงพิมพ์) และกับดีไซเนอร์ด้วยกันเอง
ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ

ตัวแทนของมุมมองแบบที่สองอยู่ในปาฐกถานำของ คริสดาวส์ (Chirs Downs) จากบริษัท
Live/Work ซึ่งมีชื่อว่า ‘Who is stealing design from the designers? And why is this
the best thing that can possibly happen to the discipline? และในบทรายงานซึ่งโดย
ริก พอยเนอร์ (Rick Poynor) นักวิจารณ์ชาวอังกฤษผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนั้น
แต่กลับมองในทางตรงกันข้าม

ในแง่ภูมิหลัง ริก พอยเนอร์ เด่นดังในวงวิชาการไม่น้อย เขาเป็นนักวิจารณ์ดีไซน์ของอังกฤษ
ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Eye ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนิตยสารที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดและมีผลงาน
รวมเล่มแล้วหลายเล่ม เช่น Design Without Boundaries, Obey the Giant: Life in the
Image World และ Designing Pornotopia Travel in Visual Culture

สำหรับพอยเนอร์ ความเสื่อมของวิชาชีพกราฟิกดีไซน์อาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า
กิจกรรมด้านนี้จะเสื่อมไปด้วย

ในสังคมวงกว้าง กราฟิกดีไซน์กำลังเติบโต ในสื่อดั่งเดิม เช่น หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์
บิลล์บอร์ด และสื่อ เพื่อการขายทุกชนิด งานกราฟิกดีไซน์ยังมีชีวิตชีวา
จะดีเท่าในอดีตหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

ดังนั้น เขาจึงเห็นว่าสิ่งที่บุคคานานพูดถึงนั้นเป็นปัญหาของคนกลุ่มเล็กๆ นั่นคือ
บรรดากราฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพ พอยเนอร์เรียกมันว่าปัญหา professional identity
และยกกรณีตัวอย่างอันได้แก่สมาคมอาชีพหรือสถาบันวิชาชีพ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ศตวรรษนี้
สมาคมได้กลายเป็น “คอก” ที่ไม่มีใครอยากเข้า ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็ไร้ทิศทาง
เสียจนกลายเป็นเพียงสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่มีใครเชื่อถือ

พอยเนอร์มองปรากฏการณ์ขยายตัวในแนวกว้างของกราฟิกดีไซน์ในแง่ดี
ถ้าถามว่าความต้องการกราฟิกดีไซน์จะลดน้อยลงหรือไม่ คำตอบของเขา คือ ไม่
ถ้าถามว่ามือสมัครเล่นจะมาแทนมืออาชีพหรือไม่? เช่นกัน คำตอบของเขาก็คือ ไม่

สำหรับพอยเนอร์ กราฟิกดีไซน์ที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานของสังคม จะยังคงอยู่และเจริญงอกงามต่อไป
ปัญหาคือ กราฟิกดีไซน์ที่เป็นทักษะหรือความเชี่ยวชาญอันพิเศษและต้องเสียเวลา (และค่าหน่วยกิต)
ไปเล่าเรียนกันในโรงเรียน รวมทั้งที่เป็นสาขาอาชีพหนึ่งนั้น มีอนาคตหรือไม่?

เขาเห็นว่า ‘Graphic design’ เป็นคำที่ไม่สร้างการมีส่วนร่วมของคนนอกวงการ และเป็นเวลากว่า
สามสิบปีมาแล้วที่กราฟิกดีไซน์พยายามเปลี่ยนชื่อไปเป็น ‘ visual communication’
(สำหรับในเมืองไทยมีความพยายามที่คล้ายกัน แสดงออกด้วยคำว่า ‘นิเทศศิสป์’)
ซึ่งก็คือ การหันไปเน้นผลงานและการแสดงออกมากกว่ากระบวนการทำงาน
และไม่จำกัดตัวเองอยู่กับความเป็นวิชาชีพ

ข้อสรุปของพอยเนอร์คือ การขยายตัวเป็นแนวกว้างมีอนาคตกว่าการหดตัวให้แคบลงและ
เชื่อในเรื่องความหลากหลายและการกระจายตัวของกราฟิกดีไซน์ มากกว่าการรวมตัวและ
รักษาสถานภาพขงสมาคมหรือวิชาชีพ จุดสำคัญคือ ต้องใจกว้างต่อปรากฏการณ์ที่ใครๆ
ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา นักร้อง นักวาดการ์ตูน หรือชาวบ้าน ก็หันมาใช้กราฟิกดีไซน์ทำงาน
และต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมีผลต่อคำจำกัดความของทักษะนี้

วิกฤติของกราฟิกดีไซเนอร์แสดงตัวออกชัดในเรื่องของสมาคมอาชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่าฝรั่งเอง
ก็ยังมีปัญหา แม้แต่สมาคมที่ลงหลักปักฐานและมีผลงานพิสูจน์ชัดอย่าง AIGA
หรือสมาคมกราฟิกดีไซน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอายุเกือบร้อยปีและมีสาขาทั่วประเทศ
ก็ยังต้องเจอกับวิกฤติ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ริชาร์ด เกรฟฟ์ (Richard Gref’e)
ซึ่งเป็น executive director ของ AIGA เพิ่งเขียนบทความเรื่อง ‘ในยุคของเครือข่ายแบบใหม่
ทำไมต้องเป็นสมาชิก AIGA?’ (In the Age of Social Media, Why Belong to AIGA?)
และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสมาคม

เช่นเดียวกับไทย กราฟิกดีไซน์ของสหรัฐอเมริกาเป็นวงการที่ไม่มีการจดทะเบียนหรือ
ออกใบอนุญาตประกอบอาชีพ สมาคมจึงมีบทบาทต่อสังคมและนักออกแบบน้อยกว่า
ดีไซน์ด้านอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมและออกแบบตกแต่งภายใน อย่างไรก็ตาม AIGA
สามารถยืนยงอยู่ได้ด้วยการเป็นศูนย์รวมของกิจกรรม เป็นที่และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
ทำหน้าที่ยกระดับมาตรฐานของงาน

เกรฟฟ์นำเสนอปัญหาว่ากิจกรรมดังกล่าวกำลังถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายหรือกลุ่มย่อยๆ
โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในอินเตอร์เน็ต เขาเริ่มหว่านล้อมผู้อ่านด้วยการบอกว่า ถ้าการเข้าถึงผู้คน
และข้อมูลเป็นหัวใจของเครือข่าย การติดต่อแบบออนไลน์ก็น่าจะพอ
แต่ถ้าต้องการอะไรที่ลึกกว่านั้น เช่น พบปะพูดคุยกันจริงๆ สมาคมจะมีประโยชน์มากกว่า

นอกจากนั้นสมาคมยังส่งเสียงดังกว่าปัจเจกชน ดังจะเห็นได้จากที่ทนายและแพทย์มีสถานภาพ
ในสังคมเพราะมีการรวมกลุ่ม เขาย้ำว่า การสืบทอดเจตนารมณ์ของกลุ่มหรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ
ปราศจากสมาคม ก็ทำได้ แต่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีผลสะเทือนที่หนักแน่นและจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของเกรฟฟ์ถูกวิจารณ์อย่างมาก หลายคนเข้ามาโพสส์ความเห็นที่ขัดแย้ง
เช่น กิจกรรมของดีไซเนอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ AIGA ไม่มีบทบาทเท่าที่ควร
การบอกว่าสนับสนุนเครือข่ายเป็นแค่คำพูด ไม่มีการกระทำที่เป็นจริง ส่วนการเปิดโอกาส
ให้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกนั้น สมาคมก็ไม่ยืดหยุ่นพอ ทั้งในแง่วิธีการและเนื้อหา

ความเฟื่องฟูของกราฟิกดีไซน์ในเชิงทักษะและกิจกรรม จนกลายเป็นของที่ใครๆก็ทำได้ทั้งนั้น
เป็นปรากฏการณ์เชิงสังคมอย่างหนึ่งทั้งเทคโนโลยีและตลาดกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่ทำให้
กิจกรรมนี้เปิดกว้างมากขึ้น เช่นเดียวกับการเขียนนิยาย รายงานข่าว หรือสร้างภาพยนตร์
ซึ่งกำลังกลายเป็นทักษะที่เสาะหา ฝึกฝนตลอดจนบรรลุความเป็นเลิศได้อย่างไม่ยากเย็น

หลายคนมองว่าปรากฏการณ์นี้นำไปสู่ “วิกฤติอัตลักษณ์” หรือการสูญเสียบทบาทของบรรดา
มืออาชีพ สถาบันการศึกษาและสมาคมวิชาชีพ แน่นอน มีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายในวงการ
แต่การที่กราฟิกดีไซน์กลายเป็นนิยามที่กว้างจนคำว่ามืออาชีพไม่มีความหมายอีกต่อไป
นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด จะจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่น่าขบคิด แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า
การจำกัดวงให้แคบหรือเน้นความเป็นเลิศจนมือสมัครเล่นก็เข้ามาไม่ได้นั้น ไม่สอดคล้องกับ
กระแสหลักในเชิงวัฒนธรรม ส่วนการรวมกลุ่มทำอะไรในนามมืออาชีพ
ก็อาจจะกลายเป็นการกีดกันคนอื่นๆ

การทำในสิ่งที่มืออาชีพสนใจ และพูดด้วยภาษามืออาชีพเท่านั้นที่เข้าใจ
อาจจะจบลงด้วยการพูดกับตัวเอง

http://thaigraphicdesigner.wordpress.com/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-what-is-graphic-design/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A3/

คำสำคัญ (Tags): #graphic design
หมายเลขบันทึก: 577771เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2014 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2014 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท