คณะเกษตรฯ มข. ประชุมระดมความคิดแก้ไขปัญหาปลูกพริกคืนสู่ท้องถิ่น จ.น่าน


เกษตรกรผู้ปลูกพริกประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลงทำลาย ไม่ได้ไถพรวนขึ้นแปลงก่อนปลูกพริก ใช้ระยะปลูกที่ถี่เกินไป พริกเป็นโรคกุ้งแห้งและแมลงทำลาย ใช้สารเคมีมาก ต้นทุนการปลูกพริกสูงและขาดการรวมกลุ่ม


                      มอบหัวเชื้อราบิวเวอเรียให้แก่ตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน                

                  อาจารย์วีระ ภาคอุทัย อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ การพัฒนาระบบการตัดสินใจและจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลยม สำนักงานเกษตรอำเภอท่าวังผา และสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “การปลูกพริกปลอดภัย และระบบการตัดสินใจของเกษตรกรผู้ปลูกพริก” เพื่อระดมความคิดเห็นคืนข้อมูลจากผลการศึกษาให้กับท้องถิ่นจังหวัดน่าน นำไปวางแผนแก้ไขปัญหาการปลูกพริกต่อไป โดยมีนายผล จันทึก รองนายกอบต.ยม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ นายสุรศักดิ์ แก้วชุม นักวิชาการส่งเสริม ชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอท่าวังผา กล่าวรายงานสรุป ถึงภาพรวมการปลูกพริกของอำเภอท่าวังผา มีเจ้าหน้าที่เกษตร จำนวน 4 คน และเกษตรกร จำนวน 72 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2557
                 อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า เนื่องจากอำเภอท่าวังผาเป็นแหล่งปลูกพริกที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตพริกผลใหญ่ เพื่อส่งโรงงานซอสพริก เนื่องจากพื้นที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกพริกผลใหญ่ ส่วนใหญ่จะปลูกพริกใหญ่พันธุ์พื้นเมือง และเริ่มมีการนำเอาพริกใหญ่พันธุ์ลูกผสมเข้ามาปลูก แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้ปลูกพริกยังประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลงมาก อันเนื่องมาจากการปฏิบัติของเกษตรกรผู้ปลูกพริกที่เคยสืบทอดกันมาหลายสิบปี โดยเฉพาะการไม่ได้ไถพรวนขึ้นแปลงก่อนปลูกพริก ซึ่งในอดีตยังไม่พบปัญหาเรื่องโรคและแมลงมากนัก ทางโครงการวิจัยฯได้มีการสาธิตการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรียและเชื้อราเมตตาไรเซียม เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการใช้สารเคมี และได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการผลิตพริกปลอดภัย โดยให้มีการใช้สารชีวภัณฑ์ เชื้อราบิวเวอเรีย โรยแปลงนาก่อนคลุมฟาง เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องแมลง เช่น หนอน และมีการให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ตั้งแต่การเตรียมวัสดุเพาะกล้าและใช้ผสมน้ำรดต้นกล้า เพื่อช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคกุ้งแห้ง โรครากเน่า-โคนเน่า โรคใบจุดและใบไหม้ เป็นต้น
                 อาจารย์วีระ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการทำร่องรอบแปลงนา ก็เพื่อระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้น ช่วยป้องกันน้ำท่วมขังแปลง ที่จะทำให้เกิดโรครากเน่า-โคนเน่าและโรคใบเหลืองตามมา อีกทั้งระยะห่างในการปลูกพริกของเกษตรกรจากเดิมเพียง 1 คืบ ซึ่งชิดกันมาก ก็ให้เปลี่ยนเป็น 1 ศอก เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องโรคและแมลง และควรมีการเก็บพริกที่เป็นโรคกุ้งแห้งและแมลงทำลาย แล้วนำไปทำลายทิ้งนอกแปลง โดยไม่ปล่อยให้ร่วงหล่นอยู่ในแปลงพริกเหมือนเดิม เพราะจะทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแมลงต่อไปได้ และอาจทำให้โรคและแมลงระบาดหนักกว่าเดิม
                 “สำหรับเรื่องการรวมกลุ่มกันนั้น ก็เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกพริกที่อยู่ใกล้กัน ได้ช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และยังง่ายต่อการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ และสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ โครงการ การพัฒนาระบบการตัดสินใจและจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ ได้เน้นย้ำให้เกษตรกรตระหนัก ในเรื่องของการปลูกพริกระบบปลอดภัยให้ได้มาตรฐานและคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของตนเองและตรงกับความต้องการของตลาดนั่นเอง” อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวในที่สุด

               อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ข้อมูลข่าว/ภาพ
               กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่


                            การตากพริกที่เป็นโรคไว้ข้างแปลง


                                    เกษตรกรผู้เข้าร่วมอบรม


    ต้นพริกที่ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาและบิวเวอเรียทุกขั้นตอนจะแข็งแรง ต้านทานโรค


                                   ฟางข้าวที่เก็บไว้ใช้คลุมแปลงพริก


สภาพพริกที่เกษตรกรไม่ได้ดูแลแล้วเพราะกำลังจะรื้อแปลง พริกมีเชื้อราและแมลงวันพริก บ.ก๋ง


                  หว่านเชื้อบิวเวอเรีย ก่อนคลุมแปลงด้วยฟาง ป้องกันหนอน

หมายเลขบันทึก: 576581เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2014 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2014 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท