การว่ายน้ำเป็น...กับการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด


อ่านบทความนี้จากการแชร์มาใน Facebook แล้วคิดว่ามีประโยชน์มากๆ น่าจะเก็บไว้เป็นมรดกของไทยเราด้วย เลยเขียนเมลไปชวนคุณ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เอามาลงใน GotoKnow บ้างด้วย เพราะที่หน้าเพจ Education Facet ของท่านมีเรื่องดีๆเกี่ยวกับการศึกษาอีกหลายๆเรื่องทีเดียวค่ะ ขออนุญาตเอาเรื่องนี้มาลงก่อน เพราะจากการได้มีโอกาสแนะนำใครๆรอบๆตัวในการว่ายน้ำ การลอยตัวในน้ำ เห็นจริงว่ามีคนทำไม่ได้เยอะทีเดียวค่ะ การอยู่ในน้ำแบบไม่ให้จมน้ำนี้สำคัญจริงๆ และเป็นคนละเรื่องกับการว่ายน้ำเป็นจริงๆค่ะ 

ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกๆ ท่าน คงเห็นความสำคัญของการฝึกให้ลูกว่ายน้ำเป็นอยู่แล้วนะครับ แต่การฝึกว่ายน้ำในทุกๆ วันนี้ของเด็กๆ ส่วนมากมักจะมีรูปแบบการฝึกในลักษณะของ - - กีฬาว่ายน้ำ - - มากกว่า - - การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด - - นะครับ วันนี้ผมจะมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เปิดมุมมองเกี่ยวกับการฝึกว่ายน้ำให้กับลูกในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า Drown Proofing ครับ หรือ - - การว่ายน้ำแบบไม่มีวันจม - - ครับ เพื่อตอบโจทย์ "การเอาตัวรอดจากการจมน้ำ" แบบชัดๆ กันไปเลยครับ

คือ ผมได้รู้จักคำว่า "Drown Proofing" ครั้งแรกจากคุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา และรู้สึกว่าเป็นแนวคิดของการฝึกว่ายน้ำให้กับเด็กๆ ที่น่าสนใจมากๆ จนต้องมาหาข้อมูล และรายละเอียดของ Drown Proofing แล้วมาเล่าให้กับคุณพ่อคุณแม่ฟัง นี่ล่ะครับ ก่อนที่จะลงรายละเอียดว่า Drown Proofing นี้มันคืออะไร ผมอยากจะถามคุณพ่อคุณแม่ ที่ส่งให้ลูกไปฝึกว่ายน้ำ หรือสอนว่ายน้ำให้กับลูก ด้วยชุดคำถามต่อไปนี้ครับ

1. ถ้าลูกไม่มีแว่นตากันน้ำ ลูกยังคงสามารถว่ายน้ำได้หรือไม่?

2. ลูกสามารถว่ายน้ำได้ต่อเนื่องกันได้ถึง 600 - 1,200 เมตร หรือไม่ ที่ผมต้องถามคำถามนี้ ก็เพราะว่า ผมสมมติว่าเด็กเดินทางโดยเรือ ที่ล่องไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้างสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1,200 เมตร นั่นหมายความว่า ถ้าเรือล่มกลางลำน้ำ ระยะทางที่ไกลที่สุดที่เด็กต้องว่ายเข้ามาหาฝั่งก็คือ 600 เมตร ถ้าเด็กต้องว่ายเฉียงๆ ทำมุมสัก 45 - 60 องศา เพื่อไม่ให้ว่ายทวนกระแสน้ำมาก ก็เท่ากับว่าระยะทางที่เด็กต้องว่ายน้ำเพื่อเข้าหาฝั่งจะอยู่ที่ประมาณ 850 - 1,200 เมตร ดังนั้นถ้าเด็กสามารถว่ายน้ำได้ต่อเนื่องเป็นระยะทาง 1,200 เมตรได้ (อาจจะค่อยๆ ว่ายก็ได้นะครับ) เราก็จะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ลูกของเรามีศักยภาพที่จะว่ายน้ำเข้าสู่ฝั่งได้ หากประสบเหตุเรือล่มกลางลำน้ำ

3. ลูกสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงหรือไม่ เพราะในกรณีที่เรือล่มในทะเล กว่าเจ้าหน้าที่ชายฝั่งจะทราบ และส่งเรือออกมาช่วยเหลือ ก็มักจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าลูกเราสามารถลอยตัวในน้ำได้นานกว่า 3 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ก็จะมั่นใจในระดับหนึ่งว่า "ลูกเรามีศักยภาพที่จะเอาตัวรอด และรอคอยความช่วยเหลือได้"

คือ "ทักษะการว่ายน้ำ" ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นเพียง "กีฬา" นะครับ แต่ผมมองว่ามันเป็น "ทักษะในการเอาชีวิตรอด (Survival Skill) ที่สำคัญมากๆ สำหรับเด็ก" เพราะว่าจากข้อมูลสถิติการเสียชีวิตของเด็กๆ ทั่วโลกในแต่ละปี (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ และ ที่นี่) พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากการจมน้ำ ปีละ 135,585 คน หรือเฉลี่ยวันละ 372 คน
ถ้าเอาเฉพาะในอาเซียนพบว่า มีจำนวนสูงถึงปีละ 32,744 คน หรือเฉลี่ยวันละ 90 คน

ยิ่งกลับมาดูที่ประเทศไทย นี่ยิ่งตกใจใหญ่ครับ เพราะว่าประเทศไทยโดยเฉลี่ยแล้วเรามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 4 คน และเป็นสถิติที่มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ถึง 5 - 15 เท่าตัว นอกจากนี้การจมน้ำยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อีกด้วยนะครับ แถมสูงกว่าอุบัติเหตุทางจราจรถึง 2 เท่าตัว เลยทีเดียว ผมถึงได้ย้ำไงล่ะครับว่า "ทักษะการว่ายน้ำ" ไม่ใช่เป็นเพียง "กีฬา" แต่เป็น "ทักษะในการเอาตัวรอดที่สำคัญมากๆ"

ประเด็นต่อมาก็คือ แล้วเราฝึกว่ายน้ำให้กับลูกเราแบบไหนล่ะครับ ผมเข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่บางท่าน มักการฝึกว่ายน้ำในเด็ก มักจะฝึกในรูปแบบของ การหัดว่ายน้ำท่าต่างๆ เช่น ฟรีสไตล์ กรรเชียง กบ และผีเสื้อ ที่พอลูกพอจะว่ายท่าต่างๆ เป็นแล้ว ก็มักจะคิดว่า "ลูกว่ายน้ำเป็นแล้ว" บางท่านก็ไปเน้นการจับเวลาให้ลูกว่ายน้ำได้เร็วๆ โดยที่ - - ไม่เน้นการฝึกให้ว่ายน้ำได้อึดเพียงพอ หรือว่ายจนว่ายต่อเนื่องได้นานๆ - - ไม่เน้นการฝึกว่ายแบบลอยคอโดยไม่มีแว่นตากันน้ำ - - ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่เน้น - - ทักษะการลอยตัวในน้ำได้นานๆ - - แล้วอย่างนี้ เวลาที่ลูกของเราต้องประสบกับอุบัติเหตุทางน้ำ เขาจะเอาตัวรอดได้อย่างไร แว่นตากันน้ำก็ไม่มี จะว่ายฟรีสไตล์เร็วๆ ก็มองไม่เห็นฝั่ง หรือเห็นฝั่งอยู่ไกลมากๆ (ไม่เหมือนกับสระว่ายน้ำ)

ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่คงเคยอ่านข่าวประมาณว่า เป็นนักกีฬาว่ายน้ำแท้ๆ แต่กลับจมน้ำตาย ที่เขาจมน้ำตายนี่ไม่ได้เป็นเพราะเขาว่ายน้ำไม่เป็นนะครับ แต่ทักษะการว่ายน้ำในรูปแบบกีฬาในสระน้ำ มันไม่สามารถทำให้เขาเอาตัวรอดจากการจมน้ำในแหล่งน้ำในธรรมชาติต่างหากครับ

เบื้องต้นผมคิดว่า การฝึกว่ายน้ำให้กับลูกควรเน้นที่ "ทักษะการเอาตัวรอด" ครับ โดยเน้นการฝึกว่ายน้ำให้ลูกในลักษณะนี้ครับ

1. การว่ายน้ำให้ได้อึด สามารถว่ายต่อเนื่องให้ได้ 600 - 1,200 เมตร ให้ได้ครับ ว่ายแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ว่ายชิลๆ สบายๆ ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องจ้วง ไม่ต้องจับเวลาทำสถิติอะไรหรอกนะครับ แต่ต้องว่ายให้อึด ว่ายได้เรื่อยๆ ว่ายได้นานๆ ต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดพักเป็นระยะทางยาวๆ สักหน่อย (600 - 1,200 เมตร) ครับ เอาเป็นว่าอย่างน้อยๆ ก็ควรจะว่ายต่อเนื่องได้สัก 300 - 400 เมตรก็ยังดีครับ เด็กบางคนพอว่ายสัก 50 เมตร ก็ต้องเก่ะขอบสระหอบแฮ่กๆ ผมว่าอึดยังไม่พอครับ

2. อย่าละเลยการว่ายน้ำแบบลอยคอ ซึ่งต้องอาศัยการลอยตัวแบบ Treading Water ให้ได้ก่อน (ซึ่งคนไทยเรามักจะเรียกว่า "ลูกหมาตกน้ำ") ซึ่งถ้าเด็กสามารถลอยตัวแบบ Treading Water ได้แล้ว เขาจะประยุกต์ท่าฟรีสไตล์ และท่ากบ โดยว่ายน้ำไปข้างน้ำ ในลักษณะลอยคอโดยไม่ต้องให้หน้าคว่ำไปในน้ำได้ คือ ท่าไม่สวยไม่เป็นไรครับ เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติบางที มันก็ไม่เหมาะที่จะว่ายน้ำแบบคว่ำหน้าลงไปในน้ำนะครับ และโดยปกติเราก็ไม่ได้พกแว่นตากันน้ำ แบบที่เราว่ายในสระว่ายน้ำอยู่แล้ว ดังนั้นการว่ายน้ำแบบลอยคอจึงการว่ายน้ำที่ท่าไม่สวย แต่มันใช้เอาตัวรอดได้นะครับ (บางคนไม่มีแว่นตากันน้ำ นี่ถึงกับว่ายน้ำไม่เป็นกันเลยทีเดียว แบบนี้ไม่มีประโยชน์ในมิติของการเอาตัวรอดนะครับ)

3. สิ่งที่สำคัญที่สุดของการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดก็คือ - - ความสามารถในการลอยตัว และอยู่ในน้ำได้นานที่สุด - - ซึ่งมีการค้นพบว่าท่าที่คนสามารถลอยตัวในน้ำได้นานที่สุด ก็คือ Drown Proofing นี่ล่ะครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ และ ที่นี่) ซึ่งในประเทศนิวซีแลนด์นี่มีการศึกษา และนำเอามาประยุกต์ใช้เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำกันแบบจริงๆ จังๆ เลยนะครับ (อ่านรายงานเพิ่มเติมได้ที่นี่)

คือ Drown Proofing หรือการลอยตัวแบบไม่มีวันจมนี่ ได้รับการคิดค้นโดยโค้ชว่ายน้ำที่ชื่อว่า Fred Lanoue ซึ่งเขาเป็นโค้ชว่ายน้ำที่ Georgia Institute of Technology ระหว่างปี ค.ศ.1936 ถึง 1964 โดยเขามีความเชื่อว่า ทุกๆ คนสามารถที่จะเอาตัวรอดจากการจมน้ำได้ โดยเทคนิคง่ายๆ ที่ไม่ต้องอาศัยพละกำลัง หรือการฝึกฝนแบบเอาเป็นเอาตาย เขาจึงคิดค้นเจ้าท่า Drown Proofing ขึ้นมา ซึ่งใครๆ ก็สามารถฝึกฝนได้ครับ เจ้าท่า Drown Proofing นี้มันมีประสิทธิภาพในการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ จนนาวิกโยธินของประเทศสหรัฐอเมริกา เอาไปใช้ฝึกทหารในหน่วยนาวิกโยธินเลยนะครับ เพื่อให้ทหารของเขาสามารถอยู่ในน้ำได้นานๆ (ประหยัดแรง ทนต่อคลื่น และแสงแดด)

สำหรับท่าของ Drown Proofing (ผมเอารูปมาแปะให้ดูแล้วนะครับ หรือถ้าจะดูวีดีโอคลิป ก็นี่เลยครับ ที่นี่) มีง่ายๆ แค่

1. หายใจเข้าปอดลึกๆ ครับ

2. คว่ำหน้าในน้ำ เอาแขนไว้ข้างหน้า ปล่อยร่างกายตามสบายครับ ตัวจะอยู่ในลักษณะโค้งๆ คว่ำหน้าในน้ำนี่ล่ะครับ (จริงๆ การดิ้นนี่ล่ะครับ ที่จะทำให้จมน้ำได้เร็วขึ้น) ตัวจะลอยอยู่ในน้ำโดยอัตโนมัติครับ โดยที่ไม่จม (ยิ่งดิ้นจะยิ่งจม) การลอยตัวในน้ำในลักษณะนี้มันมีจุดดีตรงที่ ร่างกายเกือบทั้งหมดจะจมอยู่ในน้ำ และการคว่ำหน้าในน้ำ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำจากการถูกแดดเผาน้อยที่สุดครับ และการที่เราปล่อยตัวตามสบาย ไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก ก็ยิ่งเป็นการเซฟพลังงานให้กับร่างกายโดยที่ไม่ต้องใช้แรงโดยไม่จำเป็นอีกด้วยครับ

3. พอเราจะหายใจ ก็ให้ใช้มือทั้งสองข้างแหวกน้ำเบาๆ เตะขาช่วยเล็กน้อย เพื่อดันให้คอเราโผล่พ้นน้ำ เพื่อหายใจครับ จากนั้นก็แค่คว่ำหน้ากลับไปในท่าเดิมครับ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ รอจนกว่าคนจะมาช่วยเหลือครับ (มีรายงานบอกว่าเจ้าท่า Drown Proofing นี่ทำให้เราสามารถลอยตัวอยู่ในทะเลได้นานถึง 3 - 4 วันได้เลยนะครับ เพราะแทบจะไม่ใช้พลังงานเลย)

แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงบ้างว่า ถ้าเราพลัดตกน้ำในบริเวณที่เป็นน้ำเย็น การที่เอาตัวไปจมอยู่ในน้ำทั้งหมดแบบ Drown Proofing แบบนี้ อาจจะทำให้ร่างกายเกิดสภาวะ Hypothermia (เป็นสภาะวที่ร่างกายสูญเสียความร้อน แบบ Jack ในภาพยนตร์เรื่อง Titanic น่ะครับ) แต่ก็มีบางรายงานระบุว่า การตีแข้งตีขาเยอะๆ นี่ล่ะครับ อาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนมากกว่า Drown Proofing ก็ได้ เนื่องจากการตีแข้งตีขา หรือการขยับมากๆ จะเป็นการไล่น้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นกว่าน้ำภายนอกที่เกาะอยู่ตามซอกเสื้อผ้าให้ออกไป และถูกแทนที่กลับมาด้วยน้ำเย็นๆ จากสภาพแวดล้อมด้านนอกครับ

แต่ผมคิดว่าในบริบทของประเทศไทย เราคงไม่ต้องกลัวสภาวะ Hypothermia มากนักหรอกครับ เพราะเราอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร สภาวะอากาศเราค่อนข้างร้อนครับ ไม่มีน้ำเย็นๆ แบบในภาพยนตร์ Titanic หรอกนะครับ (เรากลัวแต่ว่าแดดจะเผา จนร่างกายของเราขาดน้ำมากกว่า) ผมจึงคิดว่า Drown Proofing นี่เป็นเทคนิคในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ที่เหมาะกับประเทศไทยมากๆ ครับ

สุดท้ายครับ ในทรรศนะของผม ผมให้ความสำคัญของ "ทักษะการว่ายน้ำ" ในมิติของ "การเอาตัวรอดจากการจมน้ำ" เป็นลำดับแรกครับ ส่วนการว่ายได้หลายๆ ท่า ว่ายได้เร็วๆ ในลักษณะของ "กีฬา" ผมคิดว่าเป็นการส่งเสริมเด็กกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกสนุก และชอบการว่ายน้ำมากๆ เท่านั้นครับ ถ้าในมุมมองของ "การเอาตัวรอด" ผมคิดว่า เราควรต้องฝึกให้ลูกว่ายน้ำให้เป็นจริงๆ เสียก่อน นะครับ ไม่ใช่พอว่ายได้ก็ให้เลิก ยิ่งเห็นว่าเป็น 2-3 ท่า ก็ให้เลิก ผมคิดว่าเราต้องฝึกให้ลูกเราว่ายน้ำจนกว่าจะว่ายได้อึดพอสมควร ที่สำคัญมีทักษะในการลอยตัวในน้ำได้นานๆ ผมว่า 2 สิ่งนี้ เป็นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และเมื่อว่ายน้ำได้อึดแล้ว ลอยตัวได้แล้ว Drown Proofing ก็น่าจะเป็นทักษะการว่ายน้ำเพิ่มเติมอีกทักษะหนึ่ง ที่เด็กไทยควรจะหัดเพิ่มเติมไว้ครับ เพราะเป็นเทคนิคที่ทำให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้นาน โดยที่ประหยัดแรงมากๆ ครับ (เด็กที่ว่ายน้ำเป็นแล้ว แข็งแล้ว การฝึก drown proofing นี่ใช้เวลาไม่นานก็เป็นครับ พอรู้เทคนิคปั๊บ ฝึกแป๊บเดียวก็เป็น)

อีกเรื่องที่ขอฝากก็คือ การลงไปช่วยคนจมน้ำ บางคนพอเห็นคนจมน้ำ ตามหลักการ ถ้ามีขวดโค้กที่เป็นพลาสติก หรืออุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ ก็ควรจะขว้างลงไปให้เขาเกาะ นี่ก็ช่วยได้แล้วครับ ไม่ต้องเสี่ยงเอาตัวเองลงไปในน้ำเพื่อช่วยคนจมน้ำ บางคนอาจจะติดมาจากการดูละคร มักจะลงไปในน้ำเพื่อไปช่วยคนจมน้ำ ถ้าช่วยไม่เป็นนี่มีโอกาสเสียชีวิตทั้งคู่นะครับ แถมบางรายแทนที่จะค่อยๆ เอาขาหยั่งลงไปในน้ำ ก็ดันกระโดดพุ่งหัวลงไปเสียด้วยสิครับ ซึ่งมันเสี่ยงหัวโขกถูกก้อนหิน หรือตอไม้ใต้น้ำมากๆ ครับ

สุดท้ายขอขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ที่กรุณา Like และช่วยแชร์เพื่อส่งผ่านโพสต์นี้ให้กับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ได้อ่าน อละทำให้วงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระจายในกว้างขึ้นครับ ผมขอขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ครับ

#การศึกษา #สอนลูก
.................................................
ร่วมสนับสนุนบทความดีๆ โดย
- ศูนย์การเรียนรู้ซีเอ็ด (SE-ED Learning Center: www.se-edlearning.com)
- หลักสูตรคณิตศาสตร์ FAN Math "เน้นการสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจในการเรียนคณิตศาสตร์ ผ่านการแก้โจทย์ปัญหาที่สนุกท้าทายตามแนวทางของ PISA และ Singapore Maths" (www.fanmath.com)
- หลักสูตรภาษาอังกฤษ ACTive English "หลักสูตรภาษาอังกฤษที่เน้นการฟัง พูด อ่าน เขียน และการออกเสียง (Phonics) ในมาตรฐานยุโรป CEFR" (www.act-english.com)

Credit ภาพ: http://lifesaving.org.uk/images/swim/drownproofing-sequence.444x329.gif

หมายเลขบันทึก: 576463เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2014 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2014 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีประโยชน์มากเลยค่ะ. 

ปกติ เวลาที่เหนื่อย ชอบ ลอยตัวเล่น ในน้ำ เพิ่งรู้ว่าทำผิด. ควรจะก้มหน้าในน้ำ ดีกว่า

ขอบคุณค่ะ

ตัวผมเคยหมดแรง ในสระว่ายน้ำ และอยู่ในส่วนที่ลึกท่วมหัว

พยายามจะดิ้นรนว่ายไปส่วนที่ตื้นให้ได้ แต่ก็ยิ่งหมดแรง จนตัวเริ่มจมลงๆ 

สติ..ครับที่ช่วยให้พยายามทำตัวให้เบา แลัวค่อยๆยันตัวให้ลอยตัวจนขยับเข้าไปสู่ที่ตื้นได้

เกือบไปเหมือนกันครับ...

ขอบคุณกับบันทึกที่มีประโยชน์มากๆครับ

จริงๆ ค่ะ เห็นด้วยค่ะ  ...  ตอนที่เรียนที่ รพ.ศิริราช .... ผู้เขียน ข้ามไป.....และ .... ข้ามมา ระหว่าง ท่าศิริราข กับ... ท่าพระจันทร์... ท่าช้าง เป็นประจำ ... พอมีลูก .. สิ่งแรกที่คิดไว้ คือ   ต้องให้ลูกเรียนว่ายน้ำก่อนเป็นอันดับแรกๆๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท