จ้างทำการบ้าน: แก้ปัญหาด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบกลับตาลปัตร


วิธีแก้ปัญหาการจ้างทำการบ้าน ทำได้ด้วย การจัดการเรียนการสอนแบบกลับตาลปัตร คือ การเอาส่วนที่เคยเป็น "การบ้าน" มาทำใน "ชั้นเรียน" และเอาส่วนที่เคยเป็นเรื่องใน "ชั้นเรียน" ไปทำเป็น "การบ้าน"

          กลับตาลปัตรในพจนานุกรมแปลว่า ผิดความคาดหมายอย่างตรงกันข้ามแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ในที่นี้ขอใช้ในความหมายที่ต่างไปเล็กน้อย

          การกลับตาลปัตร คือการพลิกตาลปัตรเอาด้านหลังมาไว้ด้านหน้า ด้านหน้าจึงกลายเป็นด้านหลัง การกลับตาลปัตรจึงง่ายมาก

          วิธีแก้ปัญหาการจ้างทำการบ้าน ทำได้ด้วย การจัดการเรียนการสอนแบบกลับตาลปัตร คือ การเอาส่วนที่เคยเป็น "การบ้าน" มาทำใน "ชั้นเรียน" และเอาส่วนที่เคยเป็นเรื่องใน "ชั้นเรียน" ไปทำเป็น "การบ้าน" ที่จริงแล้วข้อเสนอนี้มีเจตนาที่จะแก้ปัญหาเรื่องการให้การบ้านนักเรียนแบบม้วนเดียวจบ การแก้ปัญหาเรื่องการจ้างทำการบ้านเป็นเพียงผลพลอยได้เล็กๆน้อยๆ

          "การบ้าน" ส่วนใหญ่เป็นแบบฝึกหัด เป็นโจทย์ปัญหา หรือเป็นงานอื่นๆที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำ โดยหลักการก็เพื่อให้ได้ฝึกใช้ความรู้ที่เรียนไปแล้วในชั้นเรียน จึงเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญคือ การฝึกการนำความรู้ไปใช้ ซึ่งเป็นความรู้ในระดับสูง

          โปรดสังเกตว่า วัตถุประสงค์การศึกษาในด้านเนื้อหาวิชา แบ่งออกเป็น 6 ระดับคือ 1) จำได้ 2) เข้าใจ 3) นำไปใช้ 4) วิเคราะห์ 5) ประเมิน 6) สร้างสรรค์ 

          ในทางปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนในระดับ 4, 5, 6 ทำรวมกันไปกับระดับ 3 ดังนั้น จึงอาจแบ่งการจัดการเรียนการสอนเป็นแค่สามระดับคือ 1 จำได้ 2 เข้าใจ และ 3 นำความรู้ไปใช้ได้

          ถ้าหยุดคิดสักนิดจะเห็นได้ว่า "เป็นเรื่องแปลก ที่ครูให้การบ้านนักเรียนในเรื่องที่ยาก ส่วนการเรียนการสอนในชั้นเรียนกลับเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า"

          ในทางที่ถูกที่ควร (ถ้าใช้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง เป็นหลักในการคิด) เวลาในชั้นเรียนควรเก็บไว้ใช้กับการเรียนรู้ที่ยาก (ระดับ 3) เพราะต้องอาศัยครูคอยดูแล ให้ความช่วยเหลือ ส่วนการเรียนรู้ที่ง่ายกว่า (ระดับ 1, 2) อาจมอบหมายให้นักเรียนไปเรียนเองนอกชั้นเรียนได้สะดวก

          นั่นคือ ควรเอา "การบ้าน" ที่เป็นแบบฝึกหัด เป็นโจทย์ปัญหา หรือเป็นงานที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำ มาทำใน "ชั้นเรียน" เพราะเป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องลงมือทำจึงจะเกิดการเรียนรู้ (มีคนอื่นทำแทนหรือรับจ้างไปทำ ไม่เกิดการเรียนรู้) และเป็นการเรียนรู้ที่ค่อนข้างยาก อาจต้องอาศัยการชี้แนะจากครู เพราะเป็นความรู้ในระดับสูง ครูต้องคอยดูแลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้จริง ส่วนการเรียนรู้เนื้อหาวิชาในระดับจำได้ เข้าใจ เป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายกว่า ในยุคปัจจุบันซึ่งมีแบบเรียนดีๆให้ใช้กันแพร่หลายแล้ว ครูอาจนำมาใช้มอบหมายเป็น "การบ้าน" ให้นักเรียนอ่านโดยกำหนดเป็นบทหรือเป็นจำนวนหน้า (ใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ว่าครูให้การบ้านมากไปหรือไม่ และนักเรียนไม่สามารถจ้างคนทำการบ้านแทนได้ และยังเป็นการฝึกนิสัยการอ่านอีกด้วย) ในเนื้อหาวิชาที่จะนำมาใช้ในชั้นเรียนวันต่อไป ครูสามารถตรวจสอบว่านักเรียน "ทำการบ้าน" มาหรือไม่ ด้วยการให้นักเรียนทำแบบทดสอบ (ไม่เกิน 10 ข้อ เน้นประเด็นที่ต้องนำไปใช้ ขออภัยที่ทำให้ครูเหนื่อยขึ้นเล็กน้อย) โดยมีการเก็บคะแนนด้วย (ทำให้นักเรียนต้องเข้าเรียนตรงเวลา มิฉะนั้นจะพลาดการทดสอบ) ผลการตอบจะทำให้ครูทราบด้วยว่าเนื้อหาส่วนใดนักเรียนไม่เข้าใจ หลังการเฉลยคำตอบครูสามารถอธิบายส่วนที่นักเรียนไม่เข้าใจ เรื่องที่ครูบรรยายก็จะเป็นเรื่องที่เข้มข้นน่าสนใจกว่าการบรรยายโดยทั่วไป เวลาส่วนใหญ่ในชั้นเรียน ควรใช้กับการทำแบบฝึกหัดหรืองานที่เคยเป็นการบ้าน แต่ปรับให้เหมาะสมกับเวลาในชั้นเรียน และให้สามารถเฉลยคำตอบได้สะดวก (ครูเหนื่อยขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่จะหายเหนื่อยเมื่อผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นกว่าเดิม)

          การจัดการเรียนการสอนแบบกลับตาลปัตรนี้ มิใช่เรื่องที่ผมเพ้อฝันไปเอง แต่เป็นแนวคิดที่มีการใช้กันแพร่หลายพอสมควรแล้วในวงการอุดมศึกษา ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะนำมาใช้ไม่ได้กับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา ของแถมคือ หากมีการใช้กันแพร่หลายพอ คะแนน PISA test ของนักเรียนไทยจะดีขึ้น เพราะแบบทดสอบของเขาเน้นการเรียนรู้ระดับการนำไปใช้ หากสนใจโปรดอ่านเรื่อง การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-based learning- TBL)

          ที่สำคัญกว่า เบื้องหลังของแนวคิดนี้คือ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา

          

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

6 กันยายน 2557

หมายเลขบันทึก: 575721เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2014 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กราบคารวะครูครับ สุดยอดข้อเสนอแนะครับ จาก MD26 ครับ

ดีใจที่อาจารย์กลับมาเขียนอีกครั้งค่ะ รออ่านทุกๆเรื่องจากมุมมองของอาจารย์ค่ะ

  • น่าคิดๆ น่าสนใจมากเลยครับ 
  • นำส่วนที่เคยเป็นการบ้านมาเรียนรู้ในชั้น ที่เคยเรียนรู้ในชั้นนำไปเป็นการบ้าน(สรุปสาระสำคัญ)
  • มีโอกาส จะนำไปทดลองใช้บ้างครับอาจารย์..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท