​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๙. เด็กบ้านนอกกับกาบมะพร้าว


          เชื่อไหมครับ ว่าเด็กบ้านนอกอย่างผมสมัยกว่า ๖๐ ปีก่อน ใช้กาบมะพร้าวเช็ดก้น

          กาบมะพร้าวมีสองส่วน คือส่วนแข็งที่อยู่ด้านนอก กับส่วนเยื่อที่อยู่ด้านใน ส่วนเยื่อก็มีสองส่วน คือส่วนที่เป็นเส้นใย กับส่วนที่เป็นเนื้อยุ่ยๆ ส่วนที่เป็นเส้นใยนี้เอามาฟั่นเป็นเชือกได้ เรียกว่า “เชือกกาบพร้าว” (ออกเสียงสำเนียงใต้) ที่บ้านผมเอามาใช้ผูกกับ “กะถุ้ง” (ออกเสียงสำเนียงใต้) แปลว่าถัง สำหรับตักน้ำจากบ่อ ชาวบ้านแถวบ้านผมมีทักษะในการ “ควั่นเชือกพร้าว” กันเกือบทุกคน เวลานี้อาจเรียกว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

          เมื่อต้องการใช้เชือกกาบพร้าว แม่ของผมก็จะบอกให้คนแถวบ้าน หรือลูกจ้างช่วย “ควั่น” ให้ เขาจะเอากาบมะพร้าวมาทุบ เพื่อแยกเอาส่วนที่เป็นเส้นใยออกมา เส้นใยนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนมาก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งมิลลิเมตร ความยาวเท่าๆ กับขนาดของลูกมะพร้าว คือเป็นเส้นใยขนาดสั้น ยาวเพียงประมาณ ๒๐ เซ็นติเมตร แต่เมื่อเอามา “ควั่น” กันเข้า ก็จะได้เชือกยาวเท่าไรก็ได้ที่มีความแข็งแรง ขนาดใช้ล่ามควายได้ แต่ความแข็งแรงนี้ ขึ้นอยู่กับฝีมือคน “ควั่น” ด้วย

          เชือกกาบมะพร้าวที่ใช้ล่ามถังตักน้ำนี้ไม่ทนนัก น่าจะใช้ได้ไม่ถึงปี เพราะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา ทำให้ “ผุก” ง่าย คำว่า “ผุก” เป็นทั้งภาษาและสำเนียงปักษ์ใต้บ้านผม แปลว่าผุ เชือกกาบมะพร้าวนี้ หากใช้ในสภาพ ที่แห้ง ไม่โดนน้ำ จะทนนานหลายปี

          ไฮไล้ท์ของกาบมะพร้าวกับเด็กบ้านนอก ไม่ใช่เรื่องเชือกกาบมะพร้าว แต่เป็นเรื่องวัสดุสำหรับเช็ดก้น หลังถ่ายอุจจาระ สมัยผมเด็กๆ ทุกคนใช้กาบมะพร้าวเช็ดก้น โดย “ส้วม” คือสุมทุมพุ่มไม้หลังบ้าน เครื่องมือในการไปถ่ายอุจจาระคือ “จอบงอ” กับกาบมะพร้าว

          จอบงอ ใช้ขุดหลุมตื้นๆ สำหรับถ่ายอุจจาระแล้วกลบ กาบมะพร้าวใช้เช็ดก้น แต่เมื่อผมจำความได้ ผมใช้กาบมะพร้าวไม่บ่อยนัก เพราะมันบาดก้น ผมนิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์มากกว่า เอามาขยำๆ ให้มันนุ่ม ก่อนใช้ หนังสือพิมพ์นี้คือ สยามรัฐรายวัน เพราะพ่อของผมบอกรับ และคอลัมน์ที่พ่อชอบอ่าน ที่สุดคือตอบปัญหาประจำวัน อ่านแล้วหัวเราะเอิ๊กอ๊าก ว่าคนตอบ (มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ฉลาดจริงๆ และคราวหนึ่ง พ่อบอกว่ามีคนถามปัญหา แล้วหม่อมคึกฤทธิ์ตอบว่า “ข้อนี้จน” แล้วพ่อก็เอิ๊กอ๊าก ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าคำถามอะไร

          ช่วงดังกล่าว น่าจะอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๔๙๘ ผมอายุสิบขวบกว่าๆ ไม่เคยนึกเลยว่าชีวิต จะผกผันมาเป็นชาวกรุง ได้เป็นถึง “ศาสตราจารย์” เช็ดก้นด้วยกระดาษทิชชูอันอ่อนละมุน

วิจารณ์ พานิช

๒ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 575697เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2014 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2014 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมก็ใช้ เพียงเป็น ชำนาญพิเศษ

เกิดไม่ทัน..อิอิ..สมัยยายธี..ใช้น้ำอ้ะะ(ค่อยยังชั่ว)..ตอนไปกระแดะปลูกป่า.เห็นคนงานถือจอบหายไป..ถึง(ได้ทราบว่า..คนเหมือนแมว..(กลบเป็น..)...แต่คงเป็นแต่..ชาวบ้าน..นักการเมือง..กลบไม่เป็น..เหม็นทั้งเมือง..เฮ้อ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท