​เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๙. CE กับ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง


           ในการประชุมวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Geoff Scott เสนอเรื่อง Turnaround leadership for sustainability in higher education น่าสนใจมาก เจฟ สก็อตต์ เหมาะมาก ที่จะทำงานวิชาการเรื่องนี้ เพราะท่านเป็นคนมองเรื่องต่างๆ ด้วยมุมมองนอกกรอบอยู่ตลอดเวลา

           ท่านเสนอว่า อุดมศึกษาต้องไม่ใช่แค่ผลิตบัณฑิตเพื่อโลกหรือสังคมในปัจจุบันเท่านั้น ต้องผลิต เพื่อโลกและสังคมในอนาคตด้วย เพราะโลกและสังคมในอนาคต จะไม่เหมือนโลกและสังคม อย่างที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน

           การศึกษาต้องไม่มุ่งความสัมพันธ์กับปัจจุบันเพียงถ่ายเดียว ต้องคำนึงถึงอนาคตด้วย เพราะ การศึกษาต้องสร้างคนไปอยู่ในโลก/สังคม ในอนาคต การศึกษาจึงต้องไม่เพียงแค่ถ่ายทอด (disseminate) ความรู้ ต้อง “สร้างสัมพันธ์” (engage) หลายฝ่าย สำหรับเป็นกลไกสร้างสรรค์ปัญญา จากการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน

           การศึกษาตามแนวทาง “สร้างสัมพันธ์หลายฝ่าย” เช่นนี้แหละ ที่จะสร้างกรอบการทำงานเพื่อความยั่งยืน ในอนาคต (Sustainability Framework) เป็นการจัดการศึกษาตามแนวทางแห่งคุณค่า (values term) ไม่ใช่แนวทางสูตรสำเร็จ (acceptance terms) ตามแนวทางนี้ ต้องตั้งคำถามว่า สร้างสัมพันธ์ (engage) เพื่ออะไร เพื่อใคร ด้วยอะไร

            ท่านสรุปประเด็นสำคัญจากผลงานวิจัย International Study of Turnaround Leadership for Sustainability in Higher Education ให้ที่ประชุมฟัง โครงการวิจัยนี้ศึกษาความเห็นของผู้นำอุดมศึกษาระดับ รองอธิการบดีถึงผู้จัดการหลักสูตร ๑๘๘ คน จากทุกทวีปของโลก ยกเว้นเอเซีย แล้วนำผลมาให้นักการ อุดมศึกษาจากทั่งโลก ๓๐๐ คนตรวจสอบ

           กรอบความคิดของ sustainability in Higher Education มี ๕ ส่วนที่ซ้อนเหลื่อมกัน ตามในรูปที่ ๑ โดยที่หัวใจของความยั่งยืนอยู่ที่คุณภาพ ดังกรอบคุณภาพในรูปที่ ๒ โดยที่สมาชิกในสถาบันต้องเข้าใจ ความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง (รูปที่ ๓) ตรงกัน และต้องเห็นพ้องกันว่าบัณฑิตแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีคุณสมบัติ/สมรรถนะ พร้อมทำงาน และคุณสมบัติอื่นๆ ดังรูปที่ ๔ โดยผมขอย้ำข้อที่ ๔ ในรูป ว่าสำคัญยิ่ง คือต้องเป็นบัณฑิตที่รู้เท่าทันมายาแห่งโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ที่เป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยกิเลสตัณหา

          ลักษณะของการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิผล อยู่ในรูปที่ ๕ และลักษณะของมหาวิทยาลัยที่มี engagement อยู่ในรูปที่ ๖ ลักษณะของผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ในรูปที่ ๗ ขีดความสามารถและสมรรถนะของภาวะผู้นำ อยู่ในรูปที่ ๘ หลักการสำคัญในการดำเนินการสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ในรูปที่ ๙ หลักการสร้างการ เปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยอยู่ในรูปที่ ๑๐ ตัวอย่างวิธีการ ที่สร้างความสำเร็จแสดงในรูปที่ ๑๑ และสรุปเรื่องภาวะผู้นำกลับทาง หรือผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง อยู่ในรูปที่ ๑๒ รูปที่ ๑๓ คือท่านผู้บรรยาย

          ผมขอสรุปจากการตีความของผมเองโดยใช้รูปที่ ๑๒ ซึ่งเป็นสไลด์สุดท้ายของการบรรยายของ Prof. Geoff Scott

          ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องไม่ใช่แค่มีไอเดียเท่านั้น ต้องมีวิธีการดำเนินการด้วย และการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง ต้องมีพลังของภาวะผู้นำเป็นตัวขับเคลื่อน และมีการดำเนินการนำอย่างเอาจริงเอาจัง โดยต้องทำความเข้าใจบริบทหรือสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา หลักการใช้ภาวะผู้นำให้ใช้ 4L ตามลำดับ คือ Listen, Link, Leverage, Lead ตามด้วย Model, Teach, Learn โดยต้องไม่ลืมว่า เราขึ้นสู่ที่สูงได้โดยบันไดเวียน คือค่อยๆ ไต่ระดับ และอย่าหลงว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากตรรกะ หรือความเป็นเหตุเป็นผลเสมอไป


๑. กรอบความคิด


๒. กรอบคุณภาพ


๓. เข้าใจนิยามคำตรงกัน


๔. บัณฑิตแห่งศตวรรษที่ ๒๑


๕. การเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิผล


๖. มหาวิทยาลัยที่มี engagement


๗. ลักษณะของผู้นำการเปลี่ยนแปลง


๘. ภาวะผู้นำ


๙. หลักการในการสร้างการเปลี่ยนแปลง


๑๐. หลักการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย


๑๑. ตัวอย่างวิธีการที่สร้างความสำเร็จ


๑๒. สรุป

๑๓. Prof. Geoff Scott

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 575655เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2014 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2014 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท