"ตนเป็น ทาสและนายตน?"


                                                                                            

                      มีพุทธสุภาษิตหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยดีครับคือ "อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ" แปลว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่ผมอยากแปลใหม่ว่า "ตนคือ นายตน" ความหมายและนัยของประโยคนี้ มีคุณค่าและรหัสความสว่างแจ้งในตัวเอง และเป็นรากฐานการเป็นตัวตนคำว่า มนุษย์ อย่างแท้จริง อยู่ที่ว่าเราจะเข้าถึงแก่นหรือหัวใจแห่งใจตนมากน้อยแค่ไหน

                   อันที่จริง มนุษย์มีรากฐานที่มั่นคงในตัวเองมาก่อน และรากฐานนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกันฐานอื่นๆ อีกเช่น ฐานจากคน (อื่น) ฐานสัตว์ ฐานธรรม ฐานสิ่งแวดล้อม และฐานวิชชา ทั้งหมดนี้ เป็นฐานที่ห่อหุ้มและสนับสนุนให้อัตฐานให้เด่นและสมบูรณ์ขึ้น แต่ปัญหาคือ ทำอย่างไรจะทำให้มนุษย์รู้ และเข้าใจฐานตนเองให้กระจ่างและเกี่ยวโยงไปถึงฐานอื่นได้ นี่คือ "ฐานแห่งต้นทุนชีวิต"

                   เมื่อสังเกตผู้คนสมัยใหม่ กลับเหมือนกำลังเสียต้นทุนและเสียดุลตัวเองไปเรื่อยๆ จนฐานทุนในตัวเองจะมอดไหม้หมดแล้ว จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า เรา (ยุคใหม่) กำลังเอาใจออกจากใจตนเองหรือไม่ เรากำลังหันหลังให้ตนเองหรือไม่ เรากำลังทำบ้านตนสกปรกหรือขาดความเป็นระเบียบหรือไม่??? แล้วหันไปพึ่งพาสิ่งอื่น แล้วออกห่างจากตัวตนไปเรื่อยๆ 

                   คำว่า "ตน" เคยเขียนมาแล้วหลายครั้งทั้งในแง่ปรัชญาและศาสนา จึงไม่ขอแจงอีก แต่จะให้มุมมองอีกมุมที่เราอาจมองข้าม นั่นคือ ตนคือนายตน และตนคือทาสตน อย่างแรก หมายถึง เรามีสิทธิ มีอิสระ มีศักยะที่ใช้บังคับตน ให้กระทำอย่างไรหรือกำหนดทิศทางใด เหมือนกำลังควบคุมตัวเอง นั่นคือ ร่างกาย มือ เท้า ปาก ความคิด กระทำหรือทำอะไรได้อย่างอิสระบนกรอบที่ถูกต้องตามกติกาสังคม

                    อย่างหลังหมายถึง การที่เรารู้ไม่ทันตัวเอง ไม่รู้จิตใจ ความคิด ความอยาก ที่ใช้อาศัยร่างกายเป็นเพียงสื่อกลางตอบสนองใจ ที่ถูกกิเลส ตัณหา ความปรารถนาผลักดัน กระตุ้นให้เราหลงใหลไปตามกระแสสังคม และความฝันของตนเอง ซึ่งเหมือนเป็นทาสของมันและร่างกายก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้มันอย่างไม่รู้ตัว

                    ที่จริงเรื่องดังกล่าวเป็นเส้นทางโลกียวิสัยตามปกติของสิ่งมีชีวิต แต่เราเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลก ที่รู้และสามารถตีกรอบหรือทวนกระแสตัวเองได้ ไม่เหมือนสัตว์ ที่ตอบสนองตนเองอย่างอิสระ ไม่คิดสวนกระแสมัน ยิ่งมนุษย์สวนกระแสใจ (ที่ถุกครอบงำ) มากเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งสลัดออกจากความเป็นสัตว์ได้อย่างสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งมนุษย์ควรเป็นไปตามทางที่เรียกว่า "มนุษยภาวะ" (Human being)

                     ความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้ คือ การเข้าถึงและใช้ตัวเองให้เป็น หรือเรียกว่า "เป็นที่พึ่งของตนเองได้" ในระยะแรก มนุษย์เกิดมาต้องอาศัยคนอื่นคือ แม่พ่อ เลี้ยงเรา ให้เติบโต การดำรงชีวิตนี้ ไม่ได้อยู่นิ่งและไม่ได้อาศัยเฉพาะแม่พ่ออย่างเดียว เมื่อเราเติบโต พ่อแม่กลับชราลง หากเราจะอาศัยท่านก็จะกลายเป็นคนโตไม่เป็น ดังนั้น เราจึงต้องหันมาพึ่งพาร่างกายของตนเอง เพื่อดำรงชีวิตต่อไป

                    ทีนี้หากเราไม่เรียนรู้ ไม่ฝึกฝนตนเอง ไม่ศึกษาหาความรู้ต่างๆ จากฐานอื่นๆ เราก็จะเป็นคนไม่ทนไม่สู้ชีวิต ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ ความมั่นคงในชีวิตก็จะขาดหายไป เป้าหมายของคนยุคใหม่เหมือนกำลังดำเนินไปเช่นนี้ แต่เมื่อมองให้ลึกกลับเป็นคนอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับโลกยุคใหม่ที่ท้าทายได้ คือ ไม่อด ไม่ทน ไม่มั่น ไม่คง ไม่ติดดิน ไม่ติดตัว

                  

                      เราจะพึ่งพาตนเองได้อย่างไร ขอยกเอาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงที่สอนชาวไทยให้รู้จักการพึ่งพาตัวเองเป็นอย่างอิสระและยั่งยืน จนชาวบ้านได้ทดลอง ทดสอบ นำเอาหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ จนกลายเป็นปราชญ์ชาวบ้านและจนมีการต่อยอด จนแตกแขนงการคิด การทำมากมายหลายอาชีพ จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีเงิน มีฐานดีขึ้น จนหลุดพ้นจากหนี้สิน และความยากจนได้

                      จุดริเริ่มจริงๆมาจากคำกล่าวที่ว่า การจะพัฒนาใดๆต้องพัฒนาที่ตนเอง คำว่า ตัวเองคือ การคิด การคิดใหม่ การระเบิดความคิด การเปลี่ยนแปลงข้างในคือ จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงตนเอง จากนั้น จงคิดสวนกระแสหรือหาสาเหตุที่จน ลำบาก การใช้ชีวิตที่ลำบาก มาเป็นจุดเปลี่ยน แล้วนำไปโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แล้วเริ่มที่ "ที่ดิน" ไปสู่น้ำ ไปสู่พืช ไปสู่สัตว์ และไปสู่ธรรมชาติ นั่นคือ สิ่งโอบอุ้มชีวิตให้อยู่ได้

                      แนวคิดนี้ มาจากฐานที่พระพุทธศาสนาสอนให้เราเข้าถึงธรรมชาติ ตนเอง และศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และฐานนี้เองที่ในหลวงนำมาเป็นหลักในการนำเสนอให้คนไทยพึ่งพาตนเอง มิใช่ฝันใฝ่ที่จะเป็นเสือตัวที่สามของเอเชีย แต่กลับกลายเป็นเสือหิวซะงั้น ดังนั้น ในหลวงจึงสอนให้เสือตัวนี้ รู้จักหันมาสนใจรากฐาน แผ่นดิน สินทรัพย์ ที่อยู่รอบตัว แล้วพัฒนาให้เป็นทุน เป็นมูลค่า หาอาหารให้ตนเองมีอยู่ มีกิน มีเงินใช้ตามมา

                    ฉะนั้น จึงควรใส่ใจเรื่อง "ทรัพย์ในตัว ทรัพย์ในสิน" ของตนเองก่อน เพื่อสร้างรากฐานให้ตนเองเข้าใจตนเอง ว่าต้องการอะไรที่อยู่ในโลกความเป็นจริง โดยมีอวัยวะในร่างกายมีครบ เป็นฐานสร้างทุนในตัว จึงจะได้ชื่อว่า "เราพึ่งตน" มิใช่เป็นทาสตน ซึ่งพอประมวลได้ดังนี้คือ-

                 ๑) "ลมหายใจ" (Breath) ลมหายใจคือ สัญลักษณ์ของชีวิต ถ้าชีวิตยังหายใจ นั่นคือ เครื่องแห่งการอยู่รอด อยู่คง เราถือว่า การหายใจเป็นของตาย จนเรารู้สึกว่า ลมที่หายใจเข้า-ออก เป็นของตายที่เราไม่เคยใส่ใจ เว้นเสียแต่ว่า เรากำลังจะหมดลมหายใจหรือสิ้นใจ จึงหันมาใส่ใจ ใส่ลมที่หายใจ ใส่ปอดใหม่ว่า เราหายใจเป็นหรือเราหายใจทิ้งอย่างไร หลายคนไม่เคยสังเกตลมหายใจ จึงคิดว่า เมื่อหายใจเข้า ท้องจะพอง หายใจออกท้องจะแฟบ ประโยคนี้ ผิดครับ มันตรงกันข้าม แท้จริงคือ "หายใจเข้าทองแฟบ หายใจออกท้องพอง"

                   นี่คือ ตัวตนและตัวสนับสนุนให้เรารู้สึกว่า เป็นเราอยู่ ถ้าหมดลมเราคงไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจคำว่า "ลม" ที่เราได้มาจากธรรมชาติรอบตัว จนมันกลายมาเป็นลมแห่งชีวิต แต่เรารู้สึกถึงลมจุดนี้บ่อยแค่ไหนในแต่ละวัน


                    ๒) "อวัยวะร่างกาย" (Parts of Body) คือ ส่วนสำคัญในการสร้างกลไกให้ร่างกายทำงานประสานกันอย่างเป็นเอกภาพ ในความเป็นเอกภาพนี้ เกิดมาจากความแตกต่างในความเป็นเอกภาพ เพราะอวัยวะต่างๆ ล้วนมีหน้าที่เฉพาะของตน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน แต่มันทำงานเป็นเอกภาพกันอย่างน่าทึ่ง เช่น สมอง หัวใจ หู ตา จมูก ลิ้น ลำตัว แขน ขา มือ เท้า ฯ ล้วนแต่ทำหน้าที่ของตนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนกระทั่งหมดลม

                      อวัยวะเหล่านี้ ไม่เคยขอลาหยุด มีแต่สนับสนุนตามคำสั่งของใจ ตามสัญชาตญาณของชีวิต จนบางทีมันทำงานจนเสื่อมประสิทธิภาพไป หรือถูกความชอบ ไม่ชอบ ตามนิสัย ความเคยชิน ที่เราต้องการ ฯ ทำอยู่ประจำบ่อยๆ จนทำให้ร่างกายตอบสนองได้ เช่น คนเสพยาเสพติดบ่อยๆ คนกินเหล้า คนมักเที่ยว คนขี้เกียจ ฯ เมื่อฝึกบ่อยๆ ร่างกายก็ตอบสนอง จนเสียฐานตัวเองไป  ดังนั้น เราเป็นนาย หรือกายเป็นบ่าวกันแน่ 


                      ๓) "จิตใจ" (Mind) เป็นส่วนที่ถือว่าเป็นแก่นของชีวิต ทำหน้าที่ประมวลพฤติกรรม แยกแยะ วิเคราะห์ เสวยผลและกระตุ้นให้เกิดผล กล่าวคือ จิตใจ เป็นได้สองอย่างคือ เป็นทาสและเป็นบ่าว ถ้าปัญญาน้อย ใจก็ตกเป็นทาสอำนาจฝ่ายต่ำ ถ้ามีคุณธรรมมาก จิตก็อยู่เหนือมัน การพึ่งใจ จึงอยู่ที่ การใช้ปัญญา ธรรมะ เพื่อประคับประคองให้ใจมีพลังที่จะตัดสินแยกแยะพลมูลให้ออกและเป็นอิสระได้

                        แต่ถ้าเรามีใจ ที่ไม่ได้รับการฝึกฝน อบรม ให้รู้เท่าทันแรงกระตุ้น หรือใจคิดฟุ้งซ่านไปตามกระแสสังคม ใจก็จะหมดพลังต่อต้าน ควบคุมตัวเองได้ กลายเป็นปลาตายที่ไหลไปตามกระแสสังคม ไม่สามารถทวนน้ำได้ "ปลาเป็น" สามารถลอยและทวนตามกระแสได้ ดังนั้น ปลาจึงต้องรู้น้ำ รู้กำลังตน รู้ครีบ รู้หาง และรู้ว่าจะไปทางไหน


                       ๔) "การดูแล รักษา ป้องกันตน" (Protection) คือ การรู้จักใช้วิธีการป้องกัน รักษา ดูแล ปกป้องตัวเอง ให้รอดพ้นจากอันตรายได้ ร่างกายกำเนิดมาพร้อมด้วยแขน ขา มือ เท้า สมอง เพื่อให้เป็นเครื่องช่วยในการป้องกันตนเอง ดูแลตนเอง ตอบสนองตัวเอง นี่คือ ภาระ หน้าที่ของตัวเอง ที่เราต้องทำ นอกจากนี้ เมื่อไหร่ร่างกายปวดท้องหนัก เบา เราก็จำเป็นต้องสนองมันให้เป็น ต้องรู้จักการบำบัดให้สำเร็จ

                        การหวังให้คนอื่นช่วยนั้น แต่แรก เราได้ทำมาแล้ว เมื่อเราพึ่งพาตนเองได้ ก็พึงฝึกตัวเองให้ชำนาญ เมื่อแก่ชราเราจึงต้องอาศัยคนอื่นช่วยอีกที การที่เราต้องพึ่งพาตัวเอง ก็เพื่อแบ่งเบาภาระของคนอื่นลง มิใช่อาศัยคนอื่นตลอด จนไม่เติบโตไม่เป็น สร้างอาณาจักรตนเองไม่ได้ กลายเป็นภาระของสังคมต่อไป แล้วใครจะเลี้ยงดูละ ดังนั้น หน้าที่หลักของตนคือ ช่วยนำพาตัวเองให้พ้นวิกฤติด้วยอวัยวะของเราเองจะดีที่สุด


                       ๕) "การรักษาโรคของตนเอง" (Disease) ผู้คนยุคใหม่นี้ อ่อนแอง่าย มีภูมิคุ้มกันบกพร่องไปหมด และรู้สึกว่า ทำอะไร เจออะไร ก็ยวบยาบ ย่อแย่ไปง่ายมาก และนิสัยเป็นคนเมืองบ่อยๆ คือ พอเป็นอะไร คนเมืองก็มักจะวิ่งไปหาหมอ ไปพบแพทย์แล้ว เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของร่างกาย เราก็ขาดความอดทน และขาดภูมิคุ้นกัน และไม่สามารถบำบัดตัวเองได้

                         สำหรับคนป่า คนชนบทที่ไกลหมอ ไกลแพทย์ จะทำอย่างไร หรือถ้าเราเดินทางไปที่กันดารหรือห่างไกลความเจริญ ไกลหมอ ไกลแพทย์ เราจะทำอย่างไร นี่คือ วิชาที่เราควรใส่ใจและหันมาสนใจ การพึ่งพาตัวเอง ด้วยการรู้ตัว การศึกษาตัว การวางแผน การเข้าใจตัว และใจของตนว่า สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร และสิ่งแวดล้อม สมุนไพร ธรรมชาติมีคุณต่อร่างกายและเป็นยารักษาเราอย่างไร

                       นี่คือ วิธีการที่คนเมืองไม่รู้ และขาดภูมินี้ไป จนห่างไกลจากรากเหง้าธรรมชาติไปเรื่อยๆ ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่จะช่วยเราได้คือ การรู้จักพัฒนาและฝึกฝน เรียนรู้การใช้ธรรมชาติบำบัดตัวเองให้เป็น ฐานที่สำคัญคือ ฐานในตัวเอง เพราะตัวเองคือ หมอและแพทย์ในเบื้องต้น ก่อนที่จะวิ่งไปหาหมอ แพทย์ เมื่อเรารักษาตัวเองไม่ได้จึงพึ่งพาหมอ แพทย์ รักษาตนเองก่อนให้หมอรักษาหรือช่วยหมอรักษาด้วย


                      ๖) "ใช้ปัญญา" (Wit) คือ การใช้สติ ปัญญา ที่มีอยู่ในตัวเอง ที่สะสมมา เพื่อให้เกิดผลที่สุด เมื่อเราใช้ปัญญาตัวเอง เพื่อตัวเอง นั่นคือ สิ่งที่เรากำลังพึ่งพาตัวเองในเบื้องต้น จากนั้น ประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญย่อมเกิดขึ้นได้ กระนั้น ปัญญา ของเราหากไม่ได้รับการวัด การนำไปใช้จริงๆ อาจจะเข้าข้างตัวเองได้ คือ อาจมั่นใจในทฤษฎีจนไม่ยอมฟังใครก็ได้ 

                        ปัญญามีทั้งแง่ลบและแง่ดี ถ้าหากไม่รู้จักควบคุมจิตหรือคุณธรรมในใจตนเอง เพราะคนมีปัญญา อาจใช้ปัญญาในทางที่ผิดได้ การใช้ปัญญา จึงต้องถูกนำไปคัด ไปเกลา ไปใช้ ไปประเมินตัวเอง จิตใจ ความั่นคงในตัวเองก่อนจึงจะเห็นผลที่แท้จริงได้ ถ้าเราทำได้เช่นนี้ เราจะพบคำว่า ปัญญาและตัวตน ที่ต้องใช้การชั่ง การวัด การย่อยปัญญา ตัวตน ให้ตกผลึกก่อน ดังนั้น การใช้ปัญญาในตัวเองเป็นจึงกลายเป็น "ปัญญัตตา" คือ การรู้บนฐานแห่งการใช้ การย่อยอัตตาและปัญญา ความรู้ตัวเองก่อนครับ


                       ๗) "กรรม" (Deed) คือ การกระทำจะต้องอาศัยอวัยวะของร่างกายเป็นเครื่องมือเช่น เท้า มือ ลำตัว สมอง เป็นเครื่องสร้างกรรม เพื่อให้เกิดผลต่างๆ ผลลัพธ์ อาจปรากฏเป็น ๓ อย่างคือ ผลดี ผลไม่ดี และผลกลางๆ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น ๒ มิติ คือ ทางกายภาพ คือ เท้า มือ ลำตัว และชีวิต อาจมีผลดังนี้ กรรมใดๆ อาจมีผลดีต่อร่างกาย ผลร้ายมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ขาขาด มือด้วน พิการ ติดคุก และเสียชีวิต

                         ส่วนจิตภาพ อาจเกิดมาจากการคิดผิด จิตพิการ ขาดปัญญา จิตบกพร่อง จิตตก จิตเสีย จิตขาดคุณภาพ จิตเสื่อม ฯ การกระทำของกายและใจ ย่อมมีผลทั้งชาตินี้และชาติหน้า ดังนั้น การกระทำใดๆ มิใช่มีผลเฉพาะหน้าอย่างเดียวเท่านั้น ยังส่งผลถึงปัจจุบัน อนาคต และอนาคตชาติหน้าด้วย และกรรมนี้เอง มีจุดกำเนิดมาจากที่เรียกว่า "ขณะนี้ เดี๋ยวนี้" (Here and Now) และทั้งหมดเกิดมาจาก "ตนเอง"


                        ๘) "สมบัติของตน" (Treasure)  ชีวิตเกิดมามีสมบัติที่แท้จริงคือ ร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสรรพสิ่งตามมา นอกจากนั้น ยังมีสมบัติภายในและภายนอกอีกคือ สติ ปัญญา คุณธรรม และภายนอกคือทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมาจากผลงาน ผลเงิน ที่เราอยากได้ มาเป็นเครื่องผูกมัดตัวเอง จนกลายเป็นสมบัติของเรา จนกลายเป็นสมบัติที่มีเจ้าของ

                        เจ้าของและสมบัติ คือ สิ่งคู่กัน และมันกลายเป็นคุณลักษณะของกันและกัน ร่างกายคือ สมบัติพื้นฐานขีวิต ส่วนสมบัตินอกคือ พื้นฐานของการดำเนินชีวิต แต่พอนานเข้าเรากลับทึกทักเอาตามสิทธิที่เราใช้แรงกายสั่งสมมา ยิ่งกว่านั้น ร่างกายเรา เราถือว่าเป็นของเรา เป็นสิทธิของเราที่จะใช้มันหรือฆ่ามัน ทำร้ายมัน ที่สุดเราก็ไม่สามารถครองสมบัตินี้ได้อย่างยั่งยืนใดๆ ฉะนั้น เราคือ สมบัติโลก หรือโลกเป็นสมบัติเรากันแน่ หรือเราเป็นทาสของสมบัติตน หรือตนเป็นนายสมบัติกันแน่เนอะ


                        ๙) "มรดกของตน" (Heredity) อันนี้หมายถึงมรดกทางพันธุกรรมที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ที่เรียกว่า กรรมพันธุ์ เช่น เชื้อชาติ สายพันธุ์ โรคภัยจากพ่อแม่ หรือพฤติกรรมของพ่อแม่ อาจสืบทอดทางพฤติกรรมได้ เช่น  นิสัยใจคอ อุปนิสัย สมบัติสายพันธุ์นี้อาจสืบมาจากพ่อแม่ของตน ซึ่งมาประสมประสานกับพฤติกรรมหรือกรรมของตน แล้วกลายเป็นเอกลักษณ์ของตนไป 

                        เมื่อมรดกสายพันธุ์นี้ ฝังอยู่ในเลือดเนื้อของลูก ลูกก็จะกลายเป็นพาหะนำ หรือเป็นสื่อกลางที่จะถ่ายทอดไปสู่อีกรุ่นต่อไป นี่คือ มรดกสายพันธุ์ของชาติสัตว์ เราจึงเห็นพฤติกรรมสัตว์ ที่สืบทอดพฤติกรรมแบบสัญชาตญาณการต่อสู้ การเลี้ยงลูก สร้างรัง สร้างรัก ไปตลอดไม่ขาดสาย แล้วมันก็กลายเป็นของเรา ที่เราเรียกว่า "(ผล)กรรมของตน" ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่มอบให้มา


                       ๑๐) "คุณลักษณ์ของตนเอง" (Attribute) ชีวิตทุกชีวิตมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเหมือนกันทุกชาติ ทุกเชื้อ ทุกชนิดนั่นคือ เกิด เติบโต เจ็บป่วย รู้สึก แก่ชรา และตายในที่สุด คุณลักษณะเหล่านี้ เป็นของตนเองทุกคน ไม่มีใครไม่มี เราจะชอบหรือไม่ชอบเราก็มีสมบัตินี้เหมือนกัน การที่เรามีคุณลักษณ์เช่นนี้ เป็นจุดสร้างสรรค์และทำลายให้เราต้องรู้จักตนเอง รู้จักเส้นทาง โชคชะตา จุดดับ จุดจบ ของตัวเองให้ถ่องแท้ เพราะนี่คือ ตัวตนที่คนเป็นครับ

                          เมื่อรู้และเข้าใจคำว่า ตัวตนคนเรา ก็เท่านี้ เราก็จะได้วางแผน วางโครงกรรม ทั้งวันนี้ และอนาคตได้ กระนั้น คำสอนทางศาสนาที่บอกว่า ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน เสี่ยงอยู่เสมอ สามารถดับได้ จบได้ทันที ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง ไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีอะไรคาดเดาหรือกำหนดได้ มีทางเดียวที่พอจะเชื่อมโยงความจริงจุดนี้ได้คือ ตัวเองหรือตัวตน เพราะเราคือ ศูนย์กลางที่รับรู้โลก สังคม และสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา 

                         หากไร้เรา (ตนเอง) โลกที่สวยงาม ขี้เหร่ สังคมที่ดี วุ่นวาย สิ่งแวดล้อมที่สวย อันตราย มันขึ้นอยู่กับเราเป็นครื่องวัด เป็นเครื่องประเมินทั้งสิ้น "การพึ่งตัวเอง" จึงเป็นจุดที่เริ่มต้นในการสร้างสรรค์ตนเอง และสิ่งรอบข้างได้ ฉะนั้น อย่ารอช้าในการสร้างกรรมดี ที่สร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม โปรดใช้หลัก "ททท" คือ "ทำทันที" วันนี้ด้วยตัวเอง อย่าผลัดวันประกันชีวิตอยู่เลยครับ


                     ชีวิต คือ จุดเริ่มต้นในอนาคตชาติครับ มันเป็นแรงเฉื่อยจากพลวัตหรือกัมมันตะของตัวเอง ที่จะสร้างทางหรือกรุยทางไปทิศใด ขึ้นอยู่กับวันนี้และเดี๋ยวนี้เป็นจุดเริ่มต้น ทางที่แสนไกล อยู่ที่ต้นทุนแห่งชีวิตวันนี้  การเป็นนายตน แล้วบังคับตนด้วยปัญญา เพื่อที่จะเดินทางไปอย่างมั่นคงอยู่ที่พึ่งสมองมองให้เป็น "อย่าคิดมาก จงทำมาก เพื่อให้เกิดผลมาก เพื่อเอาน้อยๆ"

------------------------------(๓/๙/๕๗)------------------------------

หมายเลขบันทึก: 575612เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2014 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2014 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันนี้มาถึงตรงนี้ กำลังจะหลับแล้วค่ะ 

จะกลับมาอ่านใหม่เมื่อพร้อมจะอ่านค่ะ

ขอบคณมากค่ะ

"อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ"  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ตนคือนายตน ........ หมายถึง เรามีสิทธิ มีอิสระ มีศักยะที่ใช้บังคับตน ให้กระทำอย่างไรหรือกำหนดทิศทางใด เหมือนกำลังควบคุมตัวเอง นั่นคือ ร่างกาย มือ เท้า ปาก ความคิด กระทำหรือทำอะไรได้อย่างอิสระบนกรอบที่ถูกต้องตามกติกาสังคม

ขอบคุณค่ะสำหรับการแปลความตีความสุภาษิตนี้  ...จำได้ว่าเคยท่องจำมาตั้งแต่เด็กค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท