​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๗. World Class Researcher ไทย ทำประโยชน์แก่โลก


          บ่ายวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผมไปรับใช้เพื่อน คือ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง ในงาน “การประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” ครั้งที่ ๓ โดยทำหน้าที่ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย เรื่อง “World Class Research ของไทย กับการทำประโยชน์แก่สังคมโลก” โดยมีวิทยากรร่วมอภิปราย ๔ ท่านคือ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร อดีตเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และผู้ก่อตั้ง IHPP, ศ. ดร. สุทธวัฒน์ เบญจกุล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ๒๕๕๔ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว., รศ. ดร. เจริญ นาคะสรรค์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ๒๕๕๓ และรางวัลวิจัยมูลนิธิโทเร ๒๕๕๓, และ นพ. ยศ. ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการ HITAP และเมธีวิจัยอาวุโส สกว.

          ผมได้เรียนรู้ว่านักวิจัยชั้นยอดของประเทศ (และของโลก) ๔ ท่านนี้ สร้างตัวเป็นนักวิจัยชั้นยอด มาอย่างไร โดยขอตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง ๔ ท่านไม่มีใครที่เห็นแก่ตัวจัด หรือหลงตัวจัด ไม่มีคนไหนเลย ที่เห็นแก่เงิน เป็นคนที่ทำงานวิจัย เพราะรักงานนี้ สนุกกับงานนี้

          ทุกคนเลือกประเด็นวิจัย และตั้งคำถามวิจัยเก่ง โดยทุกคนคิดมาจากฝ่ายผู้ใช้ผลงานวิจัย คือตั้งโจทย์มาจากฝ่ายผู้ใช้ บางคน (คือ ศ. ดร. สุทธวัฒน์) อุตสาหกรรมอาหารมาถามโจทย์โดยตรง

          ทุกคนมีเครือข่ายร่วมงานทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยบางคนค่อยๆ สร้างตัวขึ้น จากการตีพิมพ์ผลงานวิจัยจากโจทย์ภายในประเทศ เมื่อเริ่มมีผลงานก็เริ่มติดต่อนักวิจัยในเรื่องนั้น ที่ถือเป็น world authority หาทางร่วมมือ แล้วความร่วมมือก็แน่นแฟ้นและขยายตัวขึ้น พร้อมๆ กับที่ผลงานวิจัยของ นักวิจัยไทยก็ลงพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor สูงขึ้น และมีผลงานไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ชัดเจนขึ้น

        บางคนไปเรียนปริญญาเอกกับคนมีชื่อเสียงในต่างประเทศ แล้วร่วมมือกันทำงานขยายขอบเขต และความลุ่มลึกของงานวิจัย ก่อ impact แก่โลก และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งร่วมกันสร้างศาสตร์ เพื่อใช้งานวิจัยสร้างคุณประโยชน์แก่โลกเพิ่มขึ้น

          ทั้ง ๔ ท่าน มี นศ. ป. เอก และโท เป็นกำลังสำคัญ และสร้างศักยภาพของงานวิจัยด้านนั้นๆ ผ่านการสร้างคน คือบัณฑิต ป. เอก โท และ postdoc คุณหมอวิโรจน์ ผู้อาวุโสที่สุดใน ๔ ท่าน ถึงกับกล่าวว่า เป้าหมายอันดับหนึ่งคือสร้างคน ถือว่าการสร้างนักวิจัยเป็น end ส่วนงานวิจัย/ผลงานวิจัย เป็น means

          ทั้ง ๔ ท่าน มีฝ่ายผู้ใช้ผลงานวิจัยเป็นภาคีหลัก โดยที่ “ผู้ใช้” แตกต่างกัน สองท่าน (ดร. เจริญ และ ดร. สุทธวัฒน์) มีภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้ ส่วน นพ. วิโรจน์ และ นพ. ยศ มี policy maker เป็นผู้ใช้

          นพ. วิโรจน์บอกว่า เมื่อมีผลงานวิจัยเชิงนโยบายแล้ว ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนสู่ฝ่ายผู้กำหนด นโยบาย ท่านพูดถึง policy opportumist, policy entrepreneur คือเมื่อมีผลงานวิจัย ก็ต้องมีปฏิบัติการ เชิงรุกสู่การใช้งานเชิงนโยบาย แต่ นพ. ยศ ผู้เป็นศิษย์ อาวุโสห่างกัน ๒๐ ปี บอกว่าตนมีหน้าที่เสนอผลงานวิจัย ผู้กำหนดนโยบายจะเอาไปใช้หรือไม่ แล้วแต่วิจารณญาณ

          สองท่านอยู่ในมหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยในบริบทของมหาวิทยาลัย อีกสองท่านอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ในสภาพบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการวิจัย แต่ด้วยความสามารถของแต่ละท่าน และการสนับสนุนจากผู้เห็นคุณค่าหลายคน ช่วยกันส่งเสริมให้ตั้งองค์กร เป็นมูลนิธิขึ้นมาทำงานวิจัย จนเวลานี้ IHPP มีสมาชิก ๘๐ คน HITAP มีสมาชิก ๕๐ คน เลี้ยงตัวโดยการทำงานวิจัย โดยทุนวิจัยมาจาก ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

          ด้วยชื่อเสียงและผลงาน ที่ยอมรับนับถือไปทั่วโลก นพ. วิโรจน์ ได้รับการทาบทามไปเป็น รองผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แต่หมอวิโรรจน์ตัดสินใจไม่ไป เพราะอยากทำประโยชน์ด้านการวิจัย และอยู่อย่างนี้ทำประโยชน์แก่ประเทศไทย และแก่โลก ได้มากกว่า

          แม้ในประเทศไทยระบบสนับสนุนและเอื้อให้ทำวิจัยแบบจริงจัง ไม่แข็งแรง เราก็ยังมีนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นได้ถึงขนาดนี้ หากระบบและบรรยากาศเอื้อ ก็เชื่อได้ว่า คนไทยจะมีความสามารถทำวิจัยได้ไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 575603เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2014 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2014 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท