จิตตปัญญากับการพัฒนาองค์กร ตอนที่ 5 เรื่อง ครั้งที่ 2 กับอ.ประมวล เพ็งจันทร์


ศรัทธา คือการเชื่อมั่นในคุณค่าและความหมายในชีวิตของเรา บ่มเพาะให้อยู่ในจิตใจของเราจริง ๆ กลับมาสู่การทบทวน ความหมายในชีวิต

คณะกรรมการ LO โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ได้จัดกิจกรรม จิตตปัญญากับการพัฒนาองค์กร ครั้งที่ 2

โดยครั้งนี้ จัดขึ้น 2 วัน โดยวางแผนว่า วันแรก เป็นการเปิดภาพการเรียนรู้ด้านใน ผ่านเรื่องเล่าประสบการณ์ของ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ และวันที่ 2 จะเป็น workshop ที่ลงลึกในรายละเอียด และมีเป้าหมายสุดท้ายคือการให้แต่ละคนได้เกิดโปรเจ็คการเปลี่ยนแปลงตัวเองเล็ก ๆ ให้ได้

วันแรก คือวันที่ 18 สิงหาคม 2557 กับ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ โดยผู้เข้าที่ลงชื่อประมาณ 60 คน ซึ่งเป็นคนใหม่ ที่ไม่เคยได้เข้าร่วมกิจกรรมมาก่อน และมี 3 คน ที่เคยเข้ามาแล้ว

 

18 สิงหาคม 57ณ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกับอ.ประมวล เพ็งจันทร์

วันแรกของการอบรมจิตตปัญญาครั้งนี้ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ได้พาเราไปพบกับการเรียนรู้ด้านใน ดังนี้

ช่วงเช้า อ.เล่าเรื่องการเดินทางไปเนปาล กับรายการคนค้นโลก ที่ในระหว่างทางได้เผชิญกับความเหนื่อยมาก แต่อาจารย์ไม่อยากหยุด เพราะถ้าหยุดก็จะไม่ได้เห็นสิ่งที่สวยงาม และด้วยความสำนึกว่า “ผมกำลังเสนอภาพนี้ ให้กับคนไทยจำนวนมาก ..” และในขณะที่ อ. เหนื่อยรู้สึกหน้ามืด หายใจไม่ทัน อ.ได้ตระหนักรู้ถึงความหมายของความเหนื่อย ความเปราะบาง แต่กลับมีความสุขอย่างแปลกประหลาด เมื่ออ.ได้เห็นความสวยงามตรงหน้า น้ำตาไหล อ.อยากบอกความรู้สึกบางอย่าง แต่สุดท้าย ก็พูดไม่ออก บอกไม่ถูก มันไม่รู้จะแปลความรู้สึกให้เป็นความหมายอย่างไรได้ อ.เปรียบให้พวกเราฟังว่า ชีวิตของพวกเราก็ไม่ต่างจากผม ที่ผ่านบทเรียน มันคือความหมายของเรา ชีวิตที่ต้องก้าวเดิน เราต้องผ่านสถานการณ์ที่เราไม่ก็รู้ว่าจะจบ ณ จุดใด มีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหน เมื่อเรามาถึงจุดหนึ่ง ความหมายของชีวิตเป็นความงดงามภายในใจของเราที่ชีวิตแต่ละคนจะไปถึงจุดนั้นได้

อ.บอกว่า การเรียนรู้สภาวะภายในใจของเรา มีความหมายลึกซึ้ง ที่จะทำให้เรามีพลัง อ. ได้ยกตัวอย่างของอ.เองที่เมื่อได้ออกเดินทางหลังจากออกจากราชการแล้ว ในการเดินทางครั้งนั้น อ.ได้ค้นพบความรู้บางอย่างเช่นชีวิตของคนเรา

แต่ละคนมีความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

หลังจากนั้น อ.ได้พาทุกคนให้รู้จักกับคำว่า ศรัทธา ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เราปรารถนาจะทำอยู่ข้างใน ถ้าอธิบายในความหมายของศาสนาพุทธ ( ซึ่งเป็นภาษาพุทธ เราจดไม่ทัน ) ประกอบด้วย 4 ข้อ ด้วยกัน


1. กรรมศรัทธา ความเชื่อมั่นในกรรม ขณะที่เรามีชีวิต เรามีความสามารถเลือกกระทำกิจกรรมต่าง ๆ และก่อให้เกิดผล เพราะการเลือกทำอะไร ก่อให้เกิดความหมาย เกิดความตระหนักได้ เลือกสรรความหมาย ซึ่งมีผลต่อชีวิตของเราในอนาคต

2. เชื่อมั่นในเรื่องผล ขณะที่เราเป็นเราในปัจจุบัน เชื่อมั่นว่าเป็นผลจากที่เราทำ ไม่โวยวาย กับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น

3. ความเชื่อมั่นว่าเรามีวิถีของเรา ที่เราถูกกำหนด วิถีที่มันเป็นไป ไม่เคลือบแคลง ทำให้เรารู้สึกเป็นปกติ ไม่ทุรนทุราย

4. เชื่อมั่นในความหมายของชีวิตที่เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อความรู้แจ้ง ข้อนี้ยากที่สุด

สรุป ศรัทธา คือการเชื่อมั่นในคุณค่าและความหมายในชีวิตของเรา บ่มเพาะให้อยู่ในจิตใจของเราจริง ๆ กลับมาสู่การทบทวน ความหมายในชีวิต

หลังจากนั้น อ. ให้ทุกเขียนคำอธิษฐานใส่กระดาษ ซึ่งหมายถึง หมุดหมายในใจของเรา และส่งให้อาจารย์ก่อนพักรับประทานอาหารกลางวัน

พอตอนบ่าย อ.ได้นำกระดาษของแต่ละคนมาอ่าน และพบว่า บางคนยังมีความเข้าใจผิด ในการเขียนคำอธิษฐาน ในลักษณะของการขอ ดังนั้น อ. จึงได้อธิบายใหม่ ว่า อธิษฐานคือการกำหนดสิ่งที่เราต้องการทำ อยากจะทำ เป็นการกำหนดจิตอันงดงาม และคำขอบางอย่างก็เป็นคำอธิษฐานได้ เช่น การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ การดูแลตัวเอง ดูแลพ่อแม่ การดูแลผู้ป่วยเป็นต้น โดยอ.ได้มีเรื่องเล่ามาประกอบ และแปลงคำอธิษฐานบางอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า เราทำได้ เช่น

เรื่องการดูแลสุขภาพ อ.บอกว่า พวกเราทุกคนมีความรู้ แต่ทำไม่ได้ ความรู้มีค่าแต่ไม่มีค่าสูงสุดถ้าเราทำไม่ได้ เราต้องใช้พลังของเราจากภายใน ว่าเราได้ตระหนักถึงความหมายบางอย่าง ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นพลัง ทำอย่างไรสิ่งที่เรารู้ด้วยความคิด เปลี่ยนเป็นความรู้จากใจ แล้วสิ่งนี้แหละจะเป็นพลัง

หรือเรื่องความกลัว อ.เล่าว่า ความกลัวไม่สามารถหายได้ ถ้าเราคิดเชิงเหตุผล ความกลัวตายนั้น ด้วยความคิด เราอาจคิดได้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา ความคิดทำลายความกลัวได้ แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นในใจว่า เวลาที่หมดไปทำให้เรารู้ว่า เวลาที่เหลืออยู่นั้นมันมีค่า

หรือเรื่องการออกกำลังกาย ให้เราคิดว่าสิ่งที่ทำมันกำลังกลายเป็นวิถี เราสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เป็นความสำเร็จด้านจิตวิญญาณ กำหนดหมายว่าจะทำ แล้วไม่ยอมจำนน

เรื่องความโกรธ ก็เหมือนกัน ให้คิดว่า มันแค่มาเยี่ยมอยู่กับเราไม่นาน เพราะเรามีความเมตตา ถ้าเราปล่อยให้ความโกรธยึดครองใจเรา เมตตาก็ไม่อยู่กับเรา เพราะชีวิตใครมีเมตตา ก็ร่มเย็นเป็นสุข เพราะถ้ามีความโกรธอยู่ ความเมตตาก็งอกงามไม่ได้ เราต้องทำความกระจ่างชัด ให้เห็นถึงโทษภัยของความโกรธ สำหรับอาจารย์เองเมื่อก่อนใช้เทคนิค การกดข่ม อ.บอกว่า หมุดหมายในการขับเคลื่อนชีวิต สามารถช่วยได้ เช่น “ เราเกิดมาไม่ได้มาเพื่อโกรธเขา ”

เรื่องอยากให้ลูกเป็นคนดี อ.มีคำพูดที่ดีมาก อ.บอกว่า เราต้องเป็นคนดีให้เหมาะสม ให้เริ่มต้นที่เรา แล้วมันจะมีพลัง และส่งต่อให้ลูกได้

เราทุกคนสามารถที่จะทำสิ่งนี้ด้วยตัวเอง เช่น จะทำงานให้มีความสุขในทุกวัน อย่ากังวลว่าจะทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าทุกข์ให้เรารู้ตัว

การเรียนรู้ด้านจิตตปัญญา เป็นการเรียนรู้เพื่อจะเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของตนเอง พยากรณ์เรื่องที่เป็นไปในใจ เปลี่ยนแปลงภายในตัวเราเอง พอถึงจุดหนึ่งความสุขไม่ได้อยู่ที่ความสุขสบาย คนที่ติดความสบาย จะมีความสุขยาก เช่นรังเกียจความลำบาก เราต้องข้ามพ้นความเกลียดนั้น คำอธิษฐานเป็นเครื่องมือ เราต้องทำหน้าที่ ทำความเบิกบาน ให้เกิดเป็นพลัง การอธิษฐานไม่ใช่การกล่าวเปล่งวาจาเท่านั้น

เราไม่สามารถเขียนรายละเอียดของการฟังทั้งหมดได้ เพราะอาจารย์จะมีเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตของตนเองประกอบเป็นระยะ ๆ ตลอด ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่มีพลังมาก

จากคำถามจากผู้เข้าอบรมว่า เราไม่อาจไปเดินทางเหมือนอาจารย์ได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ภายในได้

อ.บอกว่าการเดินในมิติของจิตวิญญาณ เป็นการเดินทางภายใน ไม่จำเป็นต้องเดินเหมือนอาจารย์ การทำงานก็เป็นการเดินอยู่แล้ว มิติของการเดินภายใน การเดินทางที่แท้จริง คือการเดินทางสู่วิถีด้านใน โดยเราต้องลองสำรวจอุปกรณ์ของการเดิน ว่าเรามีแล้วหรือยัง ดังนี้

1. ศรัทธา เชื่อมั่นในความหมายที่ดี

2. วิริยะ พากเพียร

3. ขันติ ความมั่นคงในจิตใจ เพราะเมื่อถูกกระทบกระเทือนต้องไม่หวั่นไหว

ปัจจุบันพวกเราเดินกันอยู่แล้ว เพียงแต่เดินกลับไปกลับมาอยู่ในสังสารวัฏ ให้เราใช้งานเป็นวิถี ไปสู่สิ่งที่มีความหมาย และนำไปสู่สิ่งที่สวยงาม

ความหมายของการเดินทาง ความงดงามที่เกิดขึ้นในใจ ไม่สามารถเห็นได้ แต่มาจากการที่เรามีความศรัทธา เชื่อมั่น เพียรพยายาม ทะลุผ่านม่านหมอก ความลำบาก

ศรัทธา ก่อให้เกิดเป็นความเชื่อ ทำให้เป็นพลัง กำหนดหมาย บ่มเพาะ เมื่อถูกกระทบ เมื่อเจอความยาก ต้องเผชิญให้ได้ ต้องมาจากท่าที ว่าเห็นสิ่งนั้นเหมือนกับเป็นความท้าทาย ใช้การทำงานเป็นหนทาง แล้วจะพบว่าการเดินทางเป็นความงดงามได้

หมายเลขบันทึก: 575401เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2014 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2014 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบทความที่ดีมาก อ่านแล้วมีความสุขครับ ขอบคุณจริงๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท