Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ความเป็นผู้ทรงสิทธิของเด็กชายหม่อง ทองดี ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ : ผูกพันประเทศไทยในสถานะของกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ? อย่างไร ?


ความเป็นผู้ทรงสิทธิของเด็กชายหม่อง ทองดี ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙

: ผูกพันประเทศไทยในสถานะของกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ? อย่างไร ?

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง สาขานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ภาคที่ ๑

เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

-----------

ข้อเท็จจริง

-----------

ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมืองเพื่อพิจารณาประเด็นความเป็นผู้ทรงสิทธิของเด็กชายหม่อง ทองดี ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ นั้น มีการพิจารณาถึงสัมพันธภาพของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ กับประเทศไทย

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติยอมรับอนุสัญญานี้และเปิดให้ลงนามตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๘๙ ณ กรุงนิวยอร์ค และอนุสัญญานี้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ ๒ กันยายน ค.ศ.๑๙๙๐ หลังจากมีรัฐที่ลงนามให้สัตยาบันครบ ๒๐ รัฐ

จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๙/พ.ศ.๒๕๕๒ มี ๑๙๔ รัฐในประชาคมระหว่างประเทศได้ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติอนุสัญญานี้ บางประเทศมีข้อสงวนต่ออนุสัญญานี้

ประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ อันทำให้อนุสัญญานี้มีผลในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕

ข้อ ๑ แห่ง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ บัญญัติว่า “เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ เด็กหมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปีเว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่เด็กนั้น”

------

คำถาม

------

ในฐานะที่ท่านทำหน้าที่นิติกรประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จงตอบคำถามของคณอนุกรรมการข้างต้นที่มีต่อท่านว่า อนุสัญญานี้ผูกพันประเทศไทยในสถานะของกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ? อย่างไร ?

------------

แนวคำตอบ

------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง สนธิสัญญาระหว่างรัฐไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไรก็ตาม อาจผูกพันรัฐใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) สนธิสัญญาที่ทำหน้าที่สัญญาระหว่างรัฐ และ (๒) สนธิสัญญาที่ทำหน้าที่ก่อตั้งกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ทำหน้าที่ของบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ บ่อเกิดดังกล่าวอาจมีได้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) บ่อเกิดอันดับแรกซึ่งเป็นกฎหมายซึ่งศาลใช้ในการตัดสินคดี ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ก็ได้ (๒) บ่อเกิดอับดับรองซึ่งหมายถึงคำสอนและคำตัดสินของศาลซึ่งใช้ในการอธิบายหลักกฎหมาย และ (๓) บ่อเกิดตามเจตนาของคู่ความ อันได้แก่ ความยุติธรรมและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

โดยข้อกฎหมายดังกล่าว เราอาจจำแนกสนธิสัญญาที่ทำหน้าที่บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก ก็คือ สนธิสัญญาซึ่งประมวลกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาประเภทนี้ย่อมผูกพันรัฐ แม้รัฐจะไม่ได้ลงนามและให้สัตยาบัน หรือภาคยานุวัติต่อสนธิสัญญา อาทิ อนุสัญญาแห่งกรุงเวียนนา ค.ศ.๑๙๖๐ ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต หรืออนุสัญญาแห่งกรุงเวียนนา ค.ศ.๑๙๖๙ ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา

ลักษณะที่สอง ก็คือ สนธิสัญญาซึ่งก่อตั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นพัฒนาการใหม่ของประชาคมระหว่างประเทศ กล่าวคือ เป็นกฎเกณฑ์ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในสถานะ กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหลัก สนธิสัญญาประเภทนี้ย่อมไม่อาจผูกพันรัฐ หากรัฐยังมิได้ลงนามและให้สัตยาบัน หรือภาคยานุวัติ อาทิ สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในลักษณะทั่วไป (The Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty - CTBT) ซึ่งห้ามการทำให้เกิดการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในสภาวะแวดล้อมทั้งมวลทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารและพลเมือง สนธิสัญญานี้ได้รับการยอมรับโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ.๑๙๙๖/พ.ศ.๒๕๓๙ แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีผลบังคับ เพราะยังไม่มีรัฐภาคีให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติครบจำนวนตามที่สนธิสัญญากำหนด

เมื่อกลับมาพิจารณากรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ นั้น หากจะพิจารณาว่า เรื่องของสิทธิเด็กเป็นเรื่องหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเริ่มได้รับการยอมรับจากประชาคมนานารัฐ ในสถานะของกฎฆมายจารีตประเพณี

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการโต้แย้งความเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ ก็ตาม อนุสัญญานี้ก็ยังผูกพันประเทศไทยในสถานะของบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยได้ภาคยานุวัติอนุสัญญานี้แล้ว ดังนั้น โดยกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญา อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ จึงผูกพันประเทศไทยแล้ว ยกเว้นในกรณีที่ประเทศไทยตั้งข้อสงวน

ดังนั้น การละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ ก็คือ การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

----------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 575117เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท