สถิติสำหรับการวิจัย


            สถิติตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Statistics เกิดขึ้นประมาณช่วงศตวรรษที่ 16 -18 ตรงกับคำภาษาลาตินว่า Status ซึ่งมาจากคำว่า State ที่แปลว่ารัฐ หมายถึงข้อมูลต่างๆ ที่รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานของภาครัฐ เช่น ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของประชากร การตรวจนับจำนวนครอบครัวรวมถึงรายละเอียดต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ การจัดเก็บภาษีอากร สินค้านำเข้า สินค้าส่งออก การศึกษา การสาธารณสุข จะเห็นว่าความหมายของสถิติในอดีตจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บตัวเลข การบันทึกข้อความจริงเกี่ยวกับคน สัตว์ และ สิ่งของ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือเรียกว่า facts of state เพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เป็นตัวเลขก็ได้ อาจจะรวมถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่อธิบายถึงความเป็นไป หรือสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือแนวทางความเป็นไปเกี่ยวกับรัฐ อาจจะกล่าวได้ว่าสถิติเป็นการศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามของหน่วยงานรัฐที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าสถิติน่าจะมีกำเนิดมาจากงานปกครองและบริหารในตอนต้น


                สถิติจัดได้ว่าเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเช่นเดียวกับคณิตศาสตร์โดยจะประกอบด้วยกระบวนการที่จะทำให้ได้ข่าวสารต่างๆในเรื่องที่ต้องการจะศึกษาการจัดเป็นหมวดหมู่และการนำเสนอซึ่งมีส่วนของศิลปะมาผสมผสานด้วยและในส่วนที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะประกอบด้วยขั้นตอนที่จะทำให้ได้ค่าสังเกตต่างๆที่เราต้องการศึกษาอย่างเหมาะสมมีเหตุมีผล สามารถตรวจสอบได้ดังนั้นจึงมีรูปแบบในการวัดหรือการสังเกตมากมายซึ่งวิธีทางสถิตินี้อาจแยกได้เป็น 2 สาขาคือ

                1. สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) เป็นการวิเคราะห์สถิติในเบื้องต้นกล่าวคือเป็นวิธีการหาข้อสรุปจากข้อมูล อาจจะใช้เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ขั้นต่อไปได้ ในส่วนนี้เองที่จะต้องใช้ศิลปะมาช่วยในการวิเคราะห์และอธิบายสื่อความหมายให้สังคมเข้าใจ เช่นการนำเสนอข้อมูลด้วยตารางแผนภูมิแผนภาพหรือคำอธิบายการจัดเก็บข้อมูลต่างๆอาจเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจำนวนหรือปริมาณก็ได้นับเป็นการจัดข้อมูลเรื่องหรือเหตุการณ์ให้เป็นหมวดหมู่ เข้าใจง่าย ในทางการบริหารก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำการสื่อสารให้ถูกต้อง ชัดเจน และกะทัดรัด สถิติที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และการบรรยายถึงลักษณะของข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้แก่การจัดกลุ่มข้อมูลการแจกแจงความถี่การนำเสนอข้อมูลการหาค่ากลาง(ค่าเฉลี่ย) การวัดความกระจายการวัดตำแหน่งที่การวัดความเบ้การวัดความโด่งเป็นต้น

              2. สถิติอนุมาน (Inferential Statistics) เป็นสถิติที่ศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลกลุ่มเล็กหรือกลุ่มย่อยที่ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างโดยตัวอย่างหรือที่เรียกว่า sample นี้จะต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลแล้วนำผลที่ได้ไปอ้างอิงถึงข้อมูลส่วนใหญ่ที่สนใจในที่นี้เรียกว่าประชากรหรือ population การสรุปผลดังกล่าวต้องอาศัยหลักทฤษฎีความน่าจะเป็นเข้ามาเกี่ยวข้องสถิติอนุมานที่สำคัญได้แก่การประมาณค่าและการทดสอบสมมติฐาน เช่นในการศึกษาค่าใช้จ่ายของนักศึกษาในสถาบันแห่งหนึ่งอาจจะทำการโดยใช้สถิติอนุมานจากการสุ่มตัวอย่างนักศึกษาในสถาบันแห่งนี้มากลุ่มหนึ่งจากนักศึกษาที่สนใจทั้งหมดซึ่งเรียกว่าประชากรกระบวนการดังกล่าวจะต้องมีหลักการที่แน่นอนและตรวจสอบได้เช่นเราสุ่มตัวอย่างนักศึกษามาจำนวน 1,000 คน จากจำนวนนักศึกษา 5,000 คนวิเคราะห์หาค่าที่สนใจจากตัวอย่างอาทิค่าเฉลี่ยแล้วนำผลที่ได้ไปอ้างอิงถึงค่าเฉลี่ยประชากร สมมติคำนวณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจากนักศึกษา 1,000 คนได้ 120 บาทต่อวันอาจจะสรุปว่านักศึกษาทั้ง 5,000 คนนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเท่ากับ 120 บาทต่อวันด้วยเหล่านี้เป็นต้น

            ส่วนการวิจัยนั้น การวิจัยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ ในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมมนุษย์จึงใช้กระบวนการนี้สร้างสรรค์ พัฒนาปรับปรุง ให้การมีชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การวิจัยที่ดีจะต้องมีหลักการและดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน โดยกระบวนการในการวิจัยมีขั้นตอนมากตามหลักการที่ว่า ความรู้ที่ได้มาใหม่จะต้องอยู่บนหลักการแห่งความเป็นจริงโดยมีการแสวงหาความรู้เหล่านั้นอย่างเป็นระบบขั้นตอน คือ จากสิ่งที่ต้องการค้นหาความจริงหรือความรู้ใหม่นั้น ต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดหัวข้อหรือปัญหาในการวิจัยที่สนใจ และนำปัญหาเหล่านั้นวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้น เพื่อการตีกรอบ กำหนดขอบเขตจนได้ตัวชี้วัดที่เป็นตัวแปรที่สำคัญในการวิจัย จึงทำการออกแบบการวิจัยและใช้กระบวนการทางสถิติเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ สรุปผล พรรณนาผลที่เกิดขึ้น จนเป็นข้อสรุปและเป็นรายงานผลในที่สุด เพื่อการนำผลนั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ หรืออ้างอิงได้

               ขั้นตอนต่างๆ ในการวิจัยล้วนเป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีรายละเอียด ดังนั้นในการทำวิจัยจึงต้องมีความกระตือรือร้นที่จะทำการวิจัยให้ได้มาซึ่งความรู้ที่ต้องการและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการและสังคม จึงจะถือว่าครบกระบวนการ ดังนั้น การเริ่มต้นงานวิจัยที่ถูกต้อง ชัดเจนและเป็นระบบขั้นตอนจะทำให้ขั้นตอนต่อไปมีระเบียบและชัดเจน สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างถูกต้องต่อเนื่องกัน อธิบายสิ่งที่ต้องการทราบได้ ตรวจสอบความถูกต้องได้ อย่างเปิดเผย

            แนวทางการใช้สถิติเพื่อการวิจัยนั้น ส่วนมากเราใช้สถิติเพื่อการตัดสินใจและการวางแผนของผู้บริหารมีขอบเขตค่อนข้างจะกว้างขวาง เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้วจะเป็นเรื่องของการประมาณค่า (estimation) การทดสอบสมมติฐาน (testing hypothesis) การหาความสัมพันธ์และการพยากรณ์ (correlation and prediction) เรื่องต่างๆ เหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้กับองค์การขนาดต่างๆ กัน ตลอดจนสภาพแวดล้อมขององค์การที่แตกต่างกัน เช่น การนำระเบียบวิธีการทางสถิติมาประยุกต์ใช้ในด้านการวิจัยตลาดมากกว่าด้านอื่นๆ โดยนำผลการวิเคราะห์ วิจัย ไปใช้วิเคราะห์ประยุกต์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ราคา การส่งเสริมการจำหน่าย การกระจายสินค้า 

หมายเลขบันทึก: 575034เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2014 06:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2014 06:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท