​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๗. ไปชายแดนตาก : ๔. AAR


การเดินทางครั้งนี้ เป็น “กิจกรรมเก็บข้อมูลภายใต้โครงการสถานการณ์ศึกษาด้านสุขภาวะของคนชายแดนที่มีปัญหา สถานะและสิทธิตามกฎหมายในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากเพื่อเตรียมความพร้เอมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระหว่าางวันที่ ๑๑ - ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโครงการศึกษาวิจัยเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ สำนัก ๙ สสส."

ชื่อโครงการยาว เข้าใจว่า เพื่อให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของแหล่งทุน และแสดงให้เห็นความสามารถในการบูรณาการ เรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งในการเชื่อมโยงภาคีที่หลากหลายเข้ามาร่วมกันทำงาน เพื่อแก้ปัญหาหลักๆ ๓ เรื่อง ที่มีรากเหง้า มาจากการด้อยสิทธิ์ของมนุษย์กลุ่มหนึ่งตามป่าเขาและแนวชายแดน ปัญหาหลักคือ (๑) สิทธิมนุษยชน (๒) การรักษาพยาบาล และ (๓) การศึกษา ซึ่งที่จริงหากคิดให้ลึกๆ เรื่องการรักษาพยาบาล และการศึกษา ก็เป็นสิทธิมนุษยชนนั่นเอง โดยที่การทำงาน ช่วง ๗ วันนี้ ทำร่วมกับโรงพยาบาล เป็นภาคีหลัก

เป็นการเปิดหูเปิดตาผมอย่างยิ่งในด้านการทำงานของโรงพยาบาลชายแดน ที่ผู้อำนวยการมักอยู่ทำงานนาน เพราะ ลักษณะพิเศษและอุดมการณ์ (altruistic brain ใหญ่) โดยที่แต่ละคนก็มีสไตล์การทำงานของตนเอง ที่สำคัญ ผมพบว่าระเบียบและ กติกา ของทางราชการ ที่ใช้เหมือนกันหมดทั่วประเทศนั้น ก่อความยากลำบากด้านการเงินให้แก่โรงพยาบาลเหล่านี้ ซึ่งหากมีการ วิจัย ลงรายละเอียด ก็จะสามารถปรับกติกาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นได้ นี่คือโจทย์วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

ผมได้เรียนรู้ว่า การดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับสถานะบุคคลมีความซับซ้อน จากปัจจัยหลากหลายด้าน รวมทั้งความไม่เป็นเอกภาพของราชการมหาดไทย ที่มีทั้งสายเหยี่ยว สายทุจริต และสายพิราป รวมทั้ง NGO ด้านนี้ ก็มีทั้ง สายเพื่อเงิน สายทุจริต และสายอุดมการณ์ ที่จริงไม่ว่าวงการไหน ก็มีสามสายแบบนี้ทั้งนั้น เป็นธรรมดาโลก และแม้แต่คน ที่เราจัดไว้ในกลุ่มคนดีมีความเสียสละ ก็มีสไตล์แตกต่างกัน ดังผู้อำนวยการโรงพยาบาล ๓ ท่านที่ผมไปพบ

ผมได้ความคิดว่า หากนักวิชาการไปทำงานให้บริการเป็นช่วงๆ ก็เสมือนทำไร่เลื่อนลอย สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การทำงานวิชาการเพื่อให้เกิดการวางระบบอย่างถาวร ซึ่งหมายถึง (๑) ทำระบบทะเบียนบุคคล (๒) การออกหรือแก้ไขกฎหมาย และ (๓) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ให้ชุมชนดูแลตัวเองได้ในเรื่องสิทธิบุคคล ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของข้าราชการที่ฉ้อฉล

ผมชื่นชมท่านประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ที่เดินทางไปกับคณะด้วย เป็นเวลา ๓ วันเหมือนกับผม การไปสัมผัสสภาพจริง ทำให้ท่านสามารถดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้ทั่วถึงได้ โดยผมขอเสนอว่า ต้องทำเชิงรุก เชิงส่งเสริม และเชิงป้องกันปัญหา ไม่ใช่เชิงตั้งรับหรือตามแก้ปัญหา

ผมมีความเห็นว่า เป็นโอกาสของ คสช. ที่กำลังกวาดล้างทำความสะอาดบ้านเมือง จากความสกปรกโสมมชั่วร้าย ที่สั่งสมมาจากความทุจริตของนักการเมือง ร่วมกับราชการ และคนที่ร่วมมือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ คสช. น่าจะจัดทีมพิเศษ ไปให้บริการจดทะเบียนบุคคลที่คั่งค้างให้เสร็จภายใน ๓ - ๖ เดือน และวางระบบใหม่ โดยนำเอา ICT มาเป็นเครื่องมือ เป็นระบบที่เชื่อมโยงไปหลายกระทรวง ทั้งมหาดไทย ศึกษา สาธารณสุข แรงงาน พม. และอื่นๆ ทั้งนี้จะเป็นการป้องกันทุจริต และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากคนยากลำบากเหล่านี้ หาก คสช. ดำเนินการ จะเป็นการแสดงผลงาน และความเอาจริงเอาจังในการจัดระบบสังคม รวมทั้งน่าจะก่อผลดีด้านความสัมพันธ์กับประเทศพม่า

ในช่วงเวลาที่พูดคุยเรื่องสัพเพเหระ เรื่องคุณภาพการศึกษาถูกหยิบยกขึ้นมาคุยบ่อย คุณหมอจิรพงศ์ ผอ. รพ. แม่ระมาด เล่าว่า พบคนที่จบ ม. ๖ จำนวนมากเขียนชื่อวัน เดือนเป็นภาษาอังกฤษให้ถูกต้องทั้งหมดไม่ได้

ผมสังเกตว่า อาจารย์แหวว ว แหวนหายบ่อยๆ ยาม altruistic brain ถูกกระตุ้น คนที่ไม่คุ้นกับท่านก็จะว่าท่านดุ คนที่คุ้นเคยมาเป็นเวลานาน บอกว่าท่านดุน้อยลง คนที่คุ้นเคยจริงๆ จะรักในน้ำใจของท่าน ที่เอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ด้อยโอกาส ผมหวังว่าผลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลคราวนี้ อาจารย์แหววและมวลมหามิตร จะช่วยกันวางระบบ ๓ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในเรื่องความรู้และทักษะในการเข้าถึงสิทธิของตน เน้นการดำเนินการโดยเยาวชนหรือนักเรียน โดยต้องทำเรื่องสิทธิควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและบ้านเมือง ในฐานะ active citizen การหนุนให้เยาวชุนลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาเพื่อชุมชนของตน มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าร่วมสนับสนุนได้ อย่างน้อยก็ in kind

ผมอิจฉาลูกศิษย์ของอาจารย์แหวว ที่ได้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้การปฏิบัตินำ ทฤษฎีตาม นี่คือการเรียนรู้ ที่ถูกต้องตามหลักของ cognitive science ที่ได้จากงานวิจัยสมัยใหม่ ที่เรียกว่า 21 st Century Learning แต่การเรียนโดยปฏิบัตินำ จะเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยง ที่เรียกว่า “รู้จริง" (mastery learning) เมื่อปฏิบัติแล้วต้อง AAR ร่วมกัน โดยตอบโจทย์ ว่าได้เรียนรู้ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องจากการปฏิบัติอย่างไร สิ่งที่พบในการปฏิบัติส่วนไหนที่เป็นไปตามทฤษฎี ส่วนไหนไม่เป็น จะเพิ่มเติมหรือแก้ไขทฤษฎีอย่างไร ทีมงานได้รู้จัก BAR และ AAR จากการปฏิบัติแล้ว จากกิจกรรมในช่วง ๓ วันที่ผมรับใช้เป็น “คุณอำนวย" ขอให้นำไปใช้ในการเรียน การทำงาน และในชีวิตประจำวัน

ผมขอเสนอว่า ทีมงานของอาจารย์แหวว น่าจะเขียนคำแนะนำ กรณีที่สถานภาพบุคคล ที่พบบ่อย ๔ - ๕ แบบแจก และขึ้นเว็บ คำแนะนำนี้น่าจะมีความยาวเพียงหน้าเดียว เขียนด้วยภาษาง่ายๆ ไม่ใช้ภาษากฎหมาย และให้แหล่งอ้างอิง สำหรับคนที่ต้องการรู้ลึก ไปค้นต่อทาง อินเทอร์เน็ต ได้

ผมขอขอบคุณอาจารย์แหววและทีมงาน ที่จัดการเดินทางเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้มาก และขอขอบคุณ แทนสังคมไทย ต่อนักกฎหมายเพื่อประชาชนกลุ่มนี้ ช่วยกันทำงานจรรโลงสังคมไทยให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 574843เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้สึกเหมือนอาจารย์ตรงนี้จริงๆค่ะ 

"ขอขอบคุณ แทนสังคมไทย ต่อนักกฎหมายเพื่อประชาชนกลุ่มนี้ ช่วยกันทำงานจรรโลงสังคมไทยให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น"

วันนี้ โครงการสี่หมอชายแดนตากอันเป็นผลของการลงพื้นที่ครั้งดังกล่าวจะไปเยี่ยมท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ค่ะ  คงมีเรื่องราวให้เล่าสู่กันต่อไป

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท