​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๖. ไปชายแดนตาก : ๓. อำเภอแม่ระมาด ๑๓ ก.ค. ๕๗


เช้าวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผมออกไปวิ่งออกกำลัง ออกจากโรงแรมควีน พาเลส แม่สอด เลี้ยวขวาไปตาม ถนนชิดวนา หน่อยเดียวก็พบถนนเยลลี่อุทิศอยู่ทางซ้าย ก็ลองวิ่งเข้าไป ผ่านหน้าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ไปจนสุดชนถนน ๑๐๙๐ ก็วิ่งกลับ มาวิ่งริมถนนชิดวนาอีก โดยที่ถนนแฉะเพราะฝนตกตลอดคืน โชคดีที่ตอนเช้าฝนหาย ผมได้ดื่มด่ำบรรยากาศ ที่ชาวบ้านมานั่งริมถนน รอตักบาตร และพระ “เดินบาตร" เป็นแถว คำว่า เดินบาตร เป็นภาษาปักษ์ใต้ที่ชุมพรสมัยผมเด็กๆ

ผมวิ่งกลับไปอีกทางหนึ่งบนถนนชิดวนา จนเห็นตลาดอยู่ข้างหน้า และวัดสุนทริกาวาสอยู่ทางขวา ผมบอกตัวเองว่า ต้องเลือกระหว่างวิ่งไปชมตลาด กับชมวัด ผมเลือกชมวัด ซึ่งทำให้ผมเห็นว่าที่นี่ศาสนาพุทธยังมีชีวิตใกล้ชิดกับชาวบ้าน เพราะที่วัดเห็นเฌรน้อยหลายคน ประกอบกับแถวพระบิณฑบาตก็มีเด็กวัดตัวน้อยเดินตาม ไม่ใช่คนวัยกลางคนขี่มอเตอร์ไซคล์ ตาม อย่างที่พบแถวปากเกร็ด

เราออกเดินทางจากแม่สอดเวลา ๘.๔๕ น. ไปอำเภอแม่ระมาด ไปถึงสถานที่ประชุม คือโรงเรียนบ้านขะเนจื้อ ก่อนเวลานัด ๙.๓๐ น. เล็กน้อย โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม. ๓ มีนักเรียน ๕๖๘ คน เป็นเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ๑๑๘ คน เด็กจำนวนหนึ่งบ้านอยู่บนเขาไกลโรงเรียนมาก โรงเรียนจึงต้องจัดที่พักให้

นพ. จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการ รพ. แม่ระมาด คงจะไปเชิญท่านอดีตรัฐมนตรี เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ และลูกชายที่เป็นอดีต สส. ชื่อธนิตพล ไชยนันทน์ มาร่วมด้วย

เวทีจัดขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่ของโรงเรียน มีชาวบ้านและนักเรียนมาร่วมกว่า ๒๐๐คน เริ่มจาก นพ. จิรพงศ์เล่าเรื่องอำเภอแม่ระมาด และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมทั้งบริการสุขภาพ ซึ่งก็เป็นลักษณะของพื้นที่ชายแดน มีเงินค่าบริการที่เรียกเก็บไม่ได้ราวปีละ ๑๐ ล้านบาท ที่เกิดจากผู้ไม่มีสิทธิคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งก็คือคนที่ไม่มีสถานะ “สัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย"

แล้วอาจารย์แหววอธิบายเรื่องคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล กลุ่มแรกเป็นคนสัญชาติไทยตกหล่น อยู่ในเมืองไทย แต่ไม่ได้รับบัตรประชาชน คือป้าดา อายุ ๖๗ ปี และนายอู่แล่ ที่นายทะเบียนราษฎรไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้ เพราะเป็นคนติดยา ถึงตอนนี้ อ. แหววดึงปลัดอำเภอด้านทะเบียนมาซักต่อหน้าเวทีประชุม ซึ่งคงทำให้ปลัดรู้สึกเสียหน้า และพูดแก้ตัวต่างๆ นานา ทำให้อดีต สส. นายธนิตพลลุกขึ้นพูดให้ความเห็นใจปลัด

อาจารย์แหววพยายามต้อนปลัดให้จดทะเบียนให้ ๒ คนนี้ เมื่อทีมงานหาหลักฐานครบไปแสดง แต่ปลัดฯ บ่ายเบี่ยง อ้างว่าต้องทำตามคิว เพราะมีคนรออยู่เกือบ ๓ พันคน และคนทำงานมีตนคนเดียว หากลัดคิวตนจะถูกร้องเรียน ผมจึงถามว่าจดทะเบียนได้วันละกี่คน คำตอบคือ ๔ คน และภายหลังปลัดฯ บอกว่าในแผนกทะเบียนมีตนเป็นข้าราชการคนเดียว นอกนั้นเป็นลูกจ้าง ถ้อยคำเหล่านี้มีบันทึกเสียงไว้ หากเป็นหลักฐานแสดงว่าปลัดท่านนี้ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ผมยินดีให้หลักฐานชิ้นนี้

ท่านอดีตรัฐมนตรีเทอดพงษ์จึงแนะนำว่าควรจัดทีมเฉพาะกิจมาเร่งดำเนินการจดทะเบียนให้เสร็จในเวลาอันควร เช่น ๓ - ๖ เดือน ไม่ใช่ปล่อยให้ทำงานค้างเติ่งแบบนี้ เป็นช่องทางให้มีการเรียกเก็บเงิน ซึ่งมีคนในพื้นที่บอกทีมงานของ อ. แหววว่ามีการ เรียกเก็บเงิน

หลังจากอธิบายข้อกฎหมายที่จะช่วยให้กรณีศึกษา ๕ ราย ได้สถานะคนสัญชาติไทย อาจารย์แหววก็ถามนักเรียน ที่แต่งเครื่องแบบนักเรียนให้ไปเล่าเรื่องของตนที่หน้าเวที นางสาวสายรุ้ง (ไม่มีนามสกุล เพราะยังไม่ได้บัตรประชาชน) นักเรียนชั้น ม. ๖ โรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม ก็ออกไปเล่าเรื่องของตน ซึ่ง อ. แหวว อธิบายว่า สายรุ้งมีสิทธิได้รับสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ ให้ไปดำเนินการยื่นคำร้อง โดยทีมวิจัยจะช่วยเหลือ จนในที่สุด อ. แหววถามว่า มีนักเรียนโรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยบ้าง นักเรียนเดินแถวออกมา ๑๒ คน ต่อมาถามนักเรียนที่เหลือจากโรงเรียนแม่ระมาดวิทยาคม ก็มีอีกกว่าสิบคน

นักเรียนเหล่านี้แยกออกเป็นกลุ่มๆ แยกย้ายกันไปรับคำแนะนำจากนักกฎหมาย ทีมงานของ อ. แหวว เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อไป

ผมสังเกตจากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ทำให้ผมสรุปกับตนเองว่า เรื่องปัญหาสถานะบุคคลนี้ มีคนบางกลุ่มมีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ เป็นการทุจริตในราชการ จึงเสนอให้อาจารย์แหววรวบรวมหลักฐานเสนอ คณะทำงานเพื่อเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของ คสช. เสนอแนวทางปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในพื้นที่ชายแดนเช่นนี้ โดยเสนอให้จัดทีมมาให้บริการรับรองสถานะบุคคลเป็นกรณีพิเศษ ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ - ๖ เดือน ซึ่งจะทำให้ คสช. ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญเป็นอันมาก

เราใช้เวลาจัดเวทีสองชั่วโมงเศษ หลังกินอาหารเที่ยง ก็ตั้งวง AAR กันอีกเกือบ ๒ ชั่วโมง ได้เข้าใจเรื่องโรคทางสังคม ในบริเวณชายแดน ที่คนจำนวนหนึ่งถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ของชาวบ้าน

ผมทำหน้าที่ “คุณอำนวย" ของการ AAR โดยกำหนดให้ผู้ร่วมวงตอบคำถาม ๒ ข้อ คือ (๑) ตนจะไปทำอะไร หากจะแนะนำการดำเนินการในภาพรวมด้วยก็ได้ และ (๒) เรื่องอื่นๆ ที่อยากบอก โดยให้ทีมของ รพ. แม่ระมาดพูดก่อน แล้วให้คนอื่นๆ พูดตามลำดับที่นั่ง ทำให้เราได้เห็นจิตใจ และความตั้งใจที่จะลงมือทำ ณ จุดปฏิบัติงานของตนเอง ทั้งที่โรงพยาบาล และที่หน่วยงานภาคี โดยที่จะเกิดการปฏิบัติงานเชิงรุก

คนที่ผมประทับใจมากคือคุณแสงหล้า จันทะวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ขาดสิทธิมาก่อน เมื่อได้สัญชาติแล้ว ตอนนี้เป็นสมาชิก อบต. แม่กระสา เธอบอกว่าจะทำ ๕ อย่าง เริ่มจากการลงพื้นที่จัดทำข้อมูล แยกแยะกลุ่มปัญหา และอื่นๆ ผมกระซิบบอกทีมของ อ. แหววให้ถ่ายรูป และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไว้ เพราะจะเป็นกำลังสำคัญมาก

ผมได้เรียนรู้ว่า ที่อำเภอแม่อาย จ. เชียงใหม่ก็เคยเป็นอย่างนี้ และทีม อ. แหวว นี่แหละที่ไปช่วย มีการฝึกให้ชาวบ้านรู้กฎหมายและช่วยกันเอง เวลานี้เหลือปัญหาน้อยมาก เป็น success story ที่เอามาเป็นข้อเรียนรู้ได้

success story อีกกรณีหนึ่งคือ เรื่องคนไทยพลัดถิ่นที่แม่สอด ที่คุณ เพลินใจ เลิศลักขณาวงศ์ และทีมงานดำเนินการ มีคนได้รับบัตรประชาชนแล้วประมาณ ๒ พันคน คุณเพลินใจให้ความเห็นหลัง AAR น่าสนใจมากว่า (๑) งานช่วยเหลือ ให้คนได้รับสถานะบุคคลนี้ เมื่อลงมือทำงานแล้ว จะเห็นช่องทางเพิ่มขึ้นอีกมาก (๒) การสร้างทีมงานแก้ปัญหาสถานะบุคคล ต้องร่วมมือกันทั้งทีมงานภาคประชาชน และทีมงานภาครัฐ (๓) การสร้างทีมประชาชน ต้องให้มีภูมิคุ้มกัน ต่อแรงเสียดทาน ที่จะเกิดขึ้น คือต้องมีผู้ใหญ่เป็นหลังพิง (๔) ในการทำงานนี้ นอกจากได้แก้ปัญหาสถานะบุคคลแล้ว จะได้ active citizen จำนวนมาก

เรานั่งรถจากโรงเรียนบ้านขะเนจื้อ เวลาประมาณ ๑๖ น. ถึงสนามบินแม่สอดเวลา ๑๖.๓๐ น. ผมได้นั่งพิมพ์บันทึกนี้ที่สนามบิน และบนเครื่องบิน แต่ก็มาพิมพ์เสร็จที่บ้าน

หมายเหตุ

ขอขอบคุณ อ. แหวว ที่กรุณาแก้ไขต้นฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นข้อกฎหมาย


ยามเช้าที่แม่สอด ภาพอย่างนี้ไม่มีที่กรุงเทพและปริมณฑล


วัดสุนทริกาวาส


สิ่งก่อสร้างภายในวัด


หอประชุมโรงเรียนบ้านขะเนจื้อ


ชาวบ้านที่มาประชุม


นพ. จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผอ. รพ. แม่ระมาด กล่าวเปิดการประชุม


คุณเพลินใจ กับป้าดา คนไทยตกสำรวจ


นอกจากเวทีใหญ่ ยังมีเวทีเฉพาะราย มีนักกฎหมายไป
ไต่ถามปัญหาของชาวบ้านเฉพาะราย



นส. สายรุ้ง กำลังเล่าเรื่องของตนเอง




นักเรียนโรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม แยกออกเป็นสองกลุ่มสถานะ

อีกโรงเรียนหนึ่ง นส. โสภา จันดา ควรได้รับการจดทะเบียนเป็นคนไทยไปนานแล้ว


นักเรียนเขียนจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


วง AAR ในตอนบ่าย


ที่กำลังพูดคือคุณบุญ พงมา จากแม่อาย
บอกว่าสภาพของที่นี่คล้ายสภาพที่แม่อายเมื่อสิบปีก่อน ตนยินดีมาช่วย

วิจารณ์ พานิช

๑๓ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 574815เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2014 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท