อาจารย์สอนวิจัยของผมอีกคนที่ลืมไม่ได้ "รายการกบนอกกะลา"


เป็นเสมือนการนำหลักการทางนิเทศศาสตร์และศาสตร์ทางการวิจัยมาบูรณาการเข้าด้วยกัน

ในชีวิตที่ผ่านมา ผมมีอาจารย์สอนวิจัยหลากหลายท่าน นับตั้งแต่ท่าน ผศ.ดร.ปาจรีย์ ผลประเสริฐ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร นับตั้งอาจารย์ท่านแรกที่สอนวิจัยผมตอนที่ผมเรียนปริญญาตรีปี 4 คณะวิทยาการจัดการ สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร

ท่านผศ.ดร.ทวนทอง เชาวกีรติพงศ์ ท่าน รศ.ดร.สมชัย วงษ์นายะ ท่าน ผศ.ดร.สุนทรี ดวงทิพย์ ผศ.ดร.เรขา อรัญวงศ์ ท่าน ผศ.สุณี บุญพิทักษ์ และคณาจารย์ประจำสำนักวิจัยทุก ๆ ท่าน เป็นอาจารย์สอนวิจัยแบบปฏิบัติเมื่อครั้งที่ผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่สำนักวิจัย สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร

เมื่อเดินทางมาปฏิบัติงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ก็ได้รับการฝึกปรือวิชาจากท่าน ผศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา และท่าน ดร.วิวรรธ์ มุขดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รู้จักการทำวิจัยแบบ PAR ครั้งแรก ก็ได้ปรมาจารย์เป็นทีมผู้เชี่ยวชาญที่อบรมบ่มเพาะวิชาความรู้ในขณะทำงานวิจัยกองทุนหมู่บ้านฯ ท่าน รศ.ดร.มารุต ดำชะอม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตา ท่านดร.ปรีชา อุยตระกูล ท่านอาจารย์ปรองชน พูลสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ท่านอาจารย์ภีม ภคเมธาวี ท่านอาจารย์สนั่น เพ็งเหมือน และเพื่อน ๆ พี่ ๆ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศที่ได้ให้วิชาความรู้กับน้องนุชสุดท้องหัวหน้าโครงการที่เด็กมาก ๆ ในขณะนั้น ให้ได้มีโอกาสทำงานและเรียนรู้กับทุก ๆ ท่านด้วยดีตลอดมา

แต่อาจารย์อีกคนหนึ่งที่จะลืมไม่ได้เลย ท่านเป็นผู้ที่ให้ความรู้และเทคนิคการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการกับผมอยู่ตลอดทุกสัปดาห์นั่นก็คือ "รายการกบนอกกะลา"


นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมได้เริ่มรู้จักกับรายการนี้ ผมก็รู้เริ่มสึกสึกฉงนงงงวยในหัวใจเมื่อทีมงานเข้าทำงานกันอย่างไรถึงทำให้คำถามหรือปัญหาใหญ่ ๆ ซึ่งเล็กเมื่ออยู่ใกล้ตัวได้ถูกไขออกมาได้อย่างทะลุปุโปร่งขนาดนี้

ทั้งภาพ เสียง การสัมภาษณ์ การจัดทำแบบจำลอง โมเดล รูปแบบการเดินทางของสิ่งของหรือปัญหาที่ใช้เป็นโจทย์ในการค้นหาและนำเสนอในแต่ละตอนนั้น เป็นงานที่แบบเสริมสร้างสังคมอุดมปัญญาโดยแท้จริง

รายการกบนอกกะลา นับได้ว่าเป็นอาจารย์สอนวิจัยที่สำคัญท่านหนึ่งของผม

เพราะหลาย ๆ ครั้งผมเรียนรู้เทคนิคการค้นหาข้อมูลจากรายการนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการเก็บข้อมูลแบบ Snow Ball ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเก็บข้อมูลที่ทำให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน "อิ่ม" ภายใต้ระยะเวลาอันสั้นและจำกัด

การเก็บข้อมูลแบบ Snow ball มีพลังมากกว่าการเก็บแบบกระจุยกระจาย

เทคนิคที่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือเทคนิคการตั้งคำถามให้เชื่อมโยงกับมุมกล้องเพื่อนำเสนอข้อมูลวิจัยแบบภาพและเสียงทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

เป็นเสมือนการนำหลักการทางนิเทศศาสตร์และศาสตร์ทางการวิจัยมาบูรณาการเข้าด้วยกัน

เมื่อผนวกพลังของศาสตร์แห่งการนำเสนอที่ใช้เทคโนโลยีทั้งภาพและเสียงในปัจจุบัน ทำให้งานวิชาการหรืองานวิจัยแบบแข็ง ๆ สามารถถ่ายทอดสู่ผู้ที่ต้องการข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์สามารถ "ย่อย" ได้ง่ายขึ้น โดยมีหลาย ๆ ครั้งที่ผมประยุกต์และดัดแปลงเทคนิคการนำเสนอของรายการกบนอกกะลานี้ ไปใช้กับการนำเสนอผลงานทางวิชาการในหลาย ๆ ระดับ

และที่สำคัญมาก ๆ ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการทำงานรายการกบนอกกะลานี้ก็คือ "พลังของทีมงาน" ทั้งฝ่ายหาข้อมูล ฝ่ายเตรียมสถานที่ ฝ่ายติดต่อ นัดหมาย ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง

เพราะงานที่ดี ๆ เช่นนี้จะออกมาได้ต้องอาศัยพลังของทีมงาน ซึ่งจะต้องเกิดจากการสนธิกำลังความรู้ความสามารถของแต่ละคนแต่ละฝ่าย

การประชุมทีมงานในแต่ละครั้งต้องเข้มข้น ได้เนื้อหา ประชุมเสร็จแต่ละคนแต่ละฝ่ายจะต้องทำงานของตนเองให้สมบูรณ์ที่สุด

ต่อจากนั้นจะต้องส่งต่องานที่ทำสมบูรณ์ของแต่ละคนนั้นให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะฐานคิดสำคัญก็คือ Next process is our customers (กระบวนการถัดไปคือลูกค้าของเรา) ส่งต่องานที่ดีที่สุดให้กับเพื่อนร่วมงานซึ่งเราต้องคิดเสมอว่า "เขาคือลูกค้าคนสำคัญที่ดีที่สุดของเรา" ดังนั้นเมื่อเราทำงานที่ดีที่สุด ส่งต่อให้กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่ดีเยี่ยมที่สุดก็จะเกิดขึ้น

การทำวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยชุมชนทั้งแบบคุณภาพหรือแบบ PAR ก็ดี จะสำเร็จลุล่วงได้ก็จะต้องอาศัยพลังของทีมงาน

ดังนั้นเทคนิคการทำงานของรายการกบนอกกะลาที่เป็นรายการบันเทิงเชิงสร้างสรรค์ความรู้นี้ ทุก ๆ คนใน TV บูรพา ทุก ๆ ส่วนงานที่ผลิตรายการกบนอกกะลา ทุก ๆ ท่านจึงเป็นอาจารย์ที่สำคัญยิ่งของผมซึ่งได้ให้ความรู้เทคนิคอย่างเอนกอนันต์ที่จะใช้ในการทำงานเพื่อชุมชนและสังคมตลอดไป

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

6 พฤศจิกายน 2549

 

หมายเลขบันทึก: 57402เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2006 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ใช่แล้วครับ การวิจัยแบบกบนอกกะลา เป็นเหมือนอาจารย์ของผม ที่พร่ำสอนผม

ผมรู้ว่างานวิจัยนั้นสนุก เหมาะกับผมยิ่งนัก ผมชอบสนใจ ใคร่รู้ไปหมดทุกสิ่ง

ตอนเด็กก็แกะวิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถอดแล้วประกอบใหม่ (น๊อตเหลือ) แกะวิทยุจนใช้ไม่ได้หลายเครื่อง ก็เพราะอยากรู้นั่นเองครับ

กบนอกกะลา หากมาองทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นเหมือนการสอบสวนโรค วิธีการทางระบาดวิทยา ที่ตามล่าค้นหามูลเหตุ ค้นหาความจริง

ผมเคยดูทีวีต่างประเทศที่บรรดานักระบาดวิทยา สืบ สอบสวนโรคเมื่อเกิดโรคระบาดแล้วสนุก ตื่นเต้น ชอบมากครับ

กบนอกกะลาก็ทำให้ผมรู้สึกแบบนี้

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์จตุพร
  • สงสัยอาจารย์เราทั้งสองคนจะเป็นคน ๆ เดียวกันครับ เพราะสอนให้เรางานวิจัยในแบบสนุก ๆ อยากทำอะไรลองไปเลยครับ ถ้าคิดว่าดีก็ทำไปได้เลย ไม่ต้องกลัวผิดครับ
  • สำหรับเรื่องน็อตเหลือ ไม่อยากบอกเลยครับว่าผมก็เคยเช่นเดียวกัน แถว ๆ บ้านผมจะเรียกกันว่า "ฝรั่งทำเกิน" ครับ 555 คือตอนเก็บใส่เข้าไปเหลือทุกทีแต่ก็ยังใช้งานได้อยู่
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์จตุพรเป็นอย่างสูงครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนและเติมเต็มข้อมูลดี ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการสืบสวนโรคแบบกบนอกกะลา
  • ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
ความกระหายใคร่รู้เป็นที่มาแห่งปัญญาจริงๆนะครับ
  • สวัสดีครับคุณเลอสรรค์
  • ขอบพระคุณมาก ๆ สำหรับข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ความกระหายใครรู้เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาและสิ่งที่ดี ๆ อย่างมากเลยครับ
  • ดังเช่นเคยมีผู้หนึ่งในหนังสือสามก๊ก เปรียบเปรยถึงเรื่องเมื่อเราต้องการสิ่งที่ดีที่สุด เราควรจะปฏิบัติตน "ให้ใฝ่รู้เหมือนดั่งเมธีกระหายน้ำ"
  • ถ้าเรากระหายน้ำเราจะขวนขวายหาน้ำที่ดีที่สุด แต่ถ้าเรารอให้น้ำวิ่งเข้ามาหาหรือรอคนเอาให้ เราก็อาจจะได้น้ำที่ไม่ดีหรือเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่สุดครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท